xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าโจรใต้ที่ขับคาร์บอมบ์ไปจอดหน้า ศอ.บต.ไม่ “หลงทาง” อาจมี “ผู้ว่าฯ-ข้าราชการ-ประชาชน” เป็นเหยื่อมากกว่านี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
 


 
“คาร์บอมบ์” หน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อเช้าวันที่ 17 มี.ค.2563 สร้างความสูญเสียให้แก่ทรัพย์สินทางราชการและประชาชน อีกทั้งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบ 30 คน ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมไปแล้วนั้น
 
ความจริงอาจจะบาดเจ็บและล้มตายมากกว่านี้ ถ้า พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.และเจ้าหน้าที่หลายคนไม่มีประสบการณ์ โดยไม่ออกมาห้ามทัพเรียกให้ผู้คนจำนวนมากที่กรูออกจากห้องประชุมเพื่อไปดูที่เกิดเหตุระเบิดลูกแรก ได้กลับเข้าห้องประชุมเสียก่อน
 
สำหรับระเบิดลูกแรกนั้นถือเป็น “การเรียกแขก” ก่อนที่ระเบิดลูกที่ 2 จะถูกจุดชนวนตามมา ซึ่งลูกหลังนี้แหละเป็นที่ “หวังผลจริง” แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังได้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักข่าวและพลเรือนได้รับบาดเจ็บจำนวนมากอยู่ดี
 
โดยข้อเท็จจริงคาร์บอมบ์ครั้งนี้ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นมากกว่านี้ เพราะมีการวางแผนก่อวินาศกรรมมาเป็นอย่างดี ขณะที่ ศอ.บต.ก็มีการเรียกประชุมผู้ว่าราชากรจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ปัญหา “โควิด 19” ที่กำลังระบาดในพื้นที่ ขนาดมาเลเซียยังได้ประกาศปิดประเทศไปแล้วด้วย
 
แต่เพราะ “โจรใต้” ที่ทำหน้าที่ขับคาร์บอมบ์ได้ “หลงทาง” ทำให้ไปถึงหน้าป้าย ศอ.บต.ช้ากว่ากำหนด ทำให้ผู้คนที่ไปร่วมประชุมเดินทางเข้าไปยังห้องประชุมหมดแล้ว นี่ถ้าคนร้ายนำคาร์บอมบ์ตามนัดหรือก่อนเวลาเกิดเหตุสักประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้คนน่าจะบาดเจ็บล้มตายมากกว่านี้แน่นอน
 
ไม่แปลกสำหรับปฏิบัติการคาร์บอมบ์ครั้งนี้ เพราะในโอกาส “ครบรอบ 60 ปีการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น” องค์กรลับกลุ่มได้เตรียมการก่อเหตุร้ายเอาไว้แล้ว รวมทั้งการที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการไล่ล่าและกดดันแนวร่วมในพื้นที่ป่าเขา โดยพาะหลัง “หมู่บ้านมวลชน” ของบีอาร์เอ็น จึงทำให้บีอาร์เอ็นพลาดพลั้งต้องสูญเสีย สมาชิกไปกว่า 10 คนเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา
 
หาก ศอ.บต.ไม่มีการประชุมเรื่องการแก้ปัญหาโควิด 19 คารบอมบ์ก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี เพราะแนวร่วมมีเป้าหมายก่อเหตุร้ายในเขตตัวเมืองที่เป็นย่านเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพียงแต่การเลือกบริเวณด้านหน้า ศอ.บต.จะได้ประโยชน์กว่า เพราะ 1) เป็นวันเวลาที่มีข้าราชการจำนวนมากจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุม 2) ศอ.บต.เป็นสัญลักษณ์ในมิติของการพัฒนาและเป็นศูนย์รวมของมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
การปิดล้อมแนวร่วมที่ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา รอยต่อที่เชื่อมกับ จ.ปัตตานี เป็นเวลา 4-5 วัน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จนทำให้หน่วยงานความมั่นคงต้องเผด็จศึกโดยเร็ว นั่นอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บีอาร์เอ็นใช้วิธีก่อวินาศกรรมในเขตเมือง เพื่อดึงกำลังทหารที่ปิดล้อมไล่ล่าแนวร่วมนอกเขตเมือง ให้ถอนกำลังกลับเข้าเขตเมืองเพื่อป้องกันการก่อเหตุในเขตเศรษฐกิจนั่นเอง
 
