xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา! ปลดล็อก...เกาะภูเก็ตหรือยัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดยศูนย์ข่าวภูเก็ต


เกาะภูเก็ต...สวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่าปีละ 14 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่เกาะแห่งนี้ที่มีพื้นที่เพียง 500 กว่าตารางกิโลเมตร ถึงปีละ 4.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยทั้งหมด แต่มาวันนี้...ในวันที่โควิด-19 ระบาดหนักทั่วโลก เกาะแห่งนี้ได้กลายเป็นเกาะที่ปราศจากนักท่องเที่ยว หาดทุกหาดว่างเปล่า โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง สนามบินปิดให้บริการ อัตราเข้าพักโรงแรมเป็นศูนย์

ปิดเกาะ ปิดรอยต่อระหว่างตำบล สกัดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อเกาะภูเก็ตเป็นพื้นที่สีแดง มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ติดอันดับ 1 ของภาคใต้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันที่ 28 เม.ย.63 สะสมอยู่ที่ 214 คน โดยยังมีผู้ที่รอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีกกว่า 50 คน เสียชีวิตแล้ว 2 ราย โดยป่าตอง และบ้านบางเทาเป็นพื้นที่ระบาดหนักที่สุด


ความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีผู้คนหลั่งไหลมากจากทั่วสารทิศ การแพร่เชื้อย่อมมีโอกาสสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามบริบทของเมือง นักระบาดวิทยาได้ประมาณการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ต ไว้ว่า ภูเก็ตจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณช่วงปลายเดือนเมษายน กว่า 600 คน จากกิจกรรมการท่องเที่ยว ภายหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก เมื่อวันที่ 25 ม.ค.เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ก่อนที่ทางการจีนจะประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น

หลังจากนั้น การติดเชื้อได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดแพร่เชื้อมาจากสถานบันเทิง ซอยบางลา หาดป่าตอง และบริการด้านการท่องเที่ยวที่แพร่เชื้อจากนักท่องเที่ยวสู่คนไทย ทั้งที่เป็นพนักงานในสถานบันเทิง ผับ บาร์ นวด และบริการด้านการท่องเที่ยวสู่ชุมชนมากขึ้น รวมถึงแพร่เชื้อต่อไปยังพื้นที่อื่นๆของภูเก็ตทั่วทั้งเกาะ โดยเฉพาะพื้นที่บางเทา มีการติดเชื้อกันในครอบครัวเป็นจำนวนมาก


เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ จังหวัดภูเก็ต จึงได้ออกมาตรการปิดเกาะภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-30 เม.ย.2563 ห้ามประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าออก เกาะภูเก็ต ทางบก ทางน้ำ โดยเด็ดขาด โดยปิดด่านท่าฉัตรไชย ห้ามรถและประชาชนเข้าออกทางบก ปิดท่าเรือทั้งหมด ห้ามเรือเข้าจอดเทียบท่าตามท่าเรือต่างๆ พร้อมทั้งประกาศปิดน่านฟ้า ปิดสนามบินภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 10-30 เม.ย.2563 หลังจากก่อนหน้านั้นได้ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงหมดทั้งจังหวัดแล้ว

แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ลดลง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ วัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าตองและบ้านบางเทา จังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจึงได้ออกประกาศปิดพื้นที่รอบใน ด้วยการออกประกาศปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทั้ง 17 ตำบล เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-26 เม.ย.2563 และขยายออกไปจนถึง 30 เม.ย.2563 ที่จะถึงนี้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดถุงยังชีพ จัดอาหารกล่องแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถข้ามเขตไม่ไหนมาไหนได้

โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ภายใน 14 วัน ที่ปิดพื้นที่ตำบล การปิดพื้นที่ตำบลเพื่อตั้งด่านสกัด ห้ามประชาชนเคลื่อนย้ายข้ามตำบล ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการสแกน ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการทั่วทั้งเกาะ พร้อมดำเนินการมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมลงพื้นที่ป่าตองและบ้านบางเทา ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงไปกว่า 4,000 ราย พบผู้ติดเชื้อ 38 ราย



จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ทำให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการออกมาได้อย่างรวดเร็ว และหยุดยั้งการแพร่เชื้อต่อไปยังคนในชุมชน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของภูเก็ตค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนบางวันตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ บางวัน 2-4 ราย และพบเฉพาะในพื้นที่ป่าตองและบางเทาเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน ในหลายๆ ตำบล ทำให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาวิเคราะห์สถานการณ์ และเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการแพร่เชื้อจำกัดอยู่ไม่กี่พื้นที่เท่านั้น

ถึงเวลาหรือยัง? ที่จะปลดล็อกดาวน์เกาะภูเก็ต เปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้เคลื่อนย้ายและทำมาหากินกันได้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) ทำการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงจัดทำ SOP (Standard Operation Procedures) และกำหนดไทม์ไลน์การเปิดให้บริการของกิจการและกิจกรรมต่างๆ บนเกาะภูเก็ต รวมไปถึงมาตรฐานการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการปลดล็อกดาวน์เกาะภูเก็ตที่จะสิ้นสุดประกาศปิดเกาะในวันที่ 30 เม.ย.2563 ที่จะถึงนี้ และรอคำสั่งการจากรัฐบาล และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าจะให้แต่ละจังหวัดดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากนี้

ในขณะที่ประชาชนชาวภูเก็ตเองก็เริ่มออกมาเรียกร้องให้มีการพิจารณาปลดล็อกในวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ตามประกาศของจังหวัดภูเก็ต ที่จะสิ้นสุดลง โดยเฉพาะการปลดล็อกพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทั้ง 17 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 14 วันแล้ว ซึ่งมีหลายตำบล แต่ยังคงให้ปิดพื้นที่ที่ยังพบผู้ติดเชื้อไว้เช่นเดิมจนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้ออีก ซึ่งในขณะนี้มีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อไม่กี่ตำบลแล้ว เช่น ป่าตอง บ้านบางเทา ตำบลเชิงทะเล ที่ยังพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 5 และล่าสุด เมื่อวันที่ 28 เม.ย.พบในพื้นที่บ้านบางเทา และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย


นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า หลังจากที่ภูเก็ตประกาศปิดจังหวัดมาเป็นเวลาใกล้จะครบเดือนแล้วนั้น ถึงขณะนี้ประชาชนเริ่มที่จะอึดอัดกันบ้างแล้ว และยิ่งเมื่อประกาศปิดรอยต่อระหว่างตำบลด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะทำมาหากินอะไรได้เลย เอกชนเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ทุกคนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า ในเมื่อขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และในบางพื้นที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลาเกิน 14 วันแล้ว อยากให้ทางจังหวัดพิจารณาเปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลในตำบลที่ไม่พบผู้ติดเชื้อและให้ปิดพื้นที่สีแดงที่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ในขณะนี้ไว้เช่นเดิม

“จากการสอบถามหลายฝ่าย ทุกคนเห็นตรงกันว่า ควรที่จะเปิดพื้นที่รอยต่อในระดับตำบลที่ไม่พบผู้ติดเชื้อได้แล้วหลังสิ้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เดินทางระหว่างกัน ได้ทำมาหากิน น่าที่จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น” ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวและว่า

เพราะเมื่อภูเก็ตปิดเกาะ ไม่นักท่องเที่ยว ทำให้คนไม่มีรายได้ หากเปิดพื้นที่จะทำให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพด้านอื่นๆ บ้าง เพื่อให้ทุกคนได้มีรายได้ การปิดพื้นที่รอยต่อตำบลประชาชนไม่สามารถออกไปทำงานหรือค้าขายอะไรได้เลย และเชื่อว่าภูเก็ตต้องเผชิญต่อภาวะไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีรายได้ ไม่น้อกกว่า 6 เดือน คาดกันว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกในเดือน ต.ค.นี้”


เช่นเดียวกับ นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เรียกร้องให้เปิดรอยต่อระหว่างตำบลที่ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันเกิน 14 วัน และให้คงปิดพื้นที่เสี่ยงที่ยังพบการแพร่ระบาด เป็นการค่อยๆ เปิดพื้นที่ที่เริ่มจากพื้นที่ภายในที่ปลอดภัยก่อน หลังจากนั้นค่อยๆ เปิดเกาะเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยและรับมือได้

