xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงลุกฮือ ! ยื่นหนังสือ จี้ “นายกฯ ประยุทธ์” แก้ปัญหาประกาศถ้าไม่ดำเนินการขายเรือทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวประมง ลุกฮือ ! ยื่นหนังสือ จี้ “นายกฯ ประยุทธ์” พิจารณาแก้ข้อบังคับ พร้อมประกาศ หากไม่รับข้อเสนอ จะขายเรือและอุปกรณ์ประมง ทิ้ง ชีวิตนี้ไม่เลิกเป็นชาวประมง


เวลา 14.00 น. วันนี้ (6 ธ.ค.) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน จังหวัด กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต รวมตัวบุกศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือ ข้อเรียกร้อง 14 ข้อ ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับจังหวัดกระบี่ นำโดยนายมานิต ดำกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ ยื่นหนังสือผ่านทางพันตำรวจโทหม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่


ขณะที่จังหวัดพังงา นำโดย นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงา นำชาวประมงและผู้ประกอบกิจการด้านประมงในจังหวัดพังงากว่า 1,000 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อส่งต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


ส่วนที่จังหวัดระนอง นำโดย นายสมทรัพย์ จิตตะธัม นายกสมาคมประมงระนอง นายสุรศักดิ์ จิมาพันธุ์ รองนายกสมาคมประมง และ นายสุรินทร์ โลสง พร้อมชาวประมงและผู้ประกอบการ ยื่นหนังสือผ่านทาง นายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายสุวิทย์ คชสิงห์ ผู้ตรวจราชการกรมประมง นายชูเกียรติ ปิ่นสุวรรณ รักษาราชการประมงจังหวัดระนอง เป็นตัวแทนรัฐบาลรับมอบหนังสือข้อเรียกร้อง


ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต กลุ่มชาวประมงในพื้นที่กว่า 200 คน นำโดยนายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดภูเก็ต เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐบาลผ่านจังหวัดภูเก็ตเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง โดยมี นาย สุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ


เช่นเดียวกับที่จังหวัดชุมพร ตัวแทน 7 สมาคมชาวประมงจังหวัดชุมพรและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการประมงร่วม 1,000 คน นำโดย นายไตรฤกษ์ มือสันทัด รองประธานนายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงปากตะโก นายพิศาล ศันติวิชยะ นายกสมาคมประมงปากน้ำปากน้ำชุมพร นายปรีชา สุวิราณุวัฒน์ นายกสมาคมประมงปากน้ำหลังสวน นายจรูญ ไชยะ นายกสมาคมประมงด่านสวี นายพิจิตร แซ่ลี้ นายกสมาคมชาวประมงร่วมใจปากน้ำชุมพร นายสัญญา โคตระกูล นายกสมาคมประมงเรืออวนซั้งและเรือร่วม นางชงโค นิลสถิตย์ นายกสมาคมประมงปะทิวคลองบางสน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการช่วยเหลือชาวประมงโดยเร่งด่วน


สำหรับการยื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง จากการออกกฎระเบียบ ประกาศ และ มาตรการต่างๆมาบังคับใช้ชาวประมงโดยไม่มีมาตรการรองรับต่อชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ โดยมี นายสมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายแสน ศรีงาม ประมงจังหวัดกระบี่ รับเรื่อง


ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการต่างๆได้ออกกฎระเบียบประกาศและมาตรการต่างๆมาบังคับใช้ชาวประมงโดยไม่มีมาตรการรองรับต่อชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนทำให้ได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง ตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจ จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเลิกอาชีพประมง เพราะประสบกับภาวะขาดทุนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดแรงงาน ทั้งที่ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปไปแล้ว ภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้อย่างเต็มที่ซึ่งต้องขอขอบคุณมายังผู้ที่เกี่ยวข้อง


แต่ขณะนี้ปัญหาต่างๆก็ยังไม่คลี่คลายและก็ยังไม่เกิดผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากติดขัดระบบราชการและการตัดสินใจต่างๆของผู้มีอำนาจรวมทั้งยังมีการออกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาใหม่ๆมาอีก เช่น เรื่องการจะบังคับให้ชาวประมงชำระค่าน้ำมันผ่านระบบฟรีการ์ดซึ่งเป็นระบบเงินสดในขณะที่ภาคเกษตรอื่นๆภาครัฐกลับดูแลอย่างเต็มที่ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความเดือดร้อนต่อชาวประมงเป็นอย่างมาก ดังนั้นสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการต่างๆดำเนินการตามข้อเรียกร้องจำนวน 14 ข้อ ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการให้ ชาวประมงก็จะประกาศขายเรือประมง พร้อมเครื่องยนต์และเครื่องมือประมง ให้กับรัฐ เพราะไม่สามารถทำการประมงได้อีก


นายบุญชู แพใหญ่ กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้เป็นการชุมนุมพร้อมกันของ 22 จังหวัดติดฝั่งทะเลทั่วประเทศเนื่องจากผลจากการที่ภาครัฐได้ออกระเบียบ ประกาศ และมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมง ทำให้กระทบต่ออาชีพประมงและธุรกิจต่อเนื่องเป็นอย่างมาก จนผู้ประกอบการจำนวนมากต้องหยุดกิจการ เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น และขาดแคลนแรงงาน แม้ไทยจะได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปแล้ว และภาครัฐพยายามจะแก้ปัญหา แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่คลี่คลายและไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากติดขัดระบบราชการและการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ทั้งยังมีการออกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีก การยื่นหนังสือในครั้งนี้ หากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ปัญหาให้ ชาวประมงทั่วประเทศก็พร้อมจะยกระดับการเรียกร้องร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ทั้งการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมเรียกร้อง รวมทั้งการหยุดทำประมง และหยุดดำเนินการกิจการทุกประเภท


