โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
กว่า 8 ปีเป็นเวลาไม่น้อยที่ชาวเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ต้องเผชิญกับ “ชะตากรรม” และ “บทเรียน” ครั้งใหญ่ในการบริหารจัดการท้องถิ่นของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช 4 ปี ตามวาระ และอีก 4 ปีเศษ จากวีซ่า คสช.ที่มอบให้ กลายเป็นความบอบช้ำของท้องถิ่นแห่งนี้ ทุกคนต่างรู้ดีถึงวัฒนธรรมองค์กรที่โยกคลอน ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นผ่านการบริหารจัดการที่ไม่ได้อยู่ในร่องในรอยของ “ความเป็นมืออาชีพ” ผลงานอันเต็มไปด้วยคำถามที่ค้างคาใจของประชาชน และค้างคาอยู่ในระบบการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รู้จัก และชินชากับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในหน่วยงานของพวกเขา ที่แทบจะเรียกได้ว่า “เป็นขาประจำ”
บทเรียนที่เกิดขึ้นกับ “ชาวเมืองนครศรีธรรมราช” เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “ระบบประปาเทศบาล” ที่ร่อแร่เกือบจะกลายเป็นของเอกชน เต็มไปด้วยโครงการจัดวางฝังท่อหลายสิบกิโลเมตร เม็ดเงินนับร้อยล้านผ่านหลายโครงการ แต่ประชาชนกลับได้น้ำประปาตรงถึงบ้านเรือนด้วยมาตรฐานที่ล้มเหลว หน้าแล้งขาดน้ำ หน้าน้ำหลากยังขาดน้ำซ้ำไปอีก วันดีคืนดีหากถามถึงความมั่นคงของระบบประปากลับมีการปนเปื้อนของน้ำมันดีเซลมาครึ่งค่อนเมือง หากเป็นสารพิษร้ายแรงก็คงไม่พ้นโศกนาฏกรรม แต่กลับไร้ความรับผิดชอบใดๆ จากผู้บริหาร
หันไปดูบนถนนหนทาง ไม่มีถนนเส้นไหนในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชที่ปราศจากหลุมบ่อที่เกิดจากการขุดฝังท่อ “ขุดแล้วราด ราดแล้วขุด” ถนนบางสายใช้งานอยู่ปกติ วันดีคืนดีปูคอนกรีตทับถนนลาดยาง บางสายลาดยางปูคอนกรีตแล้วขุดฝังท่อซ้ำซาก ทุกสายมีหลุมบ่อจากการฝังท่อ เป็นสัญลักษณ์การันตีคุณภาพการบริหารจัดการ แถมด้วยเสาไฟฟ้ารูปสัตว์สารพัดบนถนนหลายสาย เจอลมกระโชกหนักกลับล้มลงมานอนกลางถนน ไม่ต้องถามเรื่องคุณภาพความแข็งแรง แต่ราคางามสร้างกำไร สร้างเงินในกระเป๋าใครหลายคน ยิ่งคงไม่มีใครอยากพูดถึง
“สนามกีฬากลางนครศรีธรรมราช” เม็ดเงินนับร้อยล้านที่ใส่ลงไป ประชาชนได้กลับมาแค่ซากสนามกีฬา ที่วัวชนก็ยังเมินกับคุณภาพที่ได้ “สนามนครดินแดง” คือผลงานเชิงประจักษ์ เต็มไปด้วยดินลูกรังสีแดงเถือก ท้ายที่สุดแล้วต้องถีบส่งคืนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องทุ่มงบประมาณอีกครั้งกับการปรับปรุงครั้งใหญ่ หันไปดู “ทุ่งท่าลาด” กลายสภาพเป็นสวนสาธารณะที่เหมือนถูกระเบิดลง สวนสัตว์ที่เคยเต็มไปด้วยสีสัน แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ของเด็กๆ แทบจะเหมือนสวนสัตว์ร้าง “ขยะ” ที่เป็นภูเขาเลากา 8 ปี มีแต่น้ำเน่ากระจายลงไปหาชาวบ้าน
เหล่านี้เป็น “บาดแผล” ที่คาใจอยู่กับชาวเมืองนครศรีธรรมราช แต่บาดแผลที่ว่าคงไปสร้างความร่ำรวยให้แก่บางคนไม่น้อย ระบบตรวจสอบคงทำอะไรได้ไม่มากนัก สิ่งที่กำลังไล่ล่าอยู่นั่นคือ “วิบากกรรม” ซึ่งกำลังทำงานตามหน้าที่ การก่อบาปกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวเมืองนครศรีธรรมราช กงล้อวิบากกรรมจะตามไล่ล่าอย่างเป็นธรรมเสมอ อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็ว ผลเป็นอย่างไรเริ่มเห็นกันแล้วมิใช่หรือ
