xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ ประกาศใช้มาตรการเข้มป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี - จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกคำสั่งกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็น

วันนี้ (4 ม.ค.) นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงนามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 16/2564 เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 30) หลังพบผู้ติดเชื้อชาวสมุทรสาครเดินทางมาหาญาติที่สุราษฎร์ธานี จนทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 7 ราย และรอผลตรวจสอบโรคอีก 4 ราย

ดังนั้น ว่าด้วยตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และได้ประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 กำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิิิด-19) ได้ปรากฏการระบาดระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุม โดยกำหนดให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่สถานการณ์ควบคุม (สีส้ม) เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมโรคให้เข้มงวดมากขึ้น

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ให้ปิดสถานที่บางประเภทในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย สนามชนไก่ กัดปลา ประลองโค ชนโค ชนกระบือ สนามมวย สนามแข่งขันนกกรงหัวจุก นกเขา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ตลอดจนกิจกรรมซ้อมชนไก่ เป็นการชั่วคราว

ข้อ 2 การจำกัดเวลาเปิดปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

(1) ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ตทุกแห่งให้เปิดบริการได้โดยจำกัดช่วงเวลาการให้บริการ และจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ดังนี้ ก.วันจันทร์-ศุกร์ ให้เปิดบริการระหว่างเวลา 14.00-19.00 น. ข.วันหยุดราชการหรือช่วงปิดเทอม ให้เปิดบริการระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. ค.ให้จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ให้บริการตามปกติ โดยให้เข้มงวดเรื่องการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร พร้อมทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสเป็นประจำทุกชั่วโมงและดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

(2) ให้สถานศึกษาทุกแห่งทุกสังกัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถาบันกวดวิชาทุกแห่งปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2564 ในระหว่างที่สถานศึกษาต้องปิดการเรียนการสอนดังกล่าว หากมีความจำเป็นให้สถานศึกษานั้นๆ กำหนดแนวทางแก้ปัญหา ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนด้วยการไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามรูปแบบที่ต้นสังกัดกำหนด หรือรูปแบบที่เหมาะสมตามที่สถานศึกษากำหนด โดยปรับการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์

(3) ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ศูนย์อาหาร คอมมูนิตีมอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

(4) ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกตให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

(5) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ นวดแผนโบราณ/นวดแผนไทย/นวดเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมสปา อบไอน้ำ อบสมุนไพร โต๊ะสนุกเกอร์/บิลเลียด ให้เปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด สำหรับการอบไอน้ำ และอบสมุนไพรห้ามมิให้มีการเข้าใช้บริการอบไอน้ำ/อบสมุนไพรแบบรวมกลุ่ม โดยให้เข้าใช้บริการครั้งละ 1 คน

(6) ให้สถานบริการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านคาราโอเกะ ให้เปิดบริการจนถึงเวลา 24.00 น.โดยห้ามมิให้มีการบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน และให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

(7) ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทุกประเภท ห้ามมิให้มีการบริโภคสุราและและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน

ข้อ 3 การคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรค คัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด (ฝั่งขาเข้าจังหวัด) โดยให้ยานพาหนะทุกคันที่ขับผ่านจุดคัดกรองจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบ QR CODE ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดโดยเคร่งครัด โดยให้ ศปก.อำเภอ พื้นที่ กำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการที่ ศปก.ศบค. และจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดอย่างเคร่งครัด ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

ข้อ 4 มาตรการ Wok From Home ขอความร่วมมือส่วนราชการและผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติงานเพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทาง ซึ่งเป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ข้อ 5 การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 29 ) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 และประกาศคณะกรมการโรคติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเคร่งครัด อนึ่ง การดำเนินการตามคำสั่งนี้เป็นกรณีที่มีสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยเนิ่นนานไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง


กำลังโหลดความคิดเห็น