xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “มหาห้าม” ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามชาวปัตตานีไม่ให้ไปเกี่ยวข้อง “เวทีจะนะเมืองอุตฯ ก้าวหน้าแห่งอนาคต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย... ดร.อลิสา หะสาเมาะ นักสังคมวิทยาภัยพิบัติ แผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี



เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคปฏิบัติที่จัดทำโดยหน่วยงานราชการ มักจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่เสมอ เช่น ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ข้าราชการเจอคำถามจากชาวบ้านบางทีก็ตอบไม่ได้ เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์และกลุ่มผู้เสียประโยชน์

อย่างไรก็ตาม “นโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน วัตถุประสงค์หลักเพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต เพื่อให้การพัฒนาเกิดผลประโยชน์สูงสุด ตรงตามความต้องการของประชาชนและผู้ดำเนินโครงการ

แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นในภาคปฏิบัติจะเป็นเช่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือไม่? หรือแนวคิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเพียงทฤษฎีในฝัน ใช้ภาษาสวยหรู เพียงเพื่อสำหรับเปิดทางให้โครงการพัฒนาสามารถดำเนินการต่อไปได้เท่านั้น!

ปรากฏการณ์ “ห้ามชาวปัตตานี” ทั้งห้ามไปร่วม ห้ามเป็นแกนนำ ห้ามมีส่วนร่วม ห้ามเป็นเครือข่ายเหล่านี้คือการแสดงออกที่เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ เช่น ตำรวจสันติบาลไปพบชาวบ้านถึงที่บ้าน ในหมู่บ้าน โทรศัพท์ถาม หรือฝากบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ไปห้ามชาวบ้านที่เชื่อว่าเป็นแกนนำเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเป็นเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่เห็นแตกต่างจากผู้ที่สนับสนุนการตั้ง “เขตเศรษฐกิจเฉพาะกิจ” ที่ ศอ.บต.จัดเวทีขึ้น ณ โรงเรียนจะนะวิทยา อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่มีต่อ “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่จะรองรับการลงทุนของภาคเอกชน

เหตุการณ์ “มหาห้าม” เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น บางคนถูกห้ามและถูกติดตามวันละ 2-3 ครั้งช่วง 3 วันก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่เป็นวันจัดเวที นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สันติบาลยังตามไปถึงบ้าน บางคนถูกถ่ายรูปพร้อมบัตรประชาชน จดเลขทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ จดเลขทะเบียนรถยนต์ สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านปัตตานีที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านโดยเกือบทุกคนทั่วหน้ากัน

ทั้งนี้ มีคำถามที่ถูกถามเหมือนกันคือ 1) เป็นแกนนำคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือเปล่า? 2) จะไปที่จะนะหรือไม่? 3) รู้จักใครที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะไหม? และ 4) ห้ามไปเข้าร่วมเวทีนะไหม? เหล่านี้เป็นต้น

ถ้าเจ้าหน้าที่ไปพบและไม่เจอเจ้าตัวที่บ้าน พวกเขาก็จะใช้วิธีโทรศัพท์ไปถามว่าอยู่ไหน? จากเพื่อนที่รู้จัก หรือฝากบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยห้ามปราม (และเพื่อนเราก็พาซื่อบอกเขาหมดว่า อยู่ที่ไหน บางคนให้เบอร์โทรศัพท์เจ้าหน้าที่โทร.ไปด้วยซ้ำ แถมเปิดลำโพงให้ฟังว่าปลายสายด่าอย่างไรก็มี) หรือตามจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อเช็กว่าอยู่ที่ตรงนั้นจริงหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

ชาวบ้านที่ถูกคุกคามทุกคนที่ปัตตานีจึงงงงวยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่มาหา ทำไมกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านถึงโทร.มา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับแผนปลุกปั้น “เขตเศรษฐกิจเฉพาะกิจ” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เลยด้วยซ้ำ (จะรู้ก็ตอนโทร.มานี่แหละ)

จะว่าไปแล้วโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่าง “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” กำลังสร้างให้ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับ “ความล้มเหลว” จากการกระทำข่มขู่คุกคามเหล่านี้ เมื่อชาวบ้านได้รับประสบการณ์ตรงอย่างเป็นรูปธรรมจากที่รัฐข่มขู่คุกคามประชาชนของตัวเอง (Citizen) และเริ่มทำร้ายชาวบ้าน มากกว่าการช่วยเหลือ

งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ส่วนใหญ่ล้มเหลวที่จะบันทึกข้อมูล หรือมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับกรณีที่ชาวบ้านถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะความใส่ใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการข่มขู่ในลักษณะที่ไม่ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น คนทั่วไปจึงไม่เข้าใจเหตุผลที่ซับซ้อน และมองว่าผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เป็น “ผู้ขัดขวางการพัฒนา”

ในมุมมองทางวิชาการ การศึกษาช่องว่างขององค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและประเภทของการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะช่วยให้นักวิชาการเสนอแนวทางในการวางบทบาทที่เหมาะสม และยกระดับสถานภาพของรัฐในสายตาพลเมืองให้มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น และหากรัฐบาลจะมีความจริงใจเพียงพอที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง อย่างน้อยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่พลเมืองของประเทศจะให้ข้อมูลและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการพัฒนาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเขา

แต่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นส่วนมาก “ล้มเหลว” เพราะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ ความล้มเหลวของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องสำคัญคือ 1) ขาดการมีส่วนร่วมจากคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่มีส่วนเสียในทาง “ตรง” และ “ทางอ้อม” รวมทั้งปัญหาในการนิยามและการตีความคำว่า “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” 2) ประเภทของสื่อที่ใช้ในการสื่อสารไม่เหมาะสม มีการสื่อสารทางเดียว สื่อที่ใช้ไม่หลากหลาย ผู้ที่รับสารได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน

3) ข้อมูลข่าวสารของโครงการพัฒนาไม่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งด้านผลดีและผลเสียที่ประเมินแล้วว่าอาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการชดเชยผลกระทบที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม 4) รัฐบาลล้มเหลวที่จะปกป้องและเปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียมกันให้แก่กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างต่อโครงการพัฒนาของรัฐ ในที่นี้คือการรับฟังจะต้องมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ใน อ.จะนะ และหยุดใช้อำนาจข่มขู่คุกคามกับทุกเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง แม้แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลาก็ตาม

ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนา อ.จะนะ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือ

ปรับใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นจากล่างขึ้นบน (bottom-up) และสร้างสมมติฐานใหม่ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีเหตุผลที่จะเลือกเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมก็ได้ แต่โครงการพัฒนาจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน อยู่บนพื้นฐานของหลักการทางประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาค

ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่มีพรมแดน ทะเลเป็นผืนเดียวกัน ทุกคนย่อมมีส่วนในการดูแลและปกป้องทรัพยากรของพวกเขา เพื่อให้สืบต่อไปสู่ลูกหลานในอนาคต
อ้างอิง

- Baumgartner, J. V., Scalora, M. J., & Plank, S. G. L. (2001). Case characteristics of threats toward state government targets investigated by a midwestern state. Journal of Threat Assessment, 1(3), 41-60.
Rowe, G., & Frewer, L. J. (2000). Public participation methods: A framework for evaluation. Science, technology, & human values, 25(1), 3-29.
- สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2555). http://kmcenter.rid.go.th/kcoppp/2013/images/pdf/a_w_rid_all_ebook_.pdf
- ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. (2552). คู่มือการปฏิบัติงาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ของเจ้าหน้าที่รัฐ. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563. สืบค้นจาก https://bit.ly/3fGSZjd.


กำลังโหลดความคิดเห็น