มีประเด็นให้ขบคิดเกี่ยวกับคาร์บอมบ์ที่หน้า ศอ.บต.คือ ฝ่ายตรงข้ามถูกกดดันในทางการทหารอย่างหนัก ทำให้ต้องสั่งการให้มีการตอบโต้ และเป็นการตอบโต้ในห้วงเวลาครบรอบ 60 ปีการสถาปนาบีอาร์เอ็น ซึ่งถือเป็น “วันสัญลักษณ์” ที่ต้องแสดงให้เห็นถึง “ตัวตน” ของขบวนการ
 
ส่วนในเบื้องลึกของคาร์บอมบ์ครั้งนี้ที่อาจจะมีที่มาที่ไปที่มากกว่านั้นอีกก็ได้ กล่าวคือ “ยุทธวิธี” ที่ฝ่ายความมั่นคงใช้มี “ความผิดพลาด” มีการใช้จิตวิทยามวลชนในเชิงลบ มีการใช้งานมวลชนผิดแนวทางต่อผู้ก่อความรุนแรงและแนวร่วมด้านการทหาร หลายหน่วยงานไม่ได้ทำตาม “นโยบาย” อย่างแท้จริง
 
มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้รับผิดชอบเจรจา” กับบีอาร์เอ็นขาดความเข้าใจในสภาพที่แท้จริงขององค์กรลับนี้ ทั้งในด้านงาน “การเมือง” และ “การทหาร” ในขณะที่ “ฝ่ายพูดคุยในพื้นที่” ก็หลงประเด็นในเนื้องานด้าน “สันติสุข” โดยเฉพาะการมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญกับการ “เจรจาใต้ดิน” ซึ่งเป็นตัวชี้ความสำเร็จของการยุติเงื่อนไขสงคราม
 
ด้านงาน “การข่าว” ก็ “ล้มเหลว” แต่กลับใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถลงลึกถึงข้อเท็จจริง ไม่รู้รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ไหน ซึ่งในกรณีของงานการข่าวได้กลายเป็น “เงื่อนไขผูกขาด” ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากต้องการให้งานการข่าวเป็น “เครื่องมือดับไฟใต้” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เข้าถึงข่าวเชิงลึกได้ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยด่วน และที่สำคัญต้องทำให้กลุ่มผู้เป็นตัวแทนบีอาร์เอ็นที่เป็นคณะเจรจาไม่สามารถควบคุมทิศทางและสั่งการขบวนการในพื้นที่ได้
 
ยังมีข้อสังเกตอีกคือ “แถลงการณ์บีอาร์เอ็น” ที่ออกมารับผิดชอบว่าเป็นผู้ก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์หน้า ศอ.บต.ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นคำแถลงการณ์ “ภายในพื้นที่” ไม่ใช่คำแถลงการณ์ที่ทำจาก “ภายนอก” ที่ถือเป็นศูนย์การนำของขบวนการ เพราะภาษาที่ใช้ไม่ใช่ภาษาของบีอาร์เอ็นภายนอก แต่เป็นแถลงการณ์จากบีอาร์เอ็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ การที่บีอาร์เอ็นออกมา “เปิดหน้าชก” ด้วยการกล้าออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์หน้า ศอ.บต. รวมทั้งเป็นผู้ออกแถลงการณ์รับว่าการก่อเหตุร้ายใน 16 ปีที่ผ่านมาก็เป็นการกระทำของขบวนการ อีกทั้งในวาระครอบ 60 ปีของการก่อตั้งบีอาร์เอ็นยังเปิดคำแถลงการณ์ว่าด้วยเรื่อง “การปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ”
 
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องติดตามและวิเคราะห์การก้าวเดินของบีอาร์เอ็นให้ “ทะลุ” นั่นหมายความว่าถ้าหน่วยงานความมั่นคงยัง “ย่ำเท้าอยู่กับที่” ยังไม่มีงาน “การข่าวที่มีประสิทธิภาพ” โอกาสที่ “จะรู้เขา รู้เรา” ยิ่งริบหรี่ และยิ่งจะทำให้ “ฝ่ายเรา” มีแต่จะ “เพลี่ยงพล้ำ” มากขึ้น
 
