xs
xsm
sm
md
lg

อดีตกรรมการสิทธิฯ ชี้รัฐควรปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการศึกษาท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัตตานี - นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนะรัฐบาลควรปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการศึกษาของคนท้องถิ่น

วันนี้ (18 ก.ย.) จากกรณีศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษาลงโทษจำเลย หมายเลขคดี อ.ดำ 813/2562 นายมูหัมมัดรอมลี เจะยะ โรงเรียนอัลอูลูมุลอิสลามมียะห์ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ศาลพิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี หลังจากสำนักงานการศึกษาเอกชนหนองจิก จ.ปัตตานี สั่งปิดปอเนาะเพราะไม่มีใบอนุญาต

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐหวาดระแวงสถาบันปอเนาะมาตลอด พยายามที่จะเปลี่ยนปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา โดยเอาหลักสูตรสามัญเข้าไปสอน ปัจจุบันรัฐตัดความช่วยเหลือสนับสนุนด้านงบประมาณกับสถาบันปอเนาะ ทั้งที่ปอเนาะเป็นความภาคภูมิใจของคนมลายูในพื้นที่ และเป็นสิทธิในการศึกษาแบบทางเลือกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องสิทธิในการศึกษาของคนท้องถิ่น

รัฐบาลควรปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขององค์การสหประชาชาติ (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ข้อ 13 (1) รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา รัฐภาคีเห็นพ้องกันว่าการศึกษาจะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเพิ่มพูนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

(2) รัฐภาคีเห็นพ้องกันอีกว่า การศึกษาจะต้องทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องส่งเสริมความเข้าใจความอดกลั้นและมิตรภาพระหว่างชาติและกลุ่มเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มศาสนาทั้งปวง และสานต่อไปถึงกิจกรรมของสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ

และ (3) รัฐภาคีทั้งหลายแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพของบิดามารดาและผู้ปกครองตามกฎหมายในกรณีที่มี ในการเลือกโรงเรียนสำหรับเด็กของตน นอกจากที่จัดตั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นที่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้ หรือให้ความเห็นชอบเพื่อประกันให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมของเด็ก เป็นไปโดยสอดคล้องกับความเชื่อถือของตน

และรัฐบาลควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights) ที่ได้มีข้อข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานประเทศไทย ในเรื่องการจัดการศึกษาของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ในย่อหน้าที่ 33 คือ “คณะกรรมการสนับสนุนให้รัฐภาคีเพิ่มความพยายามจัดการศึกษาแบบสองภาษาตั้งแต่ในชั้นประถม และให้สนับสนุนโครงการการศึกษาระดับชุมชนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่โครงการเหล่านี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น