xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนผนึกกำลังดันภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา ติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยวภูเก็ต เอกชนผนึกกำลังเสนอปัญหาพร้อมเสนอให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ ด้าน อดีตสมาชิกวุฒิสภา “ธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย รับลูกร่วมเดินหน้าผลักดัน ถึงเวลาคนภูเก็ตต้องพูดเสียงดังๆให้รัฐบาลทราบว่าต้องการอะไร 

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา นำโดย พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 2 ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล ปลัดจังหวัดภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีต สว.ภูเก็ต นายนที ถิ่นสาคู ส.ส.ภูเก็ต นางศิระวี วาเลาะห์ ท่องเที่ยวแลกีฬา นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นายศรายุทธ์ มัลลัม อุปนายกสมาคมการท่องเที่ยวภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วม

โดยนางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผอ.ททท.สำนักงานภูเก็ต รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ต ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ภาพรวมการท่องเที่ยวของภูเก็ตอยู่ในภาวะทรงตัว จำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.34 อยู่ที่ 9.8 ล้านคน ในขณะที่รายได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.98 อยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จีนเข้ามาสูงสุดกว่า 3 ล้านคน รองลงมาเป็นรัสเซีย 9 แสนคน และเยอรมัน 6 แสนคน โดยตลาดอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีเที่ยวบินตรงจาก 3 เมืองหลักมาภูเก็ต รวมถึงตลาดในอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งทางททท.ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ภูเก็ตเป็น weekend Destinations ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ในช่วงวันหยุดสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม อัตราเข้าพักของโรงแรมต่างๆ ในภูเก็ต ลดลง แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ได้ลดลง ทั้งนี้เพราะมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 3,000 กว่าห้อง และมีโรงแรมที่เป็นโฮลเทลเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวกระจายไปตามโรงรามต่างๆ ทำให้อัตราเข้าพักโรงแรมลดลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนภูเก็ตนั้น ได้นำเสนอปัญหาต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร.ทั้ง 9 หน่วย เช่น หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สมาคมธนาคาร ฯลฯ เพื่อให้ทางคณะกรรมาธิการฯผลักดันและแก้ไขปัญหาต่อไป 4 เรื่องหลัก คือ ปัญหาการจราจร ปัญหาความปลอดภัยทางน้ำ ปัญหาสล๊อตของสนามบินภูเก็ต การผลักให้ภูเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ

โดยในส่วนของปัญหาการจราจรทางบกนั้น นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ระบุว่า ปัจจุบันภูเก็ตต้องเผชิญกับปัญหารถติดอย่างหนักทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สะดวกสบายในการเดินทาง รวมไปถึงคนภูเก็ตเองด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นหลายๆ โครงการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการถนนถนนเพิ่ม การขยายถนน อุโมงค์ตามแยกต่างๆ ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนต้องการที่จะให้มีการผลักดันถนนให้เกิดขึ้นในหลายๆ สาย เช่น ถนนสายสาคู-เกาะแก้ว ถนนเส้นวัดหลวงปู่สุภา-ป่าตอง ซึ่งทั้งสองสายติดอยู่ในขั้นตอนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้เวลานาน จึงยากฝากทางคณะกรรมาธิการฯช่วยผลักดันในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงถนนเส้นจุดต้นป่าคลอกบางโรง-แยกถนนเทพกษัตรี และถนนเส้นกะทู้ – เกาะแก้ว เชื่อมต่อเส้นสาคู-เกาะแก้ว เป็นต้น

ส่วนความปลอดภัยทางทะเลนั้น ขณะนี้ระบบ VMS ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางทะเลอันดามัน ระบบมีปัญหา แต่ขาดแคลนงบประมาณมาซ่อมแซมจำนวน 50 ล้านบาท จึงอยากจะขอสนับสนุนงบมาดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะความปลอดภัยถือเป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว

ด้านนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต และยังไม่ได้รับการแก้ไขในหลายๆ เรื่องๆ ซึ่งปัญหาที่ภาคเอกชนหยิบหยกมานำเสนอนั้นเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในปัจจุบันจะเห็นว่าอัตราเข้าพักโรงแรมลดลงจากโรงแรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆรวมไปถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งถนนหนทาง น้ำ และอื่นๆ

ปัญหาทุกด้านที่เกิดขึ้นในภูเก็ตและยังไม่ได้รับการแก้ไข ภาคเอกชนมองว่าเกิดจากปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่ตอบโจทย์การเติบโตของจังหวัดภูเก็ต ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณที่จะมาแก้ปัญหา จึงทำให้เกิดปัญหารื้อรัง ภาคเอกชนมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้มีการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ภาคเอกชนทั้ง 9 องศ์กรมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ ส่วนผู้ว่าฯจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการแต่งตั้งก็ได้ สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการเมือง ที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ และงบประมาณในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

“ภาคเอกชนพอใจกับการบริหารงานของข้าราชการที่มาอยู่ภูเก็ต ที่ทำงานอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ แต่ภาคเอกชนอยากได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภูเก็ตอยากได้ระบบการบริหารจัดการที่รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของเมือง” ประธานหอการค้าภูเก็ต กล่าวและว่า

หากภูเก็ตสามารถที่จะก้าวไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ เชื่อว่าภูเก็ตจะพัฒนาไปทันสิงคโปร์ หรืออาจจะก้าวล้ำก็เปแต่หากปล่อยให้ปัญหาหมักหมมอยู่โดยไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลด้านลบต่อภูเก็ตเรื่อยๆ จึงอยากจะฝากทางคณะกรรมาธิการช่วยผลักดันให้ภูเก็ตมีการบริหารจัดการ และงบประมาณที่เหมาะสม จากที่ภูเก็ตสามารถสร้างรายได้ได้ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท

ด้านนางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีต สว.ภูเก็ต กล่าวว่า การผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ได้มีการศึกษาและผลักดันเรื่องนี้มาแล้ว ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น ได้ร่วมกับนายจเด็ด อินสว่าง ส.ว.ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าฯภูเก็ต และปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ ซึ่งเข้าใจบริบทการเป็นเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ต แต่รัฐบาลในสมัยนั้นไม่ให้ความสนใจ ทำให้เรื่องดังกล่าวเงียบไป

“คิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนภูเก็ตจะต้องพูดเสียงดังๆ ให้รัฐบาลได้รับทราบว่าเราต้องการอะไร ระบบการบริหารที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูเก็ตได้ทันท่วงที และที่สำคัญในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาและแก้ปัญหาภูเก็ตที่ได้มาจำนวนน้อยในแต่ละปี ถ้าเทียบกับรายได้ที่ภูเก็ตสร้างให้กับประเทศปีละ 4 หมื่นล้านบาท จะมาจัดสรรรายได้โดยการคิดตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ไม่ได้แล้ว ภูเก็ตจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่และรายได้ที่เกิดขึ้น” อดีต ส.ว.ภูเก็ต กล่าวในที่สุด

ด้าน พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 2 กล่าวว่า การมาวันนี้ ทำให้ได้รับทราบสถานการณ์การท่องเที่ยวและสภาพปัญหาของภูเก็ต ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จากระบบการบริหารจัดการที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นเมืองท่องเที่ยว ในจุดนี้กรรมาธิการก็เข้าใจรัฐบาลว่าจะต้องดูแลจังหวัดอื่นๆ ทั้งประเทศ แต่สิ่งเดียวที่ต้องเน้นย้ำ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้จำนวนนักท่องเที่ยวสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยประเด็นปัญหาทั้งหมดที่ได้รับทราบในวันนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะนำเสนอไปยังคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปัญหาของภูเก็ตได้รับการแก้ไข


กำลังโหลดความคิดเห็น