ขณะที่นายสมทรัพย์ จิตตะธัม นายกสมาคมประมงระนอง กล่าวว่า ยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 10 ข้อ ให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง เช่น ให้หยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงเพิ่มเติมอีก ให้แก้กฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร็ว ให้รัฐเร่งซื้อประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว ให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ชาวประมงภายในเดือนธันวาคมนี้ ให้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง ให้หยุดการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศทันที ให้เพิ่มวันทำการประมง และให้ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้แก่ชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟลีทการ์ด (Fleet CARD) เป็นต้น


สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องที่ชาวประมงต้องการให้ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนตามที่สมาชิกชาวประมงมีมติร่วมกันทั้งประเทศต้องให้ให้มีการขับเคลื่อนแก้ไข มีดังนี้คือ 1.ในวันนี้( 6 ธ.ค.62) ให้องค์กรสมาชิกชาวประมงและต่อเนื่องประมงใน 22 จังหวัดชายทะเลร่วมกันยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง มาเพิ่มเติมขึ้นอีก ยกเว้นการออก กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ผ่อนคลายปัญหาให้กับชาวประมง,ขอให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงที่มีการประชุมสภานิติบัญญัตินี้,ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการการซื้อเรือประมงนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลที่การตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 ในการที่จะนำเรือประมงออกนอกระบบ,


ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้,ขอให้กรมประมง กรมจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมาย มาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2528 ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงโดยเร่งด่วนภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้,ขอให้ยกเลิกแก้ไขกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาในทางปฎิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงที่เป็นอยู่โดยเร็วที่สุด


เรือประมงที่มีขนาดไม่เกิน 30 ตันครอส ไม่ควรมีนโยบายให้ติด VMS เช่น ชักชวนให้เรือประมงขนาดต่ำกว่า 30 ตันครอส ทดลองติด VMS ฟรี,ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศโดยทันที ด้วยเหตุผล ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 มาตรา 92 วรรคสองและวรรคสาม สินค้าประมงจากต่างประเทศจึงเข้ามาถล่มตลาดสินค้าสัตว์น้ำของประมงชาวไทยที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ต้นทุนสูงกว่า ราคาจึงตกต่ำ เพราะมีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำแบบเสรี ไร้การควบคุม มาสต็อกไว้เต็มห้องเย็นหมดแล้ว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขระเบียบกรมประมงเดิมที่อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเข้าสัตว์น้ำได้เสรี

มีมาตรการปกป้องสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ,ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมงให้กับพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศโดยเร่งด่วน เพราะทำให้เกิดปัญหาการประกอบอาชีพขาดทุนมา 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากมีการกำหนดให้ทำการประมงได้ไม่ทั้งปี แต่ต้องมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานตลอดทั้งปี,ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตร ฟรีทการ์ด ซึ่งจะทำให้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงเพิ่มขึ้นทันที,ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีถูกบังคับใช้จากกฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรม โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาผู้ได้รับผลกระทบ


2.หากไม่ได้การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องข้างต้น จะมีการรวมกลุ่มชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล หรือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 กำหนดระยะเวลา 30 วันซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมนุมประมาณ 10,000 คน จากสมาชิกชาวประมง ต่อเนื่องประมง 22 จังหวัดชายทะเล โดยทั้งนี้อาจจะไปที่รัฐสภาและกระทรวงแรงงาน ถ้ามาตรา 83 แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558 ไม่รีบเร่งดำเนินการ

3.แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตัดสินใจพิจารณาความเคลื่อนไหว การยกระดับการชุมนุม และรับผิดชอบในการประสานงาน ดูแลเสบียง ดูแลผู้ชุมนุมและเครื่องเสียง จำนวน 9 คน โดยให้อำนาจในการยกระดับการชุมนุม รวมทั้งการตัดสินใจเสนอความเห็นให้กับชาวประมง จอดเรือประมงทั้งประเทศ 4.ผู้ยื่นเรื่องขอจัดการชุมนุมสาธารณะและประสานงาน ได้แก่ นายมงคล สุขเจริญคนา นายภูเบศ จันทนิมิและนายชินชัย สถิรยากร


5.ขอความร่วมมือจาก ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง และตลาดไทย หยุดการซื้อขายหากไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 6.ให้ชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดประสานแพปลาในแต่ละจังหวัด หยุดการซื้อขายสัตว์น้ำและหยุดการการน้ำแข็งและประสานกิจการต่อเนื่องประมง อู่ คานเรือ ร้านค้า ต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเรียกร้องฯ 7.ดำเนินดำเนินมาตรการเพื่อไม่ให้มีการนำสัตว์น้ำเข้ามาขายภายในประเทศ 8.ให้สมาชิก ชาวประมง นำร่างพระราชบัญญัติการประมง ของ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ไปพิจารณาและแก้ไขเพื่อนำเสนอร่าง พรบ.ฉบับชาวประมง เสนอผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 20 คน

ทั้งนี้หากภาครัฐไม่ดำเนินการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของชาวประมง ก็ให้รัฐซื้อเรือประมงพร้อมเครื่องยนต์และเครื่องมือประมงไปให้หมดทั้งประเทศเพราะไม่สามารถทำการประมงได้อีกแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น