xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเดือด! คนจะนะจ่อรวมพลบุกศาลากลางสงขลา-ทำเนียบรัฐบาล ไม่เห็นด้วยชะลอโครงการเมืองอุตฯ จะนะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จะนะเดือด! จ่อรวมพลบุกศาลากลางจังหวัดสงขลา และทำเนียบรัฐบาล อ้างคนจะนะร้อยละ 80 หนุนโครงการ “อุตสาหกรรมต้นแบบก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ” เชื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ ไม่เห็นด้วยรัฐบาลยอมรับเสียงคนกลุ่มเล็ก และเอ็นจีโอ

มีรายงานข่าวจากกลุ่มคนรักจะนะว่า พวกตนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ยอมให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง และเอ็นจีโอ ให้ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมต้นแบบก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ ทั้งที่โครงการฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน คนจะนะจริงๆ ร้อยละ 85 เห็นด้วย และสนับสนุน เพราะสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน ที่สำคัญรองรับลูกหลานที่จบการศึกษาที่จบมาแล้ว และกำลังจะจบมีงานทำ

“กลุ่มคนพวกนี้ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ต้องการทำตามที่กลุ่มตัวเองซึ่งกลุ่มเล็กๆ ต้องการ จึงวางแผนการต่อต้านทำงานร่วมกับกลุ่มเอ็นจีโอ โดยวางแผนให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งใน อ.จะนะ ขึ้นไปปักหลักหน้าทำเนียบ หลังจากปักหลักที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลามาแล้ว ประเทศไทยต้องอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ กำหนดอนาคต และชะตากรรมของบ้านเมือง”

รายงานข่าวว่า ในการทำประชามติโครงการทุกเวที เปิดให้ประชาชนเห็นต่าง และไม่เห็นต่างเข้า โดยไม่มีการปิดกั้นแต่อย่างใด แต่มาอ้างว่ามีการปิดกั้นกลุ่มเห็นต่าง ไม่เป็นความจริง เพียงแต่ไม่ให้มีการเข้าก่อกวนในเวทีประชามติเท่านั้น เพราะบ่อยครั้งที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

รายงานข่าวว่า ขณะนี้คนที่เห็นด้วยกับโครงการฯ วิตกกังวลว่า รัฐบาลจะล้มเลิกโครงการ หรือทำให้โครงการล่าช้าออกไป จึงได้รวมตัวกันในเบื้องต้นประมาณ 700-800 คน จะเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูล ข้อเท็จจริงให้คณะรัฐมนตรีรับทราบโครงการฯ และกลุ่มหนึ่งจะเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา มาให้กำลังใจข้าราชการที่ทุ่มเทการทำงานโครงการดีๆ ให้แก่คนจะนะ และพื้นที่ชายแดนภาคใต้

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. และส่วนราชการที่ร่วมดำเนินการ เห็นว่าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ย่อมจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน แต่การสนับสนุนหรือการคัดค้านจะต้องมาจากการพิจารณาบนข้อมูลที่ถูกต้อง

นายชนธัญ กล่าวว่า หากพิจารณาในเชิงลึกแล้วจะพบว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของท่าเรือสงขลา ที่ใกล้ที่สุดก็ไม่ได้ส่งผลให้การประมงชายฝั่ง หรือประมงพื้นบ้านเสียหายใดๆ โรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ก็มีการใช้ก๊าซเหมือนกับโรงไฟฟ้าจะนะในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

“อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นก็มีความคล้ายกับส่วนอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ จ.อยุธยา หรือนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ที่ จ.ชลบุรี เป็นตัวอย่างโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ดีในเขตอุตสาหกรรมของตนเอง มีข้อร้องเรียนน้อยมาก การเสนอข้อมูลว่าสวนอุตสาหกรรมจะทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง จนทำให้ทะเลจะนะล่มสลายนั้น เป็นการวาดภาพผลกระทบเกินจริง”

นายชนธัญ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบฯ เกินร้อยละ 80 ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และเห็นอนาคตของลูกหลานของตัวเองนับจากนี้เป็นต้นไป ถึงขนาดมีการรวมตัว และจัดตั้งเป็นกลุ่มสมาคมกันอย่างหลากหลาย เพื่อรองรับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายชนธัญ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้ความสำคัญต่อการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับเอ็นจีโอภายนอกที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาหลายปี จะทำให้โครงการไปต่อไม่ได้อยู่แล้ว แม้ว่าการดำเนินโครงการจะดำเนินไปตามครรลองของกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องก็ตาม

“ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเรื่องใดต้องการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ล้วนแล้วแต่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนตามกระบวนการที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงาน”

นายชนธัญ กล่าวอีกว่า การรับฟังความเห็นของฝ่ายคัดค้านด้านเดียว หรือการยอมให้มีการยกเลิกโครงการจากกลุ่มคนจำนวนน้อยที่คัดค้านทุกโครงการที่จะเกิดขึ้น เป็นบทเรียนที่ไม่มีนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า “ภาคใต้” จะเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวต่ำกว่าภาคอื่น ทั้งที่มีศักยภาพด้านพื้นที่ติดทะเล และพื้นที่ใกล้หรือติดกับประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาสูงกว่าในทุกด้าน

“ปัญหาด้านความมั่นคงของมนุษย์และสังคม ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร โดยเฉพาะคำถามหลักที่ถามว่าจะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยได้อย่างไรในอนาคต ทั้ง 2 เรื่องล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้”

นายชนธัญ กล่าวต่อว่า จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับการบริหาร และการพัฒนาที่สมเหตุสมผล บนฐานความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่มีข้อเสนอการพัฒนาร่วมกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้เลือกกำหนดชะตาอนาคตของตัวเองใช่หรือไม่

นายชนธัญ กล่าวว่า เมื่อประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์แล้ว เพราะอะไรจึงไม่มีสิทธิกำหนดการบริหาร และการพัฒนาของตนเอง เป็นคำถามที่ต้องการเสนอในอีกมุมมองของรัฐที่ต้องการให้ประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศได้รับรู้ เข้าใจ และคาดหวังจะให้ความร่วมมือในระยะต่อไปด้วย

“ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น ยังเป็นผลประโยชน์ของคนในชาติที่จะได้รับร่วมกันจากการพัฒนานิคมอนุภูมิภาคแต่ละแห่งให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียม เป็นธรรมบนหลักการของการมีส่วนร่วม”

รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การแก้ไขปัญหาคนว่างงานปีละกว่า 50,000 คน นักเรียน นักศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาจะเข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างไร นักเรียน นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และไม่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ มีการคาดการณ์จำนวนมากกว่า 2 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพของเยาวชนที่เดินทางไปประกอบอาชีพในต่างภูมิภาคของประเทศไทย และต่างประเทศ

“สถานการณ์ใหม่ที่พบว่ามีความพยายามในการผลักดันแรงงานไทยที่เดินทางไปประกอบอาชีพ ณ ประเทศมาเลเซีย เช่น แรงงานต้มยำกุ้ง แรงงานประมง แรงงานสวนยางพารา และสวนปาล์ม ตามข้อมูลที่มีว่าเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ในอนาคตที่ประชากรในพื้นที่จะต้องเป็นผู้แบกรับด้วยตัวเองทั้งสิ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น