โดยเฉพาะคำแถลงการณ์ที่ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์หน้า ศอ.บต.ของบีอาร์เอ็น ซึ่งยืนยันว่าจะใช้ความรุนแรงในการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐเต็มรูปแบบ แสดงให้เห็นถึง “ความมั่นใจ” ในเรื่องของ “มวลชน” และต้องการบอกให้รู้ว่า นับแต่นี้ไปสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะเข้าสู่ “โหมดรุนแรง” อีกครั้ง
 
การ “ย่ามใจ” ของบีอาร์เอ็นครั้งนี้อาจเป็นผลจากการมี “พี่เลี้ยงดี” เพราะเป็นถึงหน่วยงานระดับนานาชาติ หรือที่ถูกนิยามว่าเป็นพวก “ฝรั่งหัวแดง” ซึ่งเวลานี้ก็ได้เปิดเกมรุกอย่างเต็มที่ด้วยการเดินสายลงลุย “พื้นที่สีแดง” ให้ความรู้แก่ “มวลโจร” ในกฎบัตรสหประชาชาติบ้าง ในเรื่องการกำหนดใจตนเองบ้าง ในเรื่องการเจรจาสันติภาพบ้าง รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ล้วนแต่สร้าง “ความเห็นต่าง” แถมยังมีการ “กล่อมนายพล” ที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เห็นชอบแผนงานและการตั้งสำนักงานถาวรในพื้นที่
 .
พยายามสื่อให้เห็นว่า เหตุการวินาศกรรมใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นและมีคนตายหลายศพ นั่นเป็น “การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ” หรือ “Armed Conflict”
 .
ยิ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น มีการวิสามัญ มีการปะทะและโจรสูญเสียมากเท่าไหร่ “ฝรั่งหัวแดง” พวกนี้ยิ่งชอบใจ ใขณะเดียวกัน “ที่ปรึกษา” ที่เป็นคนของบีอาร์เอ็นก็เร่งพาฝรั่งหัวแดงลงพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มวลชนฝ่ายตนเห็นว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญมากคือ “บีอาร์เอ็นกำลังจะได้ชัยชนะ”   
 
ในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงนั้น ถ้าคิดจะดับไฟใต้ด้วยการใช้งานยุทธวิธี “ตามสูตรเลขคณิต” ก็ต้องมียุทธวิธีที่ทำให้แนวร่วมในพื้นที่พ่ายแพ้แบบ “จนกระดาน” ถ้าการใช้ยุทธวิธีแบบที่เป็นอยู่คือ “ไม่ชนะเด็ดขาด” และกลับกลายเป็น “สงครามยืดเยื้อ” ปล่อยให้ “โจรเอาคืน” แบบที่ผ่านมา โดยมี “ประชาชน” ต้องคอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย นั่นก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เพียงได้รุก ได้รบ ได้ฆ่า แต่ไม่จบ ซึ่งก็ต้องถือว่า “ป่วยการ” ยิ่งแล้ว
 
คาร์บอมบ์ที่หน้า ศอ.บต.เป็นการวางแผนฆ่าคนจำนวนมาก ในขณะที่คนเหล่านั้นมีทั้งผู้ว่าฯ 5 จังหวัด ข้าราชการและประชาชนที่มาประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโรคระบาดที่กำลังคร่าชีวิตของผู้คนทุกชาติพันธุ์ ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถ “กระตุกต่อมรู้สึก” ของผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะกับ “คนชายแดนใต้” เพื่อให้ “เลือกข้าง” ว่าจะยืนอยู่ฝั่งไหนระหว่าง “บีอาร์เอ็น” กับ “รัฐไทย” ได้
 
นั่นก็คงต้องปล่อยให้ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่สร้างความสูญเสียต่อเนื่องยาวนานมาถึง 16 ปี บนความพยายามยุติของ “รัฐไทย” แต่ยังมีไม่เพียงพอที่จะทำให้ “คนในพื้นที่” เห็นถึงความจริงใจต่อการ “ดับไฟใต้” ได้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
 
นั่นก็คงต้องปล่อยให้บรรดา “ผู้ได้ประโยชน์” จากงบประมาณในการดับไฟใต้ที่ยัง “ไม่อิ่มหนำ” ยังต้องเปลี่ยนหน้าเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ต่อเนื่องไป จึงยังต้องมีการสร้าง “เงื่อนไขใหม่ๆ” ขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงความรุนแรงให้คงอยู่ เพื่อที่จะได้กอบโกยผลประโยชน์กันต่อไปเรื่อยๆ แบบไม่สิ้นสุด
   


กำลังโหลดความคิดเห็น