xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตชายแดนใต้จะไปทางไหน?! เมื่อ “บีอาร์เอ็น-ไอซีอาร์ซี” ชนะในเกมต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก




แม้คาร์บอมบ์ข้างโรงพัก อ.รามัน จ.ยะลา ผ่านไปหลายวันแล้ว แต่ที่ต้องนำมาเขียนถึงเพราะ 1) คดีไม่คืบหน้า 2) มีผู้ต้องสงสัย 1 คน และยังไม่ชี้เกี่ยวโยงระดับไหน และ 3) ยังไม่มีการสรุปชัดเจนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

เรื่องนี้ย้อนแย้งกับที่ฝ่ายความมั่นคงพร่ำบ่นว่าสถานการณ์ดีขึ้น และการพูดคุยสันติสุขกำลังก้าวหน้าส่งผลให้ความรุนแรงลดลง

แล้วที่มีข่าวว่าปฏิบัติการคาร์บอมบ์ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง “มาราปาตานี” กับ “บีอาร์เอ็น” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติสุขด้วยนั้น เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงจะแถลงว่าอย่างไร

เพราะในสมัย พล.อ.อักษรา เกิดผล ยังเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยอยู่นั้น มีการนำตัว “ซอฟวัน” กับ “ไซฟู” ที่รู้กันว่าเป็นคนใกล้ชิดของ “อาวัง ยะบะ” หรือ “อาวัง ญาบัต” แกนนำกลุ่มมาราปาตานีกลับจากมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา โดยทั้ง 2 คนนี้รับปากว่าจะไม่มีการก่อเหตุในพื้นที่

ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาเดียวกันยังมีการร้องขอให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัว 3 ผู้ต้องหาคดีแบ่งแยกดินแดนจากเรือนจำด้วย เพื่อนำมารวมกับ 2 คนที่ข้ามกลับมาจากมาเลเซีย แล้วให้ร่วมกันเป็น 5 ตัวแทนคณะพูดคุยในนามฝ่ายมาราปาตานี

ต่อมา เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยเปลี่ยนมาเป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปรากฏว่ากลับไม่มีนโยบายสานต่อการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มมาราปาตานี ทำให้ผลผลิตที่เกิดจากการนำแนวร่วมรวม 5 คน เข้ามาเป็นตัวแทนคณะเจรจาฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทันที

เนื่องจากขบวนการบีอาร์เอ็นที่เป็นที่รับรู้กันว่ามีอิทธิพลต่อปฏิบัติการไฟใต้ยุคปัจจุบัน ได้แสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับความเป็นตัวแทนเจารจาของกลุ่มมาราปาตานี

อย่างไรก็ตาม ในฟากฝั่งกลุ่มมาราปาตานีเอง แม้เวลานี้ยังต้องการเกาะเกี่ยวกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับรัฐไทย ส่งผลให้กลายเป็นเรื่องราคาคาซังและเป็นภาระให้แก้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลบุคคลทั้ง 5 คนใต้ร่มธงกลุ่มมาราปาตานีดังกล่าว เพราะทุกคนต่างก็มีหมายจับติดตัว

ที่บอกเล่ามานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีการกระทำของบางกลุ่มในบางหน่วยงานความมั่นคง แม้พยายามสร้างภาพให้เห็นความคืบหน้ามาตรการดับไฟใต้ แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่น่าที่จะเกิดประโยชน์อะไรตามมาเลย แถมยังอาจจะต้องแบกภาระที่กระทำไว้ต่อไปด้วย

ดังนั้น กรณีคาร์บอมบ์ข้างโรงพักรามัน จ.ยะลา วันก่อน แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีที่เปิดปฏิบัติการครั้งนี้ก็มั่นใจว่าประสบความสำเร็จแล้ว กล่าวคือแม้ไม่บรรลุผลในการสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใครได้เลย แต่ส่งสัญญาณบางสิ่งบางอย่างได้ตามที่หมายมั่นไว้

จริงหรือไม่ที่ว่ากันว่ากรณีคาร์บอมบ์ดังกล่าวเป็นปฏิบัติการของฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยต้องการส่งสารให้หน่วยงานความมั่นคงรับรู้ว่า แท้จริงแล้วกลุ่มมาราปาตานีไม่มีศักยภาพต่อการชี้ชะตาไฟใต้ หรือต้องการชี้ว่าไม่ใช่ “ของจริง” ที่ควรจะให้ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุข

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ปฏิบัติการคาร์บอมบ์หนนี้มีเป้าหมายชัดที่ชีวิตและทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจาะจงเลือกเป้าไว้ที่สถานีตำรวจ

อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์ใหม่บีอาร์เอ็นที่รับแนวคิดมาจากพี่เลี้ยงกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ต้องการให้กระทบถึงประชาชนหรือเป้าหมายที่อ่อนแอ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อนานาประเทศ

ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพียงอยากชี้ว่าควรต้องรู้เท่าทันว่ากลุ่มไหน “ของแท้” หรือ “ของเทียม” เมื่อเลือกฝ่ายถูกต้องนั่นก็จะทำให้การเดินหน้าต่อไปจึงจะทำให้ได้ผล

อีกเรื่องที่ขอกล่าวถึงคือ แถลงการณ์ของขบวนการบีอาร์เอ็นในวาระครบรอบ 61 ปีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 มีการประเมินแล้วว่าเป็นการแสดงตัวตนที่ชัดเจน นอกจากต้องการสื่อสารกับมุสลิมและคนในพื้นที่ ยังหวังผลให้สังคมโลกได้รับรู้แบบไม่อ้อมค้อมอะไรแล้วด้วย

อีกทั้งเชื่อว่าปฏิบัติการในลักษณะนี้จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานะของบีอาร์เอ็นในวันนี้ถูกยกระดับให้เป็นที่รับรู้ของนานาชาติแล้ว โดยเฉพาะกับ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้ให้ที่ “หยั่งเท้า” หรือยอมรับว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้

ในแถลงการณ์ดังกล่าวถึงมีการใช้คำว่า ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นเป็น “การขัดกันด้วยอาวุธ” และสิ่งที่ฝ่ายหลังต้องการคือ "เอกราช" เช่นเดียวกับที่เคยเน้นย้ำมาโดยตลอด ซึ่งสอดประสานกับจังหวะก้าวเดินของบรรดาองค์กรต่างประเทศที่เข้ามา “รุมกินโต๊ะ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในขณะนี้ด้วย

ดังนั้น ความสำเร็จของบีอาร์เอ็นในเวลานี้จึงต้องถือว่าเป็นความสำเร็จขององค์กรนานาชาติอย่าง เจนีวาคอลล์ ที่มี องค์การสหประชาชาติ (UN) อยู่เบื้องหลังด้วย รวมถึง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่หนุนให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพูดคุยสันติสุขที่รัฐบาลไทยกำหนดขึ้นเอง

เพื่อให้เข้าใจตรงกันขอให้ข้อมูลว่า เวลานี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการแค่เวที “พูดคุยสันติสุข” กับตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ชายแดนใต้ โดยยอมให้มาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก็เคยมีการจัดขึ้นมาแล้วหลายครั้งบนแผ่นเสือเหลือง

แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการยกระดับให้เป็น “การเจรจาสันติภาพ” กับรัฐไทย แล้วให้มีทั้งไอซีอาร์ซี และเจนีวาคอลล์ ซึ่งมีเงาทะมึนของยูเอ็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยให้เป็นที่รับรู้และยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะมีตราประทับของกับองค์กรมุสลิมโลกอย่างโอไอซีด้วย

ที่ผ่านมา ถือฝ่ายบีอาร์เอ็นเก็บสะสมแต้มต่อไว้ได้ต่อเนื่อง อย่างล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมามีการพบปะระหว่างตัวแทนกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงในชายแดนใต้ กับตัวแทนไอซีอาร์ซีบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการหารือถึงขั้นเรียกขานว่าเป็น “สมุยโมเดล” เลยทีเดียว

โดยได้อนุญาตให้ไอซีอาร์ซีจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำหน่วยในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี อันถือเป็นการประทับตราให้กับองค์กรต่างประเทศว่าสามารถทำหน้าที่ “คนกลาง” หรือแสดงบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” ได้แล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ก็ได้จัดอบรมไปแล้วด้วย

ต้องขอบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า การที่ไอซีอาร์ซีรุกก้าวได้เช่นนี้เป็นเพราะมี “นายทหารระดับสูง” ทั้งในและนอกราชการกลุ่มหนึ่งยอมทำหน้าที่ล็อบบี้ยิสต์ให้ทั้ง กองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รวมถึง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เห็นดีเห็นงามด้วย

จึงอย่าได้แปลกใจที่ ณ วันนี้ในกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงเองจะมีการแสดงขั้ว-ข้าง ทั้งแบบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกทั้งมีทั้งนักการทูตของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกต่างๆ เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เป็นว่าเล่น และเป็นไปแบบไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใดๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสร้างความกังขาให้แก่สังคมว่า เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายความมั่นคงเกี่ยวกับแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อีกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น