xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มศิลปินพื้นบ้านปักษ์ใต้ คนขับตุ๊กตุ๊กหัวกบในตรัง ร้องเดือดร้อนไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - กลุ่มศิลปินพื้นบ้านปักษ์ใต้ และคนขับรถตุ๊กตุ๊กหัวกบใน จ.ตรัง เดือดร้อนหนัก ตบเท้าเข้าพบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หลังไม่เข้าเกณฑ์เยียวยารับเงิน 5 พันบาทจากทางรัฐบาล

วันนี้ (13 เม.ย.) ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ เขต 1 จ.ตรัง นายพูลศักดิ์ หรือศรร้อยเสียง จงรักษ์ ศิลปินอิสระ พร้อมด้วยทีมงาน และตัวแทนคนขับรถรับจ้างสามล้อ (ตุ๊กตุ๊กหัวกบ) จังหวัดตรัง ได้เดินทางเข้าพบ นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากทางรัฐบาล เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ในอาชีพตามที่ทางรัฐบาลกำหนด เพราะเป็นอาชีพการแสดง ไม่มีที่ประจำเป็นหลักแหล่ง ทั้งนักดนตรีอิสระเล่นตามงานต่างๆ คนขับรถรับจ้างสามล้อตุ๊กตุ๊กหัวกบ รวมทั้งศิลปินหนังตะลุง และมโนราห์ ต่างได้รับ SMS ว่าไม่มีสิทธิ ไม่เข้าเกณฑ์ จึงให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาทบทวนให้บุคคลกลุ่มนี้ที่ไม่มีร้านเล่นประจำ เพราะคนกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19


นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้ตนเองได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน จ.ตรัง กรณีไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีกลุ่มนักดนตรีอิสระ หนังตะลุง มโนราห์ แดนเซอร์ นักแสดงที่รับงานอีเวนต์ต่างๆ เจ้าของเวทีเครื่องเสียง หรือคนขับสามล้อตุ๊กตุ๊กหัวกบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงต้นๆ และยังได้รับ SMS ว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ ซึ่งในขณะนี้ทางกลุ่มอาชีพนี้เริ่มเดือดร้อนมา 2-3 เดือนแล้ว ทำให้ไม่มีรายได้ ไม่สามารถเปิดการแสดงได้ อยากให้ทางรัฐบาลพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพราะเขาได้รับผลกระทบจริงๆ เดือดร้อนจริงๆ อยากสะท้อนปัญหานี้ให้ถึงรัฐบาลด้วย อยากให้ทางรัฐบาลช่วยปรับปรุงแก้ไขทันที และประการสำคัญคือ เร่งรัดดำเนินการให้ประชาชนที่ยื่นคำร้องไปได้รับเงินเยียวยาอย่างเร็วด้วย เพราะตอนนี้เริ่มเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

ขณะเดียวกัน น.ส.จิรา พรหมราช อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่279/142 ถนนห้วยยอด ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งทำอาชีพแม่ค้าเดินขายดอกไม้ และพวงมาลัยตามสถานบันเทิงต่างๆ ใน จ.ตรัง ได้ออกมาวอนรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ เนื่องจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทนั้น ตนเองได้ลงทะเบียนไปแล้วว่ามีอาชีพค้าขาย แต่ทางรัฐบาลได้แจ้งสิทธิว่าตนเองเป็นเกษตรกร ซึ่งไม่ตรงกับที่ได้ลงข้อมูลไป จึงอยากทราบว่าใช้เกณฑ์ไหนเป็นตัวตัดสิน ซึ่งก่อนหน้านี้บอกว่าระบบ AI ถูกต้อง และแม่นยำ แต่ทำไมเมื่อลงไปแล้วแต่ข้อมูลกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตนเองไม่มีต้นยางพารา หรือต้นปาล์มสักต้น แม้แต่โฉนดที่ดินก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ จึงอยากฝากตรงนี้ไปถึงรัฐบาลด้วย ให้เร่งตรวจสอบให้ถึงคนรากหญ้าจริงๆ ซึ่งในตอนนี้ตนเองไม่มีรายได้มา 2 เดือนแล้ว จึงรู้สึกเครียดมาก และได้รับผลกระทบหนักจริงๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น