xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขหลังพบโรคใบร่วงชนิดใหม่ระบาดที่นราธิวาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - กยท.เผยเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไข หลังพบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในต้นยางพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังเคยพบการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย

วันนี้ (21 ต.ค.) นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ต่อนล่าง เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีโรคเชื้อราในใบยางระบาดที่ จ.นราธิวาส ซึ่งได้มีการแพร่เชื้อมาจากประเทศมาเลเซีย กยท. ได้รับแจ้งจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่าน กยท.จังหวัดนราธิวาส ว่า พบต้นยางมีอาการใบร่วงเป็นจำนวนมากแทบหมดทั้งต้น โดยพบเป็นแห่งๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง และอำเภอรือเสาะ

ตนและคณะนักวิชาการด้านโรคพืช จึงได้ลงไปตรวจสอบเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า จากการดูลักษณะอาการที่ปรากฏบนใบ และการร่วงของใบมีลักษณะเช่นเดียวกับการรายงานของประเทศสมาชิก RRDB (อินโดนีเชีย มาเลเซีย และศรีลังกา) ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ลงความเห็นว่าเชื้อสาเหตุคือ เชื้อรา Pestalotiopsis sp.

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ต่อนล่าง กล่าวต่อว่า เป็นไปได้ที่เชื้อราตัวนี้มีการแพร่กระจายเข้ามาระบาดในพื้นที่ปลูกยาง แถบชายแดนรอยต่อกับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันคือร้อนชื้นและฝนตกชุก โดยพบลักษณะอาการปรากฏบนใบยางแก่ เมื่อเริ่มแสดงอาการปรากฏรอยช้ำๆ เป็นกลุ่มเห็นชัดเจนด้านหลังใบ หลังจากนั้นจะแสดงอาการเป็นวงค่อนข้างกลมสีเหลือง (Chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด โดยพบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล

จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการโรครุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน ต้นยางอายุมากขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าต้นยางอายุน้อยขนาดเล็ก อาการใบร่วงจากเชื้อรานี้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยาง เนื่องจากมีใบร่วงมากกว่าร้อยละ 90 จึงเป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30-50 และพบในทุกพันธุ์ยางที่ปลูกในพื้นที่นั้น ได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 พันธุ์ RRIT 251 และพันธุ์ PB 311

เชื้อรานี้มีพืชอาศัยหลายชนิด แพร่ระบาดโดยลมและฝน จึงค่อนข้างยากต่อการป้องกันควบคุม อย่างไรก็ตาม แนวทางการป้องกันกำจัดการแพร่ระบาดของโรคนี้ ขณะนี้ กยท. มีโครงการสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคนี้ในเขตภาคใต้ตอนล่างอย่างเร่งด่วน พร้อมกับดำเนินการเก็บตัวอย่างใบเพื่อวินิจฉัยเชื้อสาเหตุที่แน่ชัด

“อีกทั้งจะมีการทดสอบประสิทธิภาพสารเคมี เช่น hexaconazole, benomy และ thiophanate methy ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อรา หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการกำจัด รวมถึงการร่วมมือทางวิชาการกับประเทศสมาชิก RRDB ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ เพื่อนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ได้ผลแล้วมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้ กยท. ขอย้ำว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่และให้ความสำคัญต่อการป้องกันและกำจัดโรคนี้ รวมถึงควบคุมไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้น” นายสุรชัย บุญวรรโณ กล่าวทิ้งท้าย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น