xs
xsm
sm
md
lg

ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ! “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ชี้โลกที่ไม่แน่นอนกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติร่วมงานสัมมนาวิชาการ ธปท.สำนักงานภาคใต้ ชี้โลกที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม ยกสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนฉุดมูลค่าการค้าโลก ผลข้างเคียงยังอยู่กับไทยไปอีกนาน ได้รับผลดีบ้างจากการกระจายฐานการผลิตของผู้ประกอบการ ชี้ทุกวันนี้นอกจากความเสี่ยงยังมีโอกาส แต่จะทำตัวเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องปรับปรุงด้านประสิทธิภาพ เผยเงินบาทแข็งค่ามากจากหลายปัจจัย ทั้งภายใน-นอกประเทศ

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ จ.สงขลา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2562 เรื่อง “รับมืออย่างไรในโลกที่ไม่แน่นอน” ว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและต่อเนื่อง ผ่านมาไม่กี่เดือน หลายอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในโลกนี้และในประเทศไทย มองย้อนไปใครจะคิดว่าจะมีการประท้วงในฮ่องกง ในฝรั่งเศส หรือแม้แต่ในชิลี เกิดการประท้วงในหลายประเทศ ขณะนี้ เป็นโลกใหม่ที่ผันผวนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีปัจจัยในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ สภาวะโลกร้อน

“ทุกวันนี้ เราเจอปัญหาทั้งสองด้าน หนึ่งคือปัจจัยชั่วคราว เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กระทบมูลค่าการค้าโลก 2 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าอยู่ที่ร้อยละ 5-6 แต่ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 0.9 ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อจีนเป็นพี่ใหญ่ของห่วงโซ่อุปทาน ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเชื่อมโยงไปสู่การจ้างงาน โอทีลดลงค่อนข้างเร็ว ส่งผลไปถึงรายได้ครัวเรือน ที่คาดว่าจะโต 2.8 แต่อาจจะปรับลดลง ทั้งปีอาจจะอยู่ที่ 2.6 สิ้นปีอาจจะน้อยกว่า 2.8” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ดร.วิรไท กล่าวว่า ถ้าสงครามมการค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจะเห็นการฟื้นตัว เพราะเราพึ่งพาการค้าโลกค่อนข้างมาก วันนี้มีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น แต่ผลข้างเคียงจะไม่หายไปยังมีผลระยะยาวอยู่ เพราะหลายอุตสาหกรรมถูกกระทบ หลายประเภทลดลง อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางตัวที่ส่งออกไปที่สหรัฐฯ มากขึ้น บางอย่างไม่เคยส่งมาก่อน เช่น ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จากการที่ผู้ประกอบการเริ่มกระจายฐานการผลิต ส่วนหนึ่งมาที่ไทย ทำให้เราได้อานิสงค์พอสมควร ดูในอีซีซี จีนต้องการย้ายเข้ามามากขึ้น แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะว่ามีหลายปัจจัย ข้อแรกมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการกระจายฐานการผลิต การบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ใครที่มีอำนาจต่อรองต่ำจะถูกกดดัน ผู้ประกอบการของเราส่วนหนึ่งที่เป็นขนาดกลางจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนในห่วงโซ่อุปทานสูงขึ้น การลงทุน คนไม่แน่ใจว่าสงครามการค้าจะจบหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายจะรักษาสัญญาหรือไม่ เมื่อผู้ประกอบการไม่แน่ใจ รวมทั้งเรื่องอัตราภาษี ทำให้การลงทุนชะลอตัวลง รุนแรงมากกว่าการค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

 


 
ดร.วิรไท กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมอาหารนั้น เป็นไปได้มากที่จะมีโอกาสเติบโตในบางประเภท ปัจจุบัน เรื่องภาวะโลกร้อนจะมีผลกระทบ หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม แต่ไทยมีส่วนเกินการบริโภคในประเทศจะเป็นโอกาสที่สำคัญ แต่ทำแบบเดิมไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเราจะแข่งขันได้ วันนี้มีเรื่องฟาร์มแนวดิ่ง สิงคโปร์กำลังปลูกผักตามตึกในแนวดิ่งและคิดว่าจะเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ เรามักคิดเรื่องสภาพอากาศว่ามีผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เราลืมเรื่องประสิทธิภาพของคู่แข่ง วันนี้ เวียดนามตีตลาดในราคาถูกกว่า ระบบชลประทานกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งพม่า และแอฟริกา เราอยู่นระดับต่ำต่อเนื่อง เราต้องกลับมาเน้นประสิทธิภาพ

