xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนระดับ “ผู้พิพากษา” ลงทุนกระทำอัตวินิบาตกรรม จับตาสึนามิจะเกิดบน “แผ่นดินไฟใต้” ได้หรือไม่?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่คนทำหน้าที่ “ตุลาการ” ในตำแหน่ง “ผู้พิพากษา” ผู้ที่ต้องตัดสินคดีความตามกระบวนการยุติธรรม ได้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงใต้ราวนมซ้ายของตนเองหน้าบัลลังก์ในห้องพิจารณาคดี ภายหลังที่อ่านคำพิพากษาจบ เพื่อประท้วง “ผู้บังคับบัญชา” กรณีถูกแทรกแซงการทำหน้าที่ตัดสินคดี
 
ใช่แล้วว่ากำลังเขียนถึงเรื่องราวของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการยิงตัวเอง แม้เวลานี้จะพ้นขีดอันตรายแล้วก็ตาม อันเป็นการวาดหวังเอาชีวิตตนเองแลกเพื่อให้สังคมได้รับการ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” และ “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
 
นายคณากร ได้ทิ้งคำแถลงการณ์ไว้จำนวน 25 หน้า เป็นการบันทึกถึงการทำหน้าที่ตัดสินสินคดีที่ตนเองเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา และมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว แต่ผู้บังคับบัญชาระดับ “อธิบดี” ไม่เห็นด้วยและมี “คำสั่งลับ” ให้เปลี่ยนคำตัดสินจากยกฟ้อง เป็นให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5 คน ถึงขั้นให้ได้รับโทษหนักสุดขั้นประหารชีวิต
 
เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นข่าวครึกโครม ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจอย่างไม่กะพริบตา โดยเฉพาะในวงการศาลสถิตยุติธรรม เนื่องจากที่ผ่านๆ มามีเพียงเรื่องราวของ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่มักมีเสียงร่ำลือเกี่ยวกับ “การแทรกแซงการตัดสินคดี” ตามมาด้วย
 
แน่นอนไม่ว่าสิ่งที่นายคณากร ทิ้งแถลงการณ์ไว้จะเป็น “จริง” หรือ “เท็จ” อย่างไร แต่วงการศาลสถิตยุติธรรมของประเทศไทยได้รับผลกระทบยิ่งแล้ว และไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เกิดอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ “บนแผ่นดินไฟใต้” ผลสะเทือนยิ่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะยากจะหนีพ้นความคิดคนว่าต้องข้องเกี่ยวกับ “คดีความมั่นคง” พัวพันถึง “ความเชื่อถือ” ต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
 
ความจริงแล้วเอกสารแถลงการณ์ที่นายคณากร ทิ้งไว้ไม่ได้พุ่งความสำคัญไปที่การชี้ว่าจำเลยทั้ง 5 กระทำผิดหรือไม่ผิด แต่ให้น้ำหนักไปที่กระบวนการสอบสวนสืบสวนที่เป็นหน้าที่ของ “พนักงานสอบสวน” ซึ่งปรากฏว่ามีหลายอย่างไม่น่าจะถูกต้อง ตั้งแต่เรื่องของพยานที่นำเข้าเบิกความ อีกทั้งของกลางก็ไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับรูปคดีอย่างไร ถือเป็นประเด็นที่ “ไม่มีน้ำหนักพอ” ที่จะเอาผิดจำเลยทั้งหมดได้
 
และที่สำคัญมากคือ คดีนี้ถูกตีความว่าไม่ใช่ “คดีความมั่นคง” แต่เป็นคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าคนตาย ซึ่งแม้จะมีโทษสูงเช่นเดียวกันก็ตาม
 
มีประเด็นสำคัญอีกคือ คดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่าส่วนใหญ่จะถูก “สั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ยกฟ้อง” เพราะพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลขาดน้ำหนัก ขาดการเชื่อมโยง หรือ “สำนวนอ่อน” จนทำให้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาไม่สามารถชี้ผิดกับผู้ต้องหาตามคำฟ้องของพนักงานได้
 
เรื่องนี้พนักงานอัยการก็มักทราบดีว่าคดีจำนวนมากเป็นการส่งฟ้องศาลแบบ “สำนวนอ่อน” จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นจาก “ตำรวจ” ที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวน โดยเฉพาะคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระเบิด อาวุธปืนหรือการวางเพลิง โดยมีพยานเห็นเหตุการณ์ก็จริง แต่มักไม่มีคนที่จะยอมเป็นพยาน เพราะไม่ใช่กลัวเสียเวลาเท่านั้น แต่ที่กลัวหนักคือความไม่ปลอดภัยที่จะตามมา
 
เนื่องจากปรากฏภาพให้เห็นมานักต่อนักว่า มีหลายคนที่ไปเป็นพยานให้แก่เจ้าหน้าที่แล้วกลับมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว แม้จะมีกระบวนการ “คุ้มครองพยาน” ก็จริง แต่โดยข้อเท็จจริงไม่มีใครสามารถคุ้มครองพยานได้ตลอดเวลาและตลอดไป นี่คือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ในคดีความมั่นคงไม่มีใครต้องการเป็นพยานให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
 
นอกจากนี้แล้ว ขั้นตอน “การหาหลักฐาน” ในแต่ละคดีที่เกิดขึ้นก็ไม่ง่ายนัก เพราะขาดความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ต้น ดังนั้น ในกระบวนการสอบสวนที่เป็นหน้าที่ของตำรวจจึงค่อนข้าง “กระท่อนกระแท่น” มีการ “จับแพะชนแกะ” เพื่อต้องการให้มีการลงโทษ ซึ่งกลายเป็นวิธีปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในการปิดสำนวนคดี
 