บทเรียนนี้เหล่านี้ เชื่อว่าชาวเมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจสำคัญในวันที่ 28 มีนาคม 2564 เป็นวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เมื่อดูตัวผู้สมัครเรียงตามหมายเลข 1 คือ นายวิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุล หรือ “โกจู๋” นักธุรกิจชื่อดัง ผู้สมัครนายกเทศมนตรีในชื่อทีม “นครธรรมาภิบาลประชารัฐ” ชื่อนี้บ่งบอกถึง “คอนเนกชัน” ที่ไม่ธรรมดา ผ่านมือประสานงานที่ชื่อ “พัฒนะ อิสระพิทักษ์กุล” จึงไม่แปลกที่จะพบเห็น “บิ๊ก” ในรัฐบาลจะมาเดินเล่นเป็นช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง หรือพระยาชมตลาด ขณะที่การทำการเมืองก่อนหน้านั้น การเข้าถึงพื้นที่เป็นสิ่งที่วิฑูรย์ไม่เคยทิ้ง แต่อยู่ที่ว่าทั้งทีมจะสร้างพลังได้มั่นคงต่อเนื่องแค่ไหน
หมายเลข 2 นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 1 ที่ผันตัวเองมาลงสนามท้องถิ่น ท่ามกลางความงงงวยของคอการเมือง มาในชื่อทีม “พลังเมืองนคร” หลายคนแปลกใจที่อภิชาต เลือกเส้นทางนี้ ก่อนหน้าอภิชาต อยู่ในระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ “พรรคประชาธิปัตย์” แต่การเลือกตั้งทั่วไปลำดับของอภิชาต ไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง อาจเป็นเหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้ เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่าง แม้จะเสนอนโยบายที่หลากหลาย แต่สนามการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำของท้องถิ่นที่ไม่ธรรมดาเลย เส้นทางนี้ “ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง” อดีต ส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช เคยเดินมาแล้วเช่นกัน ท้ายที่สุดต้องมาดูว่าบทเรียนนี้จะมีผลเป็นอย่างไร
ส่วนหมายเลข 3 นายพิชัย ลี้วรกุล อดีต ส.ท. ที่ผันตัวเองจากสมาชิกเข้าสู่การลงสมัครในตำแหน่งบริหาร มาในชื่อทีม “นครก้าวใหม่” มุ่งมั่นตั้งแต่ยังเป็น ส.ท. เป็นนักประสานงานแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวเมืองนครศรีธรรมราช แต่ด้วยฐานการเมืองที่ต้องใช้ทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ปัญหาที่ต้องขบคิด คือ ฐานเสียงที่ต้องกว้างขวาง และเพียงพอ เพื่อตอบโจทย์ในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่าย
หมายเลข 4 นายกณพ เกตุชาติ หรือ “ดร.โจ” วิศวกรหนุ่มใหญ่ มาในชื่อทีม “สมนึกงานคือชีวิต” ตลอดกว่า 8 ปี หลังจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ดร.โจ ยังคงอยู่กับพื้นที่ เต็มที่กับการสร้างเครือข่ายเยาวชน ทำการบ้านอย่างละเอียดทุกขั้นตอน งานเมืองไม่เคยขาด งานราษฎร์ไม่เคยเว้น การทบทวนบทเรียนปัญหาที่ไม่ธรรมดา กลยุทธ์ในการหาเสียงที่เน้นเชิงนโยบายการเข้าถึงกลุ่มคน จี้จุดปัญหาเร่งด่วนที่รอการแก้ไข และฐานเสียงที่กว้างขวาง ครอบคลุมทั้งเขตเทศบาลฯ เวลาที่ทำการเมืองมายาวนานจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ
ส่วนหมายเลข 5 นายธนา รุ่งนิรันดรกุล หรือ “โกเจี่ย” มาในชื่อทีม “รักนคร” ผู้สมัครรายนี้เป็นนักธุรกิจทางด้านปศุสัตว์ และอสังหาริมทรัพย์ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นทางเลือกที่สร้างสีสันให้แก่บรรยากาศการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี ผ่านกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ หาเสียงเลือกตั้งแบบใครเห็นต้องยิ้ม เขามีเครือข่ายผู้สมัคร ส.ท.ครบทั้ง 4 เขต แต่เขตละเพียง 1 คนเท่านั้น
“วันเลือกตั้ง” ที่ใกล้เข้ามาทุกวัน บรรดาคอการเมืองท้องถิ่นต่างรู้กันดีว่า ขณะนี้ผู้ที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นเป็นใคร ปัจจัยที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจาก “ความบอบช้ำ” ที่ชาวเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ตลอดกว่า 8 ปีที่ผ่านมา ใครเข้าถึงชาวบ้าน ใครเป็นใครต่างประจักษ์กันแล้ว วันนี้ก่อนวันเลือกตั้ง ชาวเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ฟันธงแล้วใครเป็น “นายกเทศมนตรี”