xs
xsm
sm
md
lg

“ม.อ.” นำนักวิชาการนานาชาติศึกษาข้อมูลแหล่งอารยธรรมพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) นำนักวิชาการนานาชาติ ศึกษาข้อมูลแหล่งอารยธรรมพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ภายใต้การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ “สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่สงขลา”

วันนี้ (8 พ.ย.) ที่ห้องภูมิปัญญศิลป์ ชั้น 3 ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ “สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่สงขลา” (International Seminar & Workshop on Suvarnabhumi : On the Maritime Silk Road@ Songkhla) โดยมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย และ ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับ มีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน จำนวน 150 คน

สำหรับการสัมมนานานาชาติดังกล่าว จัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ภาคีวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย และต่างประเทศ เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และสำนักเมืองโบราณ นพ.บัญชา พงษ์พานิช มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ Dr.Anna T Bennet, Conservative and Technical Services Limited. ประเทศเบลเยียม ดร.ภัทร รุจิรทรรศน์ หรือ Mr.Peter Skilling สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ และ Palm Leaf Society และ Mr.Hunter Ian Watson, National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ เข้าร่วม
 


 
โดยมีการนำเสนอข้อค้นพบใหม่ในเรื่องสุวรรณภูมิ : ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก หลักฐานการค้า : ทองที่พบตามสถานีการค้าบนเส้นทางสายไหมทางทะเล และข้อมูลที่ถูกค้นพบที่สำคัญอีกมากมาย ทั้งนี้ มีการแสดงหลักฐานโบราณคดีสมัยสุวรรณภูมิที่พบใหม่บนพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เช่น เงินตราโบราณ ผอบพระธาตุ อักขระจารึก ทองคำโบราณ หัวแหวนเครื่องประดับ สัญลักษณ์รูปเคารพ เครื่องใช้และภาชนะ แก้วและลูกปัด เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นอย่างมาก

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) จะมีการนำคณะเดินทางชมแหล่งโบราณคดีสงขลา โดยร่วมกับภาคีวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย และต่างประเทศ เพื่อการสร้างความตระหนักในคุณค่าที่แท้จริงของพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ในฐานะสะพานเชื่อมโลกบนเส้นทางสายไหมในอดีต ที่เป็นศูนย์อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง

โดยจะมีการลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส เพื่อศึกษาข้อมูลแหล่งโบราณดี สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ บนคาบสมุทรสทิงพระ และโบราณสถานเขาน้อย แห่งกรุงสะทิงพาราณสี ซึ่งเป็นสถานีการค้านานาชาติ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 12-15

ทั้งนี้ คณะศึกษาวิจัยภายใต้โครงการสุวรรณภูมิบนเส้นทางสายไหมทางทะเล ร่วมกับภาคีวิชาการ และนักการศึกษาทั้งไทย และต่างประเทศจะร่วมกันค้นคว้า และประมวลองค์ความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวกับความสำคัญของคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ในฐานะสะพานเชื่อมโลกบนเส้นทางสายไหมในอดีต ตั้งแต่สุวรรณภูมิ ทวารวดี ศรีวิชัย สืบมาจนถึงปัจจุบัน ในมิติคุณค่าต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้ไปยังชุมชน สังคม และสาธารณชน และเพื่อหน่วยงานของรัฐสามารถนำข้อมูลที่ได้ประกอบแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างถูก และเหมาะสมต่อไปในอนาคต
 
















กำลังโหลดความคิดเห็น