xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจะนะเดินหน้าพบ ศอ.บต.แสดงจุดยืนเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - ประชาชนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กว่า 700 คน เข้าพบ ศอ.บต. แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและต้องการแสดงการมีส่วนร่วมและจุดยืนเพื่อการพัฒนาขับเคลื่อนเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

วันนี้ (1 พ.ย.) ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสงขลา หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มแกนนำสตรี เยาวชน ปราชญ์ชาวบ้าน และประชาชนกว่า 700 คน ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ประกอบด้วย ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวทางโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562

โดยในวันนี้ ผู้แทนภาคประชาชนหลายฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและต้องการแสดงการมีส่วนร่วมและจุดยืนการพัฒนาที่ชัดเจน โดยขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งกลไกการพัฒนาในระดับตำบล ส่วนคณะทำงานแต่ละหมู่บ้านนั้นทางคณะกรรมการระดับตำบล จะเป็นผู้ดำเนินการในการพัฒนาด้วยตัวเองตามหลักการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับหลายภาคส่วนได้กำหนดแนวทางเอาไว้ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยตัวเองเพื่อตนเองและการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
 

 
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังรับฟังข้อห่วงใย ปัญหาและอุปสรรคในระดับพื้นที่ที่ต้องการเสนอให้หน่วยงานเข้าไปเร่งรัดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอาชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน การทำท่าเรือชุมชน การแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาเยาวชนว่างงาน ตลอดจนปัญหาทางสังคมอื่นๆ เป็นต้น

ซึ่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน้าที่เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสงบสุขตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล จึงมีโครงการเมืองต้นแบบฯ เกิดขึ้น โดยมุ่งเป้าหมายสำคัญ คือ การให้ประชาชนมีความสุขกายสุขใจสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขในฐานะคนไทยของประเทศไทย ทุกส่วนราชการจะร่วมมือดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจสังคมของประชาชนอย่างเต็มที่ และจะให้ภาคประชาชนได้มีกระบวนการทำงานที่เป็นกลไกเสริมการทำงานภาครัฐ

โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน เบื้องต้น จะมีการจัดตั้งกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนในทุกหมู่บ้านตำบล รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อให้กลไกมีความเข้มแข็ง ทั้งในส่วนของการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถทางการบริหาร การชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่ต้องการจะให้เกิดความเชื่อมโยงแผนงานภาคประชาชนภาครัฐและภาคเอกชนตามนัยของมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว และมติที่ประชุมได้เห็นชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในทางธุรการ เพื่อเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงนามในประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
 

 
ทั้งนี้ ผู้แทนภาคประชาชนได้กล่าวขอบคุณส่วนราชการและรัฐบาลที่ให้โอกาสภาคประชาชนในการร่วมพัฒนากับรัฐ ถือเป็นโครงการแรกที่มีการชี้แจงข้อมูล ตรงไปตรงมาโดยเฉพาะการให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มแกนนำในระดับพื้นที่มีโอกาสเข้าร่วมการพัฒนาตั้งแต่แรกโดยมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง เช่น การประชุมในระดับหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการนำแกนนำประชาชนและการนำเยาวชนไปศึกษาดูงานในพื้นที่ท่าเรือของปีนัง และเขตอุตสาหกรรมของมะละการวมทั้งโรงไฟฟ้าในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังเชื่อมั่นว่า หากสามารถดำเนินการไปตามกระบวนการแนวทางที่รัฐและประชาชนและเอกชนร่วมออกแบบร่วมกันจะสามารถสร้างสันติสุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนได้เห็นและรับทราบจากการไปศึกษาดูงานนั้น ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเสียโอกาสการพัฒนาไปเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ท่าเรือที่ปีนัง ซึ่งขนสินค้าจากประเทศไทยผ่านทางด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นจำนวนหลายแสนตู้ ทั้งที่คนในพื้นที่น่าจะมีโอกาสในการทำงานในส่วนนี้เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน จะได้ไม่ต้องให้ลูกหลานของตัวเองโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ หากมีการพัฒนาได้ก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงเยาวชนหลายแสนคนกลับสู่พื้นที่เพื่อให้มีงานทำได้ 

รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันก็จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความมั่นคงในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญด้วย รวมทั้งได้ยื่นรายชื่อคณะกรรมการและคณะทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่งตั้งเพื่อเป็นกลไกการทำงานรัฐร่วมกับเอกชนและประชาชนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อบ้านเกิดตนเองต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น