xs
xsm
sm
md
lg

12 องค์กรร่วมกันเรียกร้องให้ ก.ต.สอบข้อเท็จจริงกรณี “ผู้พิพากษาคณากร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - 12 องค์กรเรียกร้องให้ ก.ต.สอบข้อเท็จจริงตามที่ “ผู้พิพากษาคณากร” เขียนไว้ในแถลงการณ์ จี้ต้องให้ความคุ้มครองความปลอดภัยทั้งครอบครัว ขอให้ประธานศาลฎีกาทบทวนระเบียบการรายงานและตรวจสำนวนคดี

วันนี้ (7 ต.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ “ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลาอ้างว่า ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี” โดยระบุว่า จากกรณีที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา ภายหลังจากที่อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีนั้น สมาคมฯ และองค์กรภาคประชาสังคมอีก 11 องค์กรขอเสนอข้อเรียกร้อง จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ (1) ขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายคณากรกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ โดยคณะกรรมการต้องอิสระและเป็นกลาง

ทั้งนี้ ก.ต.ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนายคณากร และครอบครัวในระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายคณากร อยู่ในภาวะที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระ ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากบุคคลใด

(2) ขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาทบทวนแก้ไขระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 และสร้างกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้อย่างปลอดภัย ให้สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชณอาณาจักรไทย มาตรา 188

(3) ขอให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่ยอมจำนนต่ออำนาจอิทธิพลนอกกฎหมาย รวมทั้งอคติของผู้ใด อันจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษาในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

และ (4) ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายนำเสนอข่าวโดยเคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชน เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนให้เป็นประเด็นทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่าย หรือลดทอนศักดิ์ศรีของบุคคลใด และขอให้ใช้โอกาสนี้นำเสนอข่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ องค์กรภาคประชาสังคม 11 องค์กรนั้น ประกอบด้วย (1) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (2) สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม (3) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (4) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (5) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (6) ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน (7) ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน (8) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (9) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (10) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ (11) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
 



กำลังโหลดความคิดเห็น