xs
xsm
sm
md
lg

“กยท.-ธพว.-ธ.ก.ส.-บสย.” จับมือสร้างยุทธศาสตร์ “ยางยกกำลัง” รับมือโลกหลังโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา / โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS 1

การเพิ่มมูลค่าจากอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้านของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ในฐานะลูกชาวสวนยาง ซึ่งมีโอกาสติดตามความเป็นไปด้านการพัฒนาของวงการยางพาราประเทศไทย หากดูจากราคายางเดือนเมษายน 2563 ประมาณการได้ว่า เฉลี่ยราคายางแผ่นดิบที่ 35 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย 27 บาท/กก. น้ำยาง 38 บาท/กก. แนวโน้มตลาดจีนเริ่มมีลมหายใจ มีคำสั่งซื้อยางเข้ามาบ้างแล้ว หลังจากจีนป่วยโควิด-19 และเริ่มฟื้นตัว แต่ยางในสต๊อกเดิมยังคงมีค้างอยู่ หากว่ากำลังการผลิตล้อรถยนต์ของโลกยังซบเซา ต้องถือว่าสัญญาณเป็นบวก แน่นอนว่าราคายางยังมีพลังการกดทับที่หนัก

แต่ก็โชคดีว่าปีนี้ชาวสวนยางได้รับอานิสงส์ของการประกันราคายางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้จ่ายเงินชดเชยการประกันราคาไปหล่อเลี้ยงกำลังซื้อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ค่ากับข้าว ค่าอาหารให้ลูกๆ ให้ชาวสวนยางได้พออิ่มท้องประทังชีวิตกันไปในยามลำบาก ในวันที่ราคายางโลกมีพลังกดทับที่หนัก!

ที่น่าสนใจคือ ราคาน้ำยางมีการไต่ระดับขึ้นบ้างเล็กน้อย เพื่อสนองตอบต่อการนำวัตถุดิบยางไปใช้ในการทำถุงมือแพทย์ อุปกรณ์ที่จะใช้ส่งเสริมการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งก็ถือว่านับจากนี้ไปโลกจะเข้าสู่ความปลอดภัยใหม่ ความต้องการอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบยังคงมีทิศทางที่ดี

การร่วมหารือของ 4 ผู้บริหารองค์กรพันธมิตร
มีการประเมินถัวเฉลี่ยชีวิตของชาวสวนยาง คนกรีดยาง หากคำนวณคนละ 10 ไร่ รายได้ต่อครอบครัวมีแค่ 10,000 บาทเท่านั้นเอง หากครอบครัวมี 3 ชีวิต พ่อ-แม่-ลูก ก็ถือว่าชีวิตความเป็นอยู่ลำบากและอัตคัดยิ่ง

สภาพชีวิตชาวสวนยางเมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนคนมีใจให้แก่ชาวสวนยาง สุมหัวกันคิดว่าจะนำพาสังคม วงการยางและอุตสาหกรรมยางไทยไปอย่างไร เพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อห่วงโซ่ยางของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำเริ่มที่แผ่นดินของชาวสวนยาง กลางน้ำอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้าน และปลายน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะเดียวกัน ดึงคนรุ่นใหม่ ดึงบัณฑิตจบใหม่เข้าร่วม เป็นผู้ประกอบการขับเคลื่อนยาง ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรวัตถุดิบของประเทศของเราเอง

ยุทธศาสตร์ของยางบวกให้มีการเติมพลัง “ยกกำลังของยางเพื่อการเพิ่มมูลค่าในทุกมิติของยางประเทศไทย”

คุณประพันธ์ บุญยเกียรติ (ซ้าย) คุณมงคล ลีลาธรรม (ขวา)
คุณประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้ต้องขอบคุณธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ได้มีการหารือเป็นครั้งแรกในระดับผู้บริหาร เพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหา ร่วมมือกันยกระดับคุณชีวิต ยกระดับรายได้ของชาวสวนยาง ขณะเดียวกัน ร่วมกันสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมยางไทย โดยมุ่งเป้าวางรากฐานรองรับให้แก่คนรุ่นใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้มีพลังในการสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรยางของประเทศไทย

“การหารือของ 4 หน่วยงานทั้ง ธพว. ธ.ก.ส. บสย. และ กยท. ผมถือว่าเป็นหมุดหมายแรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยางของประเทศเราเลย ที่เราจะหลอมรวมใจ จะร่วมช่วยเหลือกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อชาวสวนยางและอุตสาหกรรมการเพิ่มมูลค่ายางของประเทศ”