แม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็เรียกร้องให้เปิดรอยต่อระหว่างตำบลในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางข้ามพื้นที่ตำบล ออกไปทำงาน ค้าขาย มีรายได้ เพราะหากยังคงปิดพื้นที่ไว้แบบนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะแบกรับภาระที่เกิดขึ้นต่อไปได้ งบประมาณที่มีไม่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนต่อไปได้


ในขณะที่ทางสาธารณสุขเองได้กำหนดแนวทางในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภูเก็ตใหม่ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงและการแพร่ระบาดจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เช่น พื้นที่บ้านบางเทา นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ตลดลงเรื่อยๆ แต่ทางสาธารณสุขยังคงมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยทางสาธารณสุขจึงได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่สีเหลือง (ไม่มีการแพร่ระบาด) และพื้นที่สีแดง (พื้นที่เสี่ยง) โดยใช้เกณฑ์ไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 14 วัน แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ ต้องใช้ตัวเลข 28 วัน แต่เนื่องจากภูเก็ตปิดจังหวัด ปิดรอยต่อตำบลมาเป็นเวลานานได้สร้างความเครียดและความอึดอัดให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้ยึดหลัก 14 วัน

พบว่าขณะนี้มีถึง 13 ตำบลในภูเก็ต ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเกิน 14 วัน และมีเพียง 4 ตำบลเท่านั้น ที่ยังพบผู้ติดเชื้อ คือ ป่าตอง ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต และพื้นที่บ้านบางเทา ที่พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งจะเห็นว่าในแต่ละพื้นที่จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่มาก และอยู่ในวงแคบๆ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปิดพื้นที่ทั้งตำบล



นายแพทย์สาธารณสุขภูเก็ต ระบุต่อว่า ในส่วนของสาธารณสุขมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ไม่จำเป็นต้องปิดพื้นที่ทั้งตำบล แต่ให้มั่นใจว่าการปิดพื้นที่พบผู้ติดเชื้อนั้นจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อล่าสุดมีความแตกต่างกัน 3 ลักษณะ คือ ในพื้นที่ตำบลวิชิต มีลักษณะเป็นหมู่บ้านจัดสรร จึงขอให้ปิดเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรนั้น พื้นที่รัษฎาเป็นชุมชน ให้ปิดซอยในชุมชนเท่านั้น พื้นที่ป่าตองเป็นบ้านจัดสรรก็เป็นเฉพาะพื้นที่ พื้นที่บางเทา ปิดพื้นที่หมู่ที่ 2, 3 และ 5 เต็มพื้นที่ เพราะพื้นที่มีความเชื่อมโยงกัน

"และเสนอให้ทำการคัดกรองเชิงรุกทั้งหมดในพื้นที่ที่ขอปิด ทั้งหมู่บ้านจัดสรร ชุมชน และติดตามประชากรทั้งหมดในพื้นที่ปิดเป็นเวลา 14 วัน รวมไปถึงการสแกนบุคคล เข้าออก เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่เข้าข่ายกันเฝ้าระวังเข้าออกพื้นที่ มาตรการดังกล่าวเป็นการปิดพื้นที่ให้เล็กลง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน แต่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวในที่่สุด

ความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตจะพิจารณาเปิดรอยต่อระหว่างตำบลในพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลาเกิน 14 วัน หลังวันที่ 30 เม.ย.นี้ มีสูง เพราะขณะนี้มีหลายพื้นที่ในภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 13 พื้นที่แล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ


ส่วนการปลดล็อกดาวน์เกาะภูเก็ตนั้น คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพราะขณะนี้ภูเก็ตยังคงถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่สงบ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน อาจจะต้องปิดต่อไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะภูเก็ตถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 3 ของพื้นที่ทั่วประเทศที่จะถูกปลดล็อกดาวน์ในต้นเดือน มิ.ย.นี้ ตามที่ได้คาดการณ์กันไว้


ภูเก็ตจะถูกปลดล็อก เปิดเกาะ ผ่อนคลายล็อกรอยต่อระหว่างตำบล ต้อนรับคนจากภายนอกเข้ามาได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อและการควบคุมไม่ให้มีการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลัก และเมื่อเปิดเกาะแล้ว จะมีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาแพร่ระบาดในเกาะภูเก็ตอีก น่าจะเป็นสิ่งที่ท้าท้ายสำหรับผู้บริหารเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแห่งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น