xs
xsm
sm
md
lg

‘ไผ่-โรงไฟฟ้า-ทุนเกาหลี’ จิ๊กซอว์อนาคตเศรษฐกิจชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.



.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้การนำของเลขาธิการที่ชื่อ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เพียง 1 ปีเศษๆ ของการเข้ามารับตำแหน่งก็ได้ผลักดัน “แผนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวและต่อเนื่อง จนทำให้มั่นใจได้ว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น คนจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาในระยะเวลาไม่นานนัก
 .
เรื่องใหญ่ๆ ที่ ศอ.บต.ได้ผลักดันจนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เร่งดำเนินการแล้ว เช่น โครงการของกระทรวงพลังงาน เรื่องการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยแทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งบางครั้งมีความคิดเห็นต่างจากคนในพื้นที่ จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งและล่าช้าในการดำเนินงาน
 .
กระทรวงพลังงานในยุคที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ จึงใช้นโยบายจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของชาติด้วยการเสนอให้ ครม.เห็นชอบให้สร้าง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” หรือ “โรงไฟฟ้าชุมชน” จำนวนกว่า 250 โรงทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ โดยเชื่อว่าการกระจายโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก สร้างงานและสร้างเงินให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นับวันความนิยมกำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
 .
 


.
ในจำนวนกว่า 250 โรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศนั้น เวลานี้มีการปักหมุดไว้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 100 โรง โดยเฉพาะพื้นที่ความมั่นคงเข้มข้นใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเวลานี้ก็มีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่จะร่วมลงทุนกันคึกคัก 
 .
จึงไม่ใช่เรื่องแปลที่จะมีคำถามก้องตามมาในเวลานี้เช่นกันว่า แผนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 100 โรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงเปิดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่ กฟผ. อันนับเนื่องเวลาหลายสิบปี คนในพื้นที่จะได้ประโยชน์โภชผลอะไรบ้าง และมากหรือน้อยแค่ไหน
 .
เรื่องนี้แม้จะยังไม่มีคำแถลงจาก ศอ.บต.อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการประมวลผลข้อมูลเบื้องต้นเผยแพร่เพื่อทำให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้คลายความกังวลได้บ้างแล้ว กล่าวคือ ในกระบวนจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีกระบวนการจัดสรรประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบของการเปิดให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วม “ถือหุ้น” แล้วยังจะจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งตั้งเป็น “กองทุน” ให้แก่ประชาชนรอบๆ โรงฟ้าชีวมวลได้นำไปใช้พัฒนาชุมชน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียด
 .
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ ศอ.บต.ได้วางแผนไว้อย่างเป็นพิเศษสำหรับคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอนคือ การผลักดันให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จำต้องใช้ “วัตถุดิบ” ในกระบวนการผลิตที่มีอยู่หรือส่งเสริมให้ผลิตขึ้นใหม่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของ “เชื้อเพลิง” ผู้ประกอบการจำเป็นต้องซื้อหาจากคนในพื้นที่ก่อนเท่านั้น
 .
 


