xs
xsm
sm
md
lg

ปลาฉิ้งฉ้าง เกาะยาว จ.พังงา ขึ้นเครื่องซี 130 ไปภาคเหนือ แลกข้าวสารชาวพะเยา สู้ภัยโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พังงา - ปลาฉิ้งฉ้าง เกาะยาว และมังคุดทิพย์พังงา อ.ปะกง ถูกส่งขึ้นเครื่องซี 130 ของกองทัพอากาศไปแลกกับข้าวสาร จาก จ.พะเยา ตามโครงการทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัยโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ทัพฟ้ามาประชิด ช่วยธุรกิจเพื่อสังคมฯ”


วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา นายบำรุง ปิยนามวาณิช นายก อบจ.พังงา ร่วมต้อนรับ พล.อ.ท.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเสนาธิการทหารอากาศ ซึ่งเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนสินค้าของโครงการทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัยโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ทัพฟ้ามาประชิด ช่วยธุรกิจเพื่อสังคมฯ”


นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้บูรณาการร่วมกันกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร ระหว่างจังหวัดพังงา กับ จังหวัดพะเยา โดยนำสินค้าเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดพังงา สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พังงา จำกัด ได้แก่ ปลาฉิ้งฉ้าง กะปิ จากอำเภอเกาะยาว และมังคุดทิพย์พังงา จากอำเภอกะปง ปริมาณรวม 3.48 ตัน มูลค่า 226,200 บาท แลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตรของจังหวัดพะเยา สหกรณ์การเกษตรบ้านร่องส้าน จำกัด ได้แก่ ข้าวสาร และมะม่วง ปริมาณร่วม 10 ตัน มูลค่า 239,000 บาท ซึ่งการแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งนี้ เป็นการนำกลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตามหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ มุ่งเน้นการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนำการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างสหกรณ์เข้ามาดำเนินการ โดยผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พังงา จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านร่องส้าน จำกัด จังหวัดพะเยา


ด้าน พล.อ.ท.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ กล่าวว่า โครงการทัพฟ้าช่วยไทย ต้านภัยโควิด-19 เป็นโครงการต่อเนื่องและต่อยอดจากการที่กองทัพอากาศได้เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการทัพฟ้าช่วยชาวนา และโครงการขนข้าวชาวนาเปลี่ยนปลาชาวเล เป็นต้น โดยในครั้งนี้เป็นการร่วมกับกลุ่มเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้วแต่มีข้อจำกัดในการหาตลาด ระบายสินค้า และมีความต้องการแบ่งปันความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มเครือข่ายใหม่ จึงก่อเกิดเป็นความร่วมมือภายใต้แนวคิด “ทัพฟ้ามาประชิด ช่วยธุรกิจเพื่อสังคม”


กำลังโหลดความคิดเห็น