xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกของโลก! จุฬาฯ จับมือ “ปัตตานี” ปูพรมตรวจกลุ่มเสี่ยง 6,200 คน หาผู้ป่วยแฝงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จุฬาฯ ร่วมกับ จ.ปัตตานี ใช้ Rapid test ชุดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 ตรวจกลุ่มเสี่ยงกว่า 6,200 คน ค้นหาผู้ป่วยแฝง เป็นครั้งแรกของโลก ชี้ประหยัดกว่าการตรวจแบบ PCR เพียงอย่างเดียว เริ่มที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ก่อนจะขยายตรวจให้ครบทั้งจังหวัด

วันนี้ (18 เม.ย.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเพจ “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับจังหวัดปัตตานี คัดกรองค้นหาผู้ป่วยแฝงโรคไวรัสโควิด-19 จำนวน 6,200 ราย โดยทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี นพ.วิพุธ พูลเจริญ สมาคมศิษย์เก่าจุฬา นพ.สมเกียรติ เชื้อเพชระโสภณ และนายฐิติ ตยางคานนท์ d-fusion ได้บริจาค Rapid test ชุดตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 พร้อมกับการเตรียมบุคลากรในพื้นที่ทุกระดับ ภายใต้งบประมาณ 10,000,000 บาท มาใช้ในการคัดกรองโรคโควิด-19 ในโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก

เพจดังกล่าว ระบุว่า จังหวัดปัตตานีพิจารณาใช้บทเรียนที่สำเร็จจากประเทศเกาหลีใต้ที่เร่งคัดกรองค้นหาผู้ป่วยที่แฝงอยู่จำนวนมาก ถึงแม้ระยะแรกจะทำให้พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราป่วย อัตราตายน้อย และควบคุมโรคได้ในที่สุด โดยจะดำเนินตรวจ 2 ขั้นตอน คือ (1) เริ่มต้นด้วยการคัดกรองโดยนำ Rapid Test กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก 6,200 ราย หรือ 10,000 รายต่อประชากรล้านคนเทียบเท่าเกาหลีใต้ตรวจ และ (2) ตามด้วยนำผู้ได้ผลคัดกรองผลบวกมาตรวจยืนยันวินิจฉัยด้วย PCR วิธีนี้ สามารถค้นพบผู้ป่วยแฝงได้จำนวนมากและประหยัดค่าตรวจ 80% เมื่อเทียบกับใช้ PCR อย่างเดียวแบบเดิม

จังหวัดปัตตานีจะนำผู้ป่วยแฝงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ดูแลและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ จนควบคุมโรคได้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถือเป็นการพลิกฟื้นคืนสู่สังคมสุขภาวะในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยเริ่มจาก ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี แล้วจะขยายผลต่อตามแผนครอบคลุมทั้ง จ.ปัตตานี ซึ่ง จ.ปัตตานีจะเป็นต้นแบบการใช้ Rapid Test เพื่อคัดกรองค้นหาผู้ป่วยแฝง




กำลังโหลดความคิดเห็น