xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ส่งมอบเครื่อง CT Scan ให้ รพ.ม.อ. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชันสูตรศพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.ส่งมอบเครื่อง CT Scan ให้ รพ.ม.อ. ช่วยเรื่องการชันสูตรศพ เพิ่มประสิทธิภาพในการชันสูตรศพ ด้วยการจัดซื้อเครื่อง CT Scan และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ช่วยในการหาสาเหตุการเสียชีวิตที่ถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น

วันนี้ (16 ธ.ค.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมลงนามในบันทึกการส่งมอบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ขนาดไม่น้อยกว่า 16 ภาพต่อการหมุน 1 รอบ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จำนวน 1 ชุด รับมอบโดย อ.พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และคณะผู้บริหารจาก 2 องค์กรร่วมงาน

โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงการส่งมอบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยเชิงนิติเวชโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ทาง ศอ.บต. จึงได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และเป็นแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการสร้างพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ทั้งในเขตเมือง ชุมชน และหมู่บ้านเป้าหมาย รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ


สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินการเกี่ยวกับศพที่จำเป็นจะต้องได้รับการชันสูตรศพ โดยเฉพาะศพคดีความมั่นคง หรือเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังมีความเชื่อตามหลักศาสนาอิสลามไม่สามารถผ่าพิสูจน์ศพได้ ซึ่งง่ายต่อการที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐจะหยิบยกเรื่องศาสนาขึ้นมาบิดเบือน และขยายผล แต่แท้จริงแล้วในการผ่าพิสูจน์ศพในการดำเนินคดี และในทางการแพทย์ สำนักจุฬาราชมนตรี ได้มีคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ว่าสามารถทำได้ในกรณีพิเศษ และจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

โดยการปฏิบัติต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวล ละมุนละไม และให้เกียรติต่อศพ แต่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงของเครื่องมือทางการแพทย์ในปัจจุบัน ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ Computerized Tomography (CT Scan) สามารถนำเข้ามาช่วยในการชันสูตรศพเบื้องต้นได้ ดังนั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงสนับสนุนในการจัดซื้อรายการครุภัณฑ์เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์


ด้าน รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า การตรวจ และชันสูตรศพเป็นภารกิจหลักที่สำคัญนอกเหนือจากด้านการเรียนการสอน การวิจัย และให้บริการแก่ผู้ป่วยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม และศาสนา ทำให้ไม่สามารถผ่าชันสูตรศพได้ในบางกรณี จึงทำให้มีแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีทางรังสีวิทยา คือ การนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography, CT scan) มาช่วยในการชันสูตรศพแบบเสมือน (Virtopsy) โดยเฉพาะการตรวจภายในศพ ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้วางแผนจะติดตั้งเครื่อง CT scan ในพื้นที่ห้องชันสูตรศพ แต่เนื่องจากพื้นที่ภายในห้องชันสูตรศพในปัจจุบันมีขนาดคับแคบ ประกอบกับเป็นพื้นผนังปูนธรรมดาที่ไม่สามารถกันการทะลุทะลวงของรังสี ทำให้ไม่สามารถวาง CT scan ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงพื้นที่สำหรับวางเครื่อง CT scan ที่มีผนังตะกั่วป้องกันรังสีกระจายรอบทิศทาง และต้องขยายห้องชันสูตรศพเพิ่ม รวมทั้งปรับปรุงเตียงผ่าศพ และเคาน์เตอร์ตัดชิ้นเนื้อที่มีระบบดูดกลิ่น กำจัดเชื้อโรค เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก มีความสมบูรณ์ และทันสมัย


ทั้งนี้ คุณสมบัติของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography, CT scan) ดังกล่าวคือ เป็นเครื่องเอกซเรย์ชนิดความเร็วสูง สามารถสร้างภาพขนาดไม่น้อยกว่า 16 ภาพต่อการหมุน 1 รอบ (360 องศา) ซึ่งสามารถสร้างภาพในการวินิจฉัยทางรังสีวิทยาแบบ Axial, Coronal, Sagittal, Oblique, 3D reconstruction, Dynamic scan และสามารถส่งภาพเข้าสู่ระบบเครือข่ายของภาควิชารังสีวิทยาได้อย่างสมบูรณ์ คุณสมบัติเฉพาะของ CT scan นั้นให้กำลังเอกซเรย์ขนาดไม่น้อยกว่า 50 kW ในช่องรับผู้ป่วยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร และยังสามารถเอียงไปด้านหน้า และด้านหลังได้ไม่น้อยกว่า 30 องศา เตียงผู้ป่วยสามารถเลื่อนในการ scan เพื่อการตรวจได้ไม่น้อยกว่า 175 เซนติเมตร และสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 200 กิโลกรัม ด้านระบบการกวาดถ่ายภาพใช้สแกน (Scan Time) ต่อ 360 องศา ใช้เวลาน้อยสุดไม่เกิน 1 วินาที ส่วนโปรแกรมที่ใช้กับระบบเครื่อง มีโปรแกรมสร้างภาพสามมิติ ซึ่งแพทย์จะได้ภาพ 3 มิติได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องยกศพไฟฟ้าแบบรางเลื่องคู่ติดเพดาน โดยรับน้ำหนักสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 200 กิโลกรัม พร้อมสายสลิงผ้าคล้องศพ เพื่อช่วยในการเคลื่อนย้ายศพอีกด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น