คุณมงคล ลีลาธรรม ประธานคณะทำงานเพื่อบูรณาการการแก้ปัญหายางพาราของประเทศไทย เล่าถึงยุทธศาสตร์ยางยกกำลัง หรือเติมพลังให้ห่วงโซ่ยางไทยว่า “ยางยกกำลัง” คือเราจะเปลี่ยนความคิดให้คนที่อยู่ในห่วงโซ่ของยางมองปัญหาของยางอย่างมีความหวัง เพราะยางเป็นทุนที่มีอยู่ในแผ่นดิน ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนความคิดให้มองยางแบบยกกำลัง

สิ่งที่บ่งบอกว่าตลาดจีนเริ่มสั่งซื้อยางแล้ว โดยมีการบริโภคยางหลังฟื้นจากโควิด-19 (ข้อมูลจาก Rubber Market Report Intelligence , 16 Mar - 15 Apr 2020)
กลุ่มต้นน้ำ ยกกำลังชาวสวนยางให้มีกำลัง คุณภาพน้ำยางดีขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มจากจุดเริ่มต้นกันเลย ขณะเดียวกัน ไม่ฝากชีวิตพึ่งพายางเพียงอย่างเดียว นำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นทิศทางของชีวิตชาวสวนยาง ควรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากพืชที่หลากหลาย ในเนื้อที่ 10 ไร่ของชาวสวนยางขนาดเล็ก เพิ่มพืชอาหาร หัวมัน หัวเผือก ผักเหรียง ขิง ข่า ตะไคร้ ต้นไผ่ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งมีต้นแบบ มีปราชญ์ชาวสวนยางเป็นต้นแบบอยู่แล้ว

กลุ่มกลางน้ำ ซึ่งมีกลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ที่มีการบริหารที่ดีโปร่งใส คณะผู้บริหารมีความเข้มแข็ง เราอาจจะเรียกพวกเขาว่า กลุ่มอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้านก็ได้ กลุ่มนี้มีทักษะการผลิตแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากยาง ทั้งพื้นรองเท้า รองเท้าแตะ รองเท้าบูต พื้นสนามกีฬา ยางปูพื้นทางเท้าเพื่อผู้สูงอายุ พื้นรองขาโต๊ะเก้าอี้ กลุ่มอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้านเหล่านี้จะสามารถรองรับแรงงาน การสร้างงานจากแรงงานที่กลับชนบท เราจะเข้าไปยกกำลัง เติมเงินทุน เติมเครื่องจักร เติมความรู้ในการผลิตและยกกำลังให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก

กลุ่ม RPI (Rubber Products Innovation) เราต้องผลักดันกลุ่มนี้ให้มีมากขึ้น จากพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ นักศึกษาที่กำลังจะจบกันออกมา ซึ่งทางสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมเป็นพี่เลี้ยง และควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกภูมิภาค สร้างผู้ประกอบการคนหนุ่มสาว ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้วงการเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยางวงการแฟชั่น เครื่องสำอาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัย Innovation ซึ่งต้องดึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังจบการศึกษาเข้ามาร่วม

การเพิ่มมูลค่ายางโดยมี innovation เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รอการต่อยอดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนี้ถือเป็นภารกิจเป็นงานของแผ่นดินที่เรามีทุนเดิม เรามีวัตถุดิบภายในประเทศ “ยางยกกำลัง” หรือ “การเติมพลังให้แก่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย”

เป็นเป้าหมายที่มีแต่ก่อกุศลให้แก่ทุกระดับในห่วงโซ่ยางพาราของประเทศ

วันเวลาของโลกเปลี่ยนแปลงไปไวมาก ชาวสวนยางเคยเป็นหนึ่งในความมั่งคั่งเมื่อกว่า 40 ปีก่อน!

วันนี้เราได้เห็นชาวสวนยางมีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อเลี้ยงดู 3 ชีวิตในครอบครัว

การเพิ่มพืชและปศุสัตว์เพื่อเพิ่มอาหารและเพิ่มรายได้ในสวนยาง
คงถึงกาลอันเหมาะสมที่ “การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)” จะไม่เป็นปลาลอยตามน้ำ แต่จะเป็นปลาที่มีชีวิตลอยทวนกระแสน้ำ เพื่อนำพาความมั่งคั่งคืนกลับสู่ประเทศไทย!

“ฝันให้ไกล...ไปให้ถึง” เป้าหมายเหล่านี้คือการเติมกุศลลงในแผ่นดิน!! และให้แก่ชาวสวนยาง!!

อุตสาหกรรมใต้ถุนบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น