xs
xsm
sm
md
lg

‘ศอ.บต.’ เร่งดันหลังเกษตรกรชายแดนใต้ ให้พ้นวิกฤตราคายางดิ่งเหว “4 โลฯ 100”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ 
.



  
 .
ขึ้นศกใหม่ พ.ศ.2563 เขาว่าเป็น “ปีหนูไฟ” มาพร้อมกับข่าวร้าย “ยาง 4 โลฯ 100” ซึ่งราคาน้ำยางสดที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อลดลงเหลือแค่ 25 บาท/กก. ส่วนราคายางแผ่นรมควันจะกิโลกรัมละกี่บาท นั่นแทบไม่มีความสำคัญต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางเลย เพราะกว่า 80% ของชาวสวนยางภาคใต้ขายน้ำยางสดให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นที่ตั้งจุดรับซื้อตามหมู่บ้านต่างๆ
 .
ส่วนราคายางต่อจากนี้จะตกต่ำได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าที่จะฟันธง ในขณะที่ราคาปลาทูในตลาดสดขายกันที่ 130 บาท/กก. ซึ่งเท่ากับว่าผลิตยางได้ 4 กก.ก็ยังซื้อปลาทูสดแค่ 1 กก.ยังไม่ได้
 .
เช่นนี้แล้วอนาคตของชาวสวนยางจะอยู่กันอย่างไร?!
 .
“โครงการประกันราคายางพารา” ของรัฐบาลที่เป็นนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ ขวัญใจชาวใต้ที่ดำเนินอยู่ขณะนี้เป็นการช่วยเหลือชาวสวนยางเพียงชั่วคราว เพราะเมื่อหมดงบประมาณโครงการก็ต้องยุติ ชาวสวนก็ต้องกลับไปรับสภาพจมปลักดักดานอยู่กับอาชีพทำสวนยางที่แทบไม่มีความมั่นคงแบบเดิมๆ
 .
ความจริงอาชีพทำสวนยางเริ่มมองไม่เห็นอนาคตมานานหลายปีแล้ว ทั้งเจ้าของสวนและลูกจ้างกรีดยางก็รับรู้ เนื่องจากราคายางมีแต่ตกต่ำลงเรื่อยๆ แถมมองไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะช่วยทำให้ราคาทะยานกลับไปอยู่ที่กว่า 100 บาท/กก.เหมือนในอดีต จึงไม่แปลกที่ในราวกว่า 2 ปีมานี้ จะเห็นชาวสวนที่มีทุนและมองสถานการณ์ออกเริ่มโค่นต้นยางทิ้งแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ทดแทน
 .



.
สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ยิ่งต้องประสบเคราะซ้ำกรรมซัดมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะไม่เพียงแค่ราคายางจะหัวทิ่มลงเท่านั้น ราคาผลผลิตพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลองกอง มังคุด เงาะ ต่างก็ตกต่ำเช่นกัน แถมยังถูก “วิกฤตไฟใต้” กระหน่ำขั้นรุนแรงเพิ่มเข้ามาอีก
 .
พลันที่เปลี่ยนศักราชใหม่สู่ปีชวด หรือปี 2563 คนชายแดนใต้ก็ได้เห็นความตื่นตัวของหน่วยงานหลักด้านพลเรือนอย่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระชับความร่วมมือกับหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เร่งหาทางช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ว
.
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ศอ.บต.เห็นและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเกษตรกรชายแดนใต้นิยมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด ทั้งสวนยางและสวนผลไม้ เมื่อราคาตกต่ำจึงได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า แล้วก็เป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าได้รับผลกระทบหนักต่อเนื่อง
 .
 


