xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เผยสถิติประชาชนร้องเรียนในเรื่องถูกละเมิดสิทธิปี 2562 สูงกว่า 700 เรื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ปัตตานี - กสม. ระบุสถิติที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิปี 62 มากถึง 727 เรื่อง หน่วยงานที่ถูกร้องมากสุดได้แก่ หน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

วันนี้ (27 ธ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เผยผลสรุปสถิติเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนในเรื่องถูกละเมิดสิทธิของปี 2562 โดยนำเสนอตัวเลขสถิติตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. 2562 มีประชาชนร้องเรียนจำนวน 727 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดคือการถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม รองลงมาคือเรื่องการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอันดับสามคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล.

ในส่วนของเรื่องแรกคือการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนั้น มีจำนวนร้องเรียนเท่ากับ 29 เปอร์เซ็นต์ของบรรดาเรื่องร้องเรียนทั้งหมด หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมากที่สุดคือ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ตามลำดับ

ตัวอย่างที่ กสม.ยกขึ้นมาแสดงเช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุม การไม่แสดงหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหาหรือดำเนินคดีล่าช้า ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมหรือต้องอาศัยอยู่ในสภาพเรือนจำแออัด ไม่มีสุขอนามัย

ข้อร้องเรียนอันดับสองคือเรื่องการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ หน่วยงานที่ถูกร้องคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวอย่างเช่นกรณีการกำหนดคุณสมบัติตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่ตรงกับมาตรฐานกำหนด มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ และการกำหนดคุณสมบัติห้ามผู้ติดเชื้อ HIV เข้ารับราชการตำรวจ

ส่วนอันดับสามในเรื่องของการละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ เช่น กรณีนักเรียนถูกบังคับตัดทรงผมที่ไม่เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การขอให้ลบประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนจากทะเบียนประวัติอาชญากร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม โดยหน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 


 
กสม.ระบุว่า หากรวมเรื่องร้องเรียนทั้งเก่าและใหม่ที่เป็นงานของปีนี้จะมีทั้งหมด 912 เรื่อง กสม.ทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบไปแล้ว 499 เรื่อง ในบรรดาเรื่องที่พิจารณาแล้วเสร็จไปแล้ว 499 เรื่องนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิชุมชน 26.45 เปอร์เซ็นต์ การละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย 24.65 เปอร์เซ็นต์ และการละเมิดสิทธิบุคคลในทรัพย์สิน 11.62 เปอร์เซ็นต์

การละเมิดสิทธิชุมชน มีตัวอย่างเช่น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ และชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่จากโครงการดังกล่าว ส่วนการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เช่นเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว ส่วนสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับที่ดินของประชาชน และการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร

กสม.ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาได้ทำข้อเสนอแนะในเชิงมาตรการต่อรัฐสภา ครม.และหน่วยงานต่าง ๆจำนวน 4 เรื่อง คือข้อเสนอแนะในเรื่องการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมจากการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถัดมาคือเรื่องพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม มีข้อเสนอแนะการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ และสุดท้ายคือข้อเสนอแนะการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ

จากเอกสารข่าวของ กสม. ไม่ปรากฏว่ามีการนำเสนอข้อเสนอแนะในเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือเรื่องการละเมิดสิทธิทางด้านกฎหมาย การจับกุมโดยไม่ถูกกฎหมายต่างๆ หรือการทำร้ายร่างกายเช่นการซ้อมทรมาน อันเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนจำนวนมากแต่ประการใด นอกจากนั้นไม่มีรายละเอียดผลการตรวจสอบกรณีต่างๆที่ มีการร้องเรียน

กสม. กล่าวว่า ปัญหาที่มีข้อร้องเรียนไม่ได้รับการพิจารณาจำนวนมากเพราะว่าการทำงานของ กสม.ไม่ต่อเนื่อง ก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2558 มีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และต่อมามีปัญหากรรมการลาออก ทำให้งานชะงัก จนเมื่อมีการแต่งตั้ง กสม.ชั่วคราวเพิ่มเติมเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนไปได้ถึง 389 เรื่อง กสม.ชุดปัจจุบันเพิ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อปลายเดือน พ.ย. 

กสม. ระบุว่า ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่นการทำคู่มือการเรียนรู้ด้านสิทธิสำหรับนักเรียน เป็นต้น และนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.ยังได้ขอบคุณรัฐบาลที่จัดทำและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสุทธิมนุษยชน ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่จัดทำแผนนี้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น