xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัย มรภ.สงขลา คืนข้อมูลเสนอผลงานด้านการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิต-ผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - ทีมนักวิจัย มรภ.สงขลากว่า 30 ชีวิต ร่วมส่งคืนข้อมูลเสนอผลงานด้านการพัฒนา หวังยกระดับคุณภาพชีวิต และผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล

วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (วิทยาเขตสตูล) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับผู้บริหารและคณะ นางอมรรัตน์ ภูมิวสนะ ผอ.กองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 2 จากสำนักงานงบประมาณ นายโกวิทย์ มีกรุณา ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจบริหารระบบงบประมาณ (ววน.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.กลุ่มภารกิจบริหารระบบงบประมาณ (ววน.) ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผอ.ภารกิจการจัดทำแผนงบประมาณ ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์วิจัยและบริการวิชาการ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผู้อำนวยการ และผู้บริหารวิทยาลัยชุมชนสตูล ตลอดจนนักวิจัย และผู้มีเกียรติทุกท่าน

โดยได้ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่รับฟังข้อมูลการรายงานผลการดำเนินงาน ด้านของนักวิจัยกว่า 30 ชีวิต ที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา 2563-2570 ของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จ.สตูล ระหว่างวันที่ 16-19 ธันวาคม 2563 ในครั้งนี้ เช่น การวิจัยในกลุ่มกาแฟนาข่า ที่มีการเพิ่มมูลค่าจากเม็ดกาแฟ สู่สบู่กาแฟฟอสซิล กลุ่มปันหยาบาติก ในการเพิ่มอัตลักษณ์ และคุณค่าลงบนผืนผ้า กลุ่มเมล่อนฉิม และอีกหลากหลายกลุ่มที่ทำการวิจัย


นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า อุทยานธรณีสตูล ได้อาศัยมรดกทางธรณีเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นในด้านการท่องเที่ยว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ประชากรมีงานทำ มีรายได้ และส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา และเป็นแหล่งศึกษาวิจัยของนักวิชาการ เพื่อช่วยกันพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.กลุ่มภารกิจบริหารระบบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มารับฟังการชี้แจงข้อมูลของทีมวิจัยพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งในการคืนข้อมูลสู่ชุมชน โดยพื้นที่ทำงานวิจัย ความรู้จะอยู่ในชุมชนพื้นที่อยู่แล้ว โดยทางกองทุน ววน. จะให้การสนับสนุน โดยการหาลูกค้าใหม่ๆ ให้พื้นที่ตลอดเวลา ทางกองทุนไม่เคยเอาความรู้นี้ออกจากชุมชน ความรู้จะอยู่ที่นักวิจัย และนักวิจัยก็ต้องเป็นคนในพื้นถิ่น โจทย์วิจัยต้องมาจากชุมชน และทีมวิจัยจะทำงานร่วมกันจนกว่าชุมชนจะดำเนินการต่อยอดได้ด้วยตัวเอง

โจทย์ใหม่หลังจากนี้ และเรื่องที่ทำไว้แล้วจะนำไปสู่การต่อยอด เรื่องของการดำเนินการต่อไปในอนาคต คือการสร้างนวัตกรรมให้ชุมชนมีรายได้ เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะได้รับงบวิจัยมากขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน แล้วนำผลงานวิจัย เรียนรู้ ต่อยอดด้วยตัวเองให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน


ขณะที่ นางอมรรัตน์ ภูมิวสนะ ผอ.กองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 2 กล่าวว่า ประเด็นหลักงานวิจัย และแผนพัฒนาจังหวัด เน้นการคืนให้พื้นที่ จ.สตูล อย่างปัญหาป่าชายเลน ทะเล เห็นต้นทางของปัญหา และความพยายามในการแก้ปัญหา ว่าสัตว์ทะเลที่หายไปเกิดจากอะไร แล้วอะไรจะนำมาซึ่งการคืนพื้นที่ป่าชายเลน สัตว์ทะเลจะช่วยไม่ให้ถูกทำลาย ทั้งป่าชายเลน และทะเล ต้องช่วยเศรษฐกิจในชุมชนยกระดับ มีรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ผลงานของนักวิจัยต้องจับต้องได้ วิธีคิดของสำนักงบประมาณจะดูการทำงานที่ตอบโจทย์แผนพัฒนาจังหวัด หากจังหวัดเน้น แต่ทั้งนี้ยังต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยที่จะสนับสนุนงานวิจัย บางครั้งต้องประเมินตามหลัง 1 ปี เพราะมีความต่อเนื่อง 2-3 ปี งบประมาณจะตอบโจทย์พื้นที่ได้ และต้องดูว่าอะไรสำคัญที่สุด เน้นเรื่องอะไรแค่ไหน

สำหรับการวิจัยมุ่งเป้าให้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหนุนเสริม และสร้างความเข้มแข็งในเชิงวิชาการ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลก สำหรับโครงการวิจัยที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย 1.โครงการวิจัยด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยวพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล 2.โครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในพื้นที่ จ.สตูล 3.โครงการวิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลก และ 4.โครงการวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล






กำลังโหลดความคิดเห็น