.
รายได้จากการขายผลผลิตลดลง แต่ต้นทุนกลับมีแต่จะเพิ่มขึ้นทั้งราคาปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานทั้งแพงและหายากเนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัย จนเวลานี้เกษตรกรจำนวนหนึ่งต้องยอมทิ้งสวนไปประกอบอาชีพอื่น หรือไม่ก็อพยพครอบครัวโยกย้ายออกนอกพื้นที่ไปเลยก็มี
.
ช่วง 3 ปีมานี้ ศอ.บต.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่เปลี่ยนไปทำสวนแบบผสมผสาน หรือปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่นอกจากยางและลองกองให้มากขึ้น เช่น ทุเรียน มะพร้าว หรืออย่างกาแฟโรบัสต้าถือเป็นพืชที่มีอนาคตดี ในอดีตที่ จ.ยะลาเคยเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่ขึ้นชื่อและจำหน่ายได้ในราคาที่ดีด้วย
.
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ให้การส่งเสริมกันอย่างจริงจัง พร้อมมีการวางแผนไม่ให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ ด้วยการร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” เข้าให้การช่วยเหลือทั้งด้านการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะให้เป็นหลักในการรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรชายแดนใต้ไปป้อนให้แก่ ร้านกาแฟอเมซอน ในเครือที่มีอยู่มากมาย
.
 


.
อีกทั้ง ศอ.บต.ยังสนับสนุนการปลูกมะพร้าวอย่างจริงจังด้วย โดยได้ดึง “กลุ่มทุนจีน” ให้สร้างโรงงานแปรรูปมะพร้าวรองรับไว้แล้วที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่ม “โครงการปลูกต้นไผ่” ขึ้นมาใหม่อย่างจริงจังเช่นกัน หลักๆ เพื่อป้อนให้แก่กระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยได้ดึง “กลุ่มทุนเกาหลีใต้” เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ถ่านอัดแท่งไว้แห่งแรกที่ อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อส่งกลับไปป้องโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เกาหลีใต้
 .
ไม่เพียงเท่านั้น ศอ.บต.ยังได้ประสานกับกระทรวงพลังงานให้อนุญาตให้เอกชนไทยสามารถก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ขนาด 10 กิโลวัตต์ให้กระจายอยู่ในพื้นที่ได้ เพื่อขายไฟให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาพลังงานทั้งในระดับชาติและในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยขณะนี้เมีเอกชนเสนอตัวขอลงทุนแล้วกว่า 100 โรง
 .
สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะกระจายอยู่ทั่วใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จัดว่ามีขนาดเล็ก ซึ่งจะอาศัยเชื้อเพลิงในพื้นที่เป็นหลัก นอกจากไม้ไผ่แล้ว ไม้ยาง กะลามะพร้าว รวมถึงเศษวัสดุจากพืชต่างๆ ที่ ศอ.บต.ไปส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มขึ้นก็ยังได้ด้วย โดยเวลานี้ได้ทำความร่วมมือกับทั้ง สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว
 .
 


.
เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวด้วยว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีพื้นที่ถูกทิ้งให้รกร้างถึงกว่า 3 แสนไร่ ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ผลักดันให้นำพื้นที่เหล่านั้นกลับมาสร้างประโยชน์ทางด้านการเกษตร เพื่อต้องการให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวชายแดนใต้ ซึ่งนอกจากจะเน้นให้ใช้ปลูกพืชอย่างหลากหลายตามที่กล่าวมาแล้ว ในส่วนของโครงการปลูกไม้ไผ่เวลานี้ก็สามารถนำพื้นที่ทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์ได้แล้วสูงถึงกว่า 8,000 ไร่
 .
แน่นอนอนาคตราคายางไม่มีวันกลับไปอยู่ที่กว่า 100 บาท/กก. หรือแม้แต่ราคาลองกองจะให้กลับไปที่ 50 บาท/กก.ก็ดูท่าจะยากยิ่ง มีแต่ชาวสวนต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเวลานี้ดูเหมือนเกษตรกรชายแดนใต้จะได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัวได้เท่าทันโลกยุคใหม่เร็วกว่าใครหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป
.


กำลังโหลดความคิดเห็น