xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จับมือภาคเอกชนพัฒนาสายพันธุ์ไผ่ สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต. จับมือภาคเอกชนพัฒนาสายพันธุ์ไผ่ สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจในภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (3 ก.พ.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์เกษตรพันธุ์ไผ่ของ ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล รองประธานบริษัท สงขลา พัฒนาเมือง จำกัด ที่ได้มีการเพาะพันธุ์ไผ่เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อร่วมสนับสนุนงานของ ศอ.บต. ในการพัฒนาสายพันธุ์ไผ่สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจในภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขยายผลโครงการเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสานผ่านการส่งเสริมการปลูกไผ่เชิงพาณิชย์

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวระหว่างการพูดคุยว่า เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ จชต. มีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขคือ ปัญหาความยากจน รวมถึงลดเงื่อนไขทั้งปวงเพื่อนำพาพื้นที่เข้าสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และคณะที่ได้สั่งการไว้ โดยต้องพัฒนาคนให้มีงาน มีอาชีพ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน
 


 
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมีนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้มาติดต่อให้มีการผลิตไผ่เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ไผ่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก จึงเป็นโอกาสดีที่มีภาคเอกชนสนใจที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการสร้างมูลค่า สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น โดยจะยกให้เอกชนเป็นส่วนนำในการสนับสนุนช่องทางที่เหมาะสม ทั้งการแปรรูปและส่งขายในตลาดต่างๆ ก่อนเข้าสู่ระบบโรงงานต่อไป

ด้าน ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล เผยถึงแนวทางการสนับสนุนของภาคเอกชนอำเภอหาดใหญ่ ว่า จากการที่ได้รับทราบว่า ศอ.บต. มีโครงการความร่วมมือการพัฒนาพันธุ์ไผ่เชิงพาณิชย์ จึงมีความสนใจที่จะร่วมสนับสนุนและเชื่อมโยงการพัฒนาครั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดสงขลามีจุดแข็งในการพัฒนาไผ่ เพราะมีนวัตกรรมและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม อีกทั้งมีโครงสร้างโลจิสติกส์ของระบบการขนส่งที่เข้มแข็ง และยังมีผู้ประกอบการที่พร้อมหาช่องทางการตลาดเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้สนามบินด้วย

โดยจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่เชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร ขณะนี้มีแปลงพันธุ์ไผ่ประมาณ 16 ไร่ และจะมีการขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้พยายามสรรหาพันธุ์ไผ่ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ จชต. รวมถึงการบริหารจัดการเพื่อให้ได้พันธุ์ไผ่ที่มีคุณภาพ ตอบรับกับโรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงการสนับสนุนของภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย
 


 
ทั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. และคณะ ยังได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงตัวอย่างการปลูกไผ่ของ ดร.ไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล โดยได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของพื้นที่ จชต.คือ มีอากาศชื้นและฝนตกต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งจะมีไผ่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เช่น ไผ่ซางหม่น และไผ่ตง ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศดังกล่าวด้วย 

อย่างไรก็ตาม จากการหารือและแลกเปลี่ยนร่วมกันครั้งนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ทุกคนได้เดินมาถูกทางแล้วเพราะการพัฒนาพันธุ์ไผ่จะสามารถสร้างอาชีพที่อย่างยั่งยืนให้แก่คนในพื้นที่ได้ โดยต้องมุ่งเน้นการผลิตเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล และการผลิตไผ่เพื่อสร้างมูลค่าและการแปรรูปต่างๆ ซึ่งต้องมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจนเพื่อสร้างศูนย์กลางการพัฒนาพันธุ์ไผ่ครบวงจรและต้องสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อให้เกิดการขยายสู่พื้นที่ต่อไป
 






กำลังโหลดความคิดเห็น