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ส่วนเรื่องค่าเงินบาทแข็ง เราเป็นห่วงค่อนข้างมาก มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าคู่ค้า มีทั้งในและต่างประเทศ เราอาจจะควบคุมได้ในประเทศ แต่ควบคุมนอกประเทศไม่ได้ เช่น ธนาคารกลางหลายประเทศปรับตัว อัดฉีดเงินเข้ามาทำให้เงินเขาอ่อนตัว หรือในซาอุดิอาราเบีย มีโดรนเข้าไปทิ้งระเบิดคลังน้ำมัน ไม่มีใครรู้ว่าสงครามการค้าจะจบอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

สอง ผลกระทบสงครามการค้า ถ้าเราเอาเรื่องทองคำออก การส่งออกเราติดลบร้อยละ 5 ตั้งแต่ต้นปี แต่น้อยกว่าหลายประเทศ เกาหลี สิงคโปร์ร้อยละ 10-12 โดนกระแทกแรง เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง นำเข้าลดลงมากทำให้เงินตราต่างประเทศมากกว่ารายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เอามาแลกเป็นเงินบาททำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ส่งออกไม่ดี สิ้นปีจบที่ 33,000 กว่าล้านเหรียญฯ ค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 6 ของจีดีพี เหมือนเป็นลมใต้ปีกเงินบาท

 


 
บางคนคิดว่ามีเงินมาพักก็มีบ้าง มีเงินมาลงทุนสารหนี้ระยะสั้น มาพักไว้เพราะเราเป็นสถานที่ปลอดภัย เพราะเงินทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้กลับมาทิ่มแทงเราเอง มีเงินมาพักอยู่ ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน มิ.ย. ทำให้เราออกมาตรการลดให้เหลือ 200 ล้านบาท เพื่อให้มาพักไว้โดยมีกิจกรรมรองรับ ทำให้ลดไปได้เยอะ ทำให้ตอนนี้ปัญหาใหญ่คือการที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อีกตัว การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งมาซื้อกิจการ ซื้อที่ดิน เตรียมย้ายโรงงาน มีแรงดึงดูดที่หลากหลาย การรวมกันของธนาคาร ประกันชีวิตที่จะเติบโตได้ นักธุรกิจจีนที่ย้ายหนีสงครามการค้า และอีอีซีที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไม่ใช่เรื่องเอาเงินมาพัก แต่เป็นเรื่องของโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องเกินดุล

“ต้องชวนผู้ประกอบการมองไประยะยาว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หนีไม่พ้นที่เราต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ เช่น เรื่องเทคโนโลยีเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส เป็นโอกาสที่จะเพิ่มประสิทธิภาพอย่างก้าวกระโดด เราข้ามจุดสูงสุดของแรงงาน เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเป็นอุตสาหกรรมแบบพึ่งแรงงานแบบเดิมไม่ได้ จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ สังคมผู้สูงอายุ นอกจากความเสี่ยงยังมีโอกาส คือ โลกทั้งโลกกำลังเข้าสู่ผู้สูงอายุ เราเป็นประเทศแรกๆ ที่จะเข้าสังคมผู้สูงอายุ มีการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำปลาโลว์โซเดียม สินค้าที่ไม่เป็นผลเสียต่อร่างกาย เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ ถ้าทำได้ก่อนจะเป็นเฟิร์สมูฟเวอร์ ถ้าทำแบบเดิม ตลาดก็จะเล็กลง” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ดร.วิรไท กล่าว่า อีกเรื่อง ที่สำคัญมาก แต่เราตะหนักน้อย คือเรื่องโลกร้อน ที่จะกระทบเราค่อนข้างแรง เช่น การขาดแคลนน้ำสะอาด ปัญหา PM2.5 โอกาสที่มาถ้าเราปรับได้ก่อน การเกษตรแบบปิดที่เรามีประสบการณ์ เราเคยมีเรื่องไข้หวัดนก โรงเลี้ยงไก่เราก็ปรับเป็นแบบปิด หรือเมื่อสองปีที่ผ่านมา เราไปห้าง ถ้าเขาไม่ให้ถุงพลาสติกเราอาจจะโกรธมาก แต่วันนี้ พฤติกรรมคนเปลี่ยนกลายเป็นการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นตลาดที่ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงระยะยาวจะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส
 



กำลังโหลดความคิดเห็น