กล่าวตามความเป็นจริง คดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการจับกุมผู้กระทำผิดทั้งทหารและตำรวจมักจับไม่ค่อยจะผิดตัว หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดราว 90% เป็นผู้ร่วมทำความผิด เพียงแต่จะร่วมกระทำผิดในระดับไหน อันเป็นไปตามสภาพของพื้นที่ สภาพของสังคม หรือความจำยอมต่างๆ รวมทั้งการเป็นญาติพี่น้องหรือมิตรร่วมศาสนาหรือไม่
 
วันนี้คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงเมื่อถูกนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมจนมีการ “สั่งฟ้อง” ผู้ต้องหาได้เพิ่มขึ้น 50-60% เนื่องจากพนักงานอัยการผู้เป็นเหมือน “โซ่ข้อกลาง” ระหว่างตำรวจกับศาลเห็นถึงปัญหาของคดีความที่เคยถูกสั่งไม่ฟ้องที่มีมากมาย จนทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม แถมยังถูก “ขบวนการบีอาร์เอ็น” นำไปทำ “ไอโอ” กับมวลชนในพื้นที่ให้เห็นและเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ “จับแพะ” เพราะศาลสั่งไม่ฟ้อง
 
ดังนั้น จึงมีการตั้ง “สำนักงานอัยการพิเศษ” ขึ้นที่ จ.ปัตตานี ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับผิดชอบสำนวนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงและมีปัญหาในกรณีสำนวนอ่อนที่มาจาก “กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ” คือตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ ซึ่งหลังจากที่สำนักงานอัยการพิเศษเกิดขึ้นคดีความมั่นคงส่วนใหญ่ที่นำสู่ศาลจึงได้รับการสั่งฟ้องมากขึ้นเรื่อยๆ
 
แน่นอนว่าการที่คดีที่นำสู่ศาลจนผู้ต้องหาถูกพิพากษาลงโทษมากขึ้น นอกจากการเกิดขึ้นของสำนักงานอัยการพิเศษแล้ว ยังมาจากเรื่องของการใช้ “นิติวิทยาศาสตร์” โดยเฉพาะการ “ตรวจดีเอ็นเอ” หรือหลักฐานจาก “กล้องซีซีทีวี” ที่ทำให้ผู้ต้องหาดิ้นไม่หลุด และเป็นหลักฐานที่ศาลให้ความเชื่อถือมากกว่า “พยานบางปาก” ที่บางครั้งมีความสับสนในการเบิกความ
 
ดังนั้น ในประเด็นของการสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้ง 5 ในคดีที่นายคณากร เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ซึ่งมีผู้ร่วมพิจารณาที่เป็นผู้พิพากษาจำนวน 3 ท่าน แม้มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” แต่นั่นไม่ใช่เป็นการชี้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ แต่เป็นเพราะเกิดจาก “พยาน” และ “หลักฐาน” ที่ผู้พิพากษาเห็นว่ายัง “ไม่น่าเชื่อถือ” พอที่จะให้จำเลยถูกลงโทษ รวมทั้งยังชี้ประเด็นถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้นที่ใช้ “กฎหมายพิเศษ” ในการสืบสวนสอบสวนด้วย
 
ที่ผ่านมา มีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากไม่น้อยที่ “อัยการ” และ “ศาล” สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่ได้ทำผิด หรือฝ่ายความมั่นคง “จับแพะ” มาเป็นผู้ต้องหาเช่นกัน แต่เป็นเพราะ “ตำรวจ” และ “อัยการ”ไม่สามารถที่จะหาพยานและหลักฐานผูกมัดผู้ต้องหาได้ต่างหาก
 
อย่างไรก็ตาม กรณีการทำร้ายตนเองของผู้พิพากษานายคณากร เพียรชนะ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรต้องถือว่า “มีคุณประโยชน์” โดยเฉพาะการใช้เป็นกรณีศึกษาในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และโดยเฉพาะกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่สำคัญคือ การนำไปสู่การแก้ปัญหาในเรื่องของการแทรกแซงการทำหน้าที่ตุลาการ เพื่อไม่ให้เกิดคลุมเครือขึ้นอีกต่อไป เพราะหลังการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าวถ้าตรวจสอบจาก “โลกโซเชียล” แล้วจะพบว่า ล้วนแต่แทบ “ไม่ได้เกิดประโยชน์” กับทั้งผู้เป็น “ต้นเรื่อง” และบุคคลที่ “ถูกกล่าวหา” รวมทั้งกระบวนการศาลสถิตยุติธรรมที่เกิดรอยด่างขึ้นแล้ว
 
ประเทศชาติจะมั่นคงและดำรงอยู่ได้ต้องอาศัย “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” เป็นที่ตั้ง โดยมีศาลสถิตยุติธรรมเป็นเสาหลักค้ำยัน ดังนั้น คนที่ต้องทำหน้าที่ตุลาการตัดสินความต่างๆ ต้องได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากประชาชน
 
กรณีผู้พิพากษาหัวหน้ายิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลาจึงต้องเร่งดำเนินการทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว เพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับและทรงความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ “ศาลสถิตยุติธรรม” และโดยเฉพาะกับ “กระบวนการยุติธรรมบนแผ่นดินไฟใต้” ควรต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็น “เสาหลัก” ของประเทศชาติต่อไป
 
เมื่อคนระดับ “ผู้พิพากษา” ลงทุนกระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อประกาศ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” และ “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” สังคมจึงควรต้องจับตากันต่อไปว่าจะมีสึนามิต่อ “กระบวนการยุติธรรม” และโดยเฉพาะกับ “แผ่นดินไฟใต้” ตามมาได้หรือไม่?!
  


กำลังโหลดความคิดเห็น