xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งขวบปี ศอ.บต.ในมือ “พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร” กับผลงานดึงคุณภาพชีวิตประชาชนพื้นที่ไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

.
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.


 .
ในทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า หลายภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาล ได้ร่วมกันพัฒนาและสร้างการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 อำเภอใน จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 .
นั่นก็เพราะเรื่องการพัฒนานั้นเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจหยุดนิ่งรอให้สถานการณ์ความไม่สงบยุติลงแล้วจึงเดินหน้าต่อไปได้ เพราะจะกลายเป็นการ “ซ้ำเติม” ให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่มากขึ้น การหยุดพัฒนาและลงทุนนอกจากทำให้ไฟใต้กลายเป็นพื้นที่ ”ถูกสาป” แล้ว ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ยิ่งได้รับผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น และสุดท้าย เมื่อพื้นที่ไม่มีการพัฒนา คุณภาพชีวิตตกต่ำ หนทางสุดท้ายของคนในพื้นที่คือการ “อพยพ” เพื่อไปหาสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ชีวิต
 .
เมื่อพูดถึงเรื่องการพัฒนาพื้นที่ไฟใต้ หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการเรื่องนี้ คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” ที่วันนี้มี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร นั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. โดยก่อนหน้านี้ พล.ร.ต.สมเกียรติเคยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส ซึ่งเคย “ขับเคี่ยว” กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาแล้วหลายขบวนการ และเคยมีผลงานทั้งในการพัฒนาและการปราบปรามจน ”ได้ใจ” จากคนในพื้นที่ เป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนในพื้นที่ จ.นราธิวาสเป็นอย่างดี
 .
ก่อนหน้าจะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.นั้น พล.ร.ต.สมเกียรติถูกย้ายข้ามห้วยจาก ทหารเรือมาทำหน้าที่รองเลขาธิการ ศอ.บต.มาระยะหนึ่งก่อนแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ครม.ก็มีมติให้เขาทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต.อย่างเต็มตัว จนถึงขณะนี้ก็ครบ 1 ปีแล้ว
 .
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีผลงานมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น
 .
เรื่องแรกที่ถือเป็นเรื่องใหม่และยังเป็นเรื่องใหญ่ด้วย นั่นคือการนำนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรสวนทุเรียน ในชื่อว่า บริษัท “ม่านกู หว่าน ฟู้ด” ตั้งอยู่ใน อ.เทพา จ.สงขลา โดยเปิดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกร เจ้าของสวนทุเรียน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ จนทำให้ปี 2562 เป็น “ปีทอง” ของผู้ปลูกทุเรียน ที่รับเงินสดเป็นเรือนแสน เรือนล้าน นับเป็นปีแรกที่คนทำสวนทุเรียนยิ้มได้และเชื่อมั่นในอาชีพของการปลูกทุเรียน
 .


.
นอกจากทุนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อทุเรียนเพื่อการส่งออกแล้ว ยังตามมาด้วยการเกิดขึ้นของโรงงานรับซื้อมะพร้าว ที่รับซื้อมะพร้าวจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจากจังหวัดอื่นๆ อีกปีละหลายล้านลูก ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนทำให้สวนมะพร้าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่รับซื้อในพื้นที่และขายผลผลิตมะพร้าวในราคาที่แพงขึ้น วันนี้ ลูกมะพร้าว ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลไปสู่โรงงานที่อยู่ห่างไกลอีกแล้ว
.
ยังมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใช้ชื่อ “บริษัท ซูเพิร์บกรีเอชั่น (ประเทศไทย) จำกัด” เปิดดำเนินการแล้ว ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งโรงงานอยู่ระหว่างการเริ่มต้น หากเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ ประโยชน์จะต้องตกกับเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่อย่างแน่นอน
.
 


.
โครงการใหม่และใหญ่อีกโครงการหนึ่ง ที่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจากผู้บริหาร ศอ.บต. ที่ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาเกษตรกร สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ และภาคการลงทุน นั้นคือการนำนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการ ปลูกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ลืมตาอ้าปาก” ได้อย่างแน่นอน 
 .
โครงการปลูกไผ่ได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ จ.ยะลาไปแล้วกว่า 10,000 ไร่ และเพื่อให้ เกษตรกรมั่นใจถึงเรื่องของการมีตลาดรับซื้อ วันนี้นอกจากจะมีการทำเอ็มโอยูกับกลุ่มบริษัทผู้รับซื้อแล้ว บริษัทผู้ลงทุนยังได้เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา เป็นโรงงานแรก และกำลังจะโรงงาน ที่ 2 ที่ 3 ตามมาในพื้นที่ จ.ยะลา โดยบริษัทของประเทศเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนและรับซื้อต้นไผ่จากเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บริษัท wood plus และ bamboo pellets
 .
ในเรื่องของการปลูกไผ่ พืชเศรษฐกิจใหม่ ที่เชื่อว่าจะสร้างอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา เนื่องจากในพื้นที่มีที่รกร้างถึง 350,000 ไร่ ที่เกษตรกรใช้ในการปลูกไผ่ได้ดี และบริษัทข้ามชาติจากประเทศเกาหลีใต้ต้องการซื้อไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง “ชีวมวล” สำหรับใช้ในการป้อนโรงงานไฟฟ้าแทนพลังงานอื่นๆ ในประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนั้น “ไผ่” ยังเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย จึงไม่ได้ฝากอนาคตไว้แค่นายทุนต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าติดตามดูแผนของกระทรวงพลังงาน จะเห็นได้ว่ามีนโยบายในการกระจายการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กกำลังผลิต 1,000 เมกกะวัตน์ ในหลายพื้นที่ และถ้าดูแผนงานในการสร้างเศรษฐกิจของ ศอ.บต. ก็จะเห็นว่า ในปี 2563 จะมีการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตามนโยบายของ กระทรวงพลังงานไม่ต่ำกว่า 100 โรง และเชื่อว่า ต้นไผ่ คือ วัตถุดิบชั้นดี ที่ใช้ในการป้อนโรงงานไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กที่จะเกิดขึ้น
 .


.
อีกหนึ่งของความหวังเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นคือ การที่ ศอ.บต.ได้ผลักดันให้เกษตรกชาวสวนยางหันมาปลูกกาแฟ “โรบัสต้า” แทนการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว และเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในเรื่องการตลาด ศอ.บต. จึงได้ “ขับเคลื่อน” ให้บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน ) หรือ OR ลงนามเอ็นโอยู เพื่อเป็นผู้ร่วมพัฒนาสายพันธุ์ ขบวนการผลิต และรับซื้อ เพื่อนำไปใช้ในร้านกาแฟ “อะเมซอน” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของ ปตท.ในตลาดทั่วโลก
 .
แน่นอน ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่เป็นข้อปลีกย่อยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลประชาชนในพื้นที่ไฟใต้ ที่ผลักดันโดย ศอ.บต. โดยเฉพาะในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างงานและ “เม็ดเงิน” เพื่อ “หล่อเลี้ยง” ผู้คนในพื้นที่ ท่องเที่ยวและตลาดชายแดนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
 .
นี่อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ศอ.บต. หน่วยงานที่ในอดีตเคย “อื้อฉาว” ด้วยเรื่องของผลประโยชน์ และ “เงินทอน” ที่วันนี้ด้วยการกุม “บังเหียน” ของ “ทหารเรือขึ้นบก” พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ทำให้ ศอ.บต.มีภาพที่ “สดใสกาววาว” ขึ้นมาแล้ว ก็ยังเป็นอีกความหวังหนึ่งของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย 
.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น