.
นั่นจึงทำให้ผู้บริหาร ศอ.บต.เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะสร้างประโยชน์ต่อคนในพื้นที่อย่างครอบคลุม นับตั้งแต่ “กลุ่มทุน” ไปจนถึงบรรดา “รากหญ้า” กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ “เกษตรกร” ซึ่งจะมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกพืชพรรณที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหลักป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ได้
 .
นี่เองจึงเป็นที่มาของแผนงานส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ที่ดินที่มีอยู่แล้ว หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีอยู่มากมายให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการ “ปลูกไผ่” เพื่อที่จะได้นำไปขายให้แก่โรงงานฟ้าชีวมวลใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า 
 .
เนื่องเพราะลำพังไม้ยางพารา กะลามะพร้าว กะลาปาล์ม รวมถึงเศษไม้หรือวัสดุอื่นๆ จากการทำการเกษตรที่เหลือใช้แบบที่ผ่านๆ มา ไม่มีทางที่จะเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่กว่า 100 โรงที่กำลังจะผุดพรายขึ้นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน
 .
ตามแผนงานนี้ ศอ.บต.ได้ดำเนินการมาอย่างจริงจังนับเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี แล้วมีการลงหลักปักฐานอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ด้วยการที่ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่าน “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ” พืชแห่งอนาคตไปเรียบร้อยแล้ว
 .
ภาคีเครือข่ายฝ่ายไทยที่ร่วมลงนามด้วยมีทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน ประกอบด้วย นายชาตรี วชิระเผด็จศึก ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ 13 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายวิทย์ธีรัชชัย ยินดีชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท วู้ดพลัส จำกัด
 .
สำหรับภาคีเครือข่ายจากต่างประเทศที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วยล้วนเป็นภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วย นายเฟลิก มูน ประธานกรรมการผู้จัดการกับ ดร.ลีชัง ซู กรรมการผู้จัดการจากบริษัท ดีเค เอเนอร์จี จำกัด ดร.ซอง เฮจา กรรมการผู้จัดการบริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น จำกัด และนายคิม จวา ดู กรรมการผู้จัดการบริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด
 .
 


.
ปัจจุบัน การส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปลูกไผ่ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบแล้ว โดยการร่วมมือกันกับสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรในพื้นที่ มีการกระจายการปลูกไผ่เพื่อเป็นการนำร่องไปแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ใช้พื้นที่เกือบ 10,000 ไร่ในหลายอำเภอของ จ.ยะลา เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าต้นไผ่ที่ปลูกมีช่องทางในการจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าชีวิมวล ทั้งในประเทศไทยและที่ประเทศเกาหลีใต้อย่างแน่นอน 
.

นอกจากนี้แล้ว บริษัทต่างๆ จากประเทศเกาหลีใต้ก็กำลังวางแผนลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปไม่ไผ่ให้เป็นก้อนถ่านเพื่อรับซื้อไม้ไผ่จากเกษตรกรของจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วด้วย จากนั้นจะมีการส่งออกกลับไปป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเขา โดยโรงงานแรกกำหนดตั้งอยู่ใน จ.ยะลา นี่จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกไม่ไผ่ของ ศอ.บต.ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 
 .
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องมีความชัดเจนอย่างมากเพื่อที่จะป้องกันความผิดพลาดของโครงการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไผ่ในครั้งนี้คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล 1 โรงต้องใช้ “เชื้อเพลิง” จำนวนเท่าไหร่ต่อเดือน กี่สิบตัน กี่ร้อยตันหรือกี่พันตัน และมีมูลค่าหรือคิดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องจ่ายต่อเดือน
 .
 


.
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบการปลูกไผ่เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าชุมชน กับการให้โรงไฟฟ้าชุมชนหันไปใช้พลังงานสะอาดในรูปแบบอื่นๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ รวมถึงพลังงานลม อย่างไหนจะเกิดความคุ้มค่า หรือส่งผลชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประโยชน์มากกว่ากัน ซึ่งเวลานี้ก็มีนักลงทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเป็นจำนวนมาก
 .
คำตอบในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนคือ การใช้พลังงานจากแสงแดดและลมแน่นอนว่าชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการให้ใช้ไม้ไผ่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. ไม่เพียงเท่านั้นการทำข้อตกลงกับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจากประเทศเกาหลีใต้ก็จะไม่เกิดผลอันใดเลย ไม่เกิดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้าถึงคนในระดับฐานรากของสังคมในพื้นที่ 
 .
ณ วันนี้ ศอ.บต.เดินเร็วในด้านงานด้านพัฒนาและการช่วย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เสริมสร้างความมั่นคง แต่จุดอ่อนกลับยังมีให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะ “การสื่อสาร” กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่เพียงพอในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
 .
ดังนี้แล้ว สิ่งที่ผู้บริหาร ศอ.บต.ต้องเร่งแก้ไขคือ ต้อง “สื่อสาร” ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ในทุกมิติ จนพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนแผ่นดินด้ามขวานไปพร้อมๆ กัน อันเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งในมิติของพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คน 
.


กำลังโหลดความคิดเห็น