xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแนะญาติ “อับดุลเลาะ” ร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
นราธิวาส - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แนะญาติ “อับดุลเลาะ” ร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ เพื่อให้มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน แนะให้เข้าใจในการชันสูตรพลิกศพ ชี้ยังมีสิทธิขออีกครั้งได้

จากกรณีที่ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ บุคคลต้องสงสัยที่หมดสติขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 20 ก.ค. จนแพทย์ต้องนำเข้าห้องไอซียู ในเช้ามืดวันที่ 21 ก.ค. ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องไอซียู รพ.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ รพ.สงขลานครินทร์ ออกแถลงการณ์สรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง (severe pneumonia) และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (septic shock) นั้น

วันนี้ (26 ส.ค.) น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้มีข้อเสนอแนะสำหรับญาตินายอับดุลเลาะ เพื่อทวงความยุติธรรมว่า ตอนนี้ นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตแล้ว ญาติน่าจะไปร้องทุกข์กล่าวโทษอีกครั้งที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ เชื่อว่ามีการกระทำที่ทำให้บาดเจ็บสาหัส และต่อมาเสียชีวิต หากพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมน่าจะเปิดโปงคนผิดมาลงโทษ ที่ผ่านมา ญาติของนายอับดุลเลาะ ได้ไปแจ้งความไว้แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค. แต่เป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันว่า นายอับดุลเลาะ บาดเจ็บสาหัส ซึ่งยังไม่ส่งผลถึงการสืบสวนสอบสวน

“แม้การตายของนายอับดุลเลาะ จะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล แต่สาเหตุการเสียชีวิตเป็นผลโดยตรงจากการกระทำและไม่กระทำ ที่เกิดขึ้นในการควบคุมตัวของทหาร ภายใต้การใช้อำนาจกฎอัยการศึก นายอับดุลเลาะ หมดสติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร ที่ต้องมีการตรวจตราและเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวเกิดการทำร้ายตนเอง หรือมีผู้อื่นเข้ามาทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งหลายฝ่ายอาจเชื่อว่าเกิดขึ้นระหว่างการซักถามด้วยกรรมวิธีพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชที่เป็นอิสระเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ทั้งหมดมาให้คำตอบ” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

น.ส.พรเพ็ญ ยังกล่าวด้วยว่า (1) ขอให้ญาติเข้าใจกระบวนการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์นิติเวช และผลของการตรวจชันสูตรพลิกศพแม้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ญาติก็ยังมีสิทธิให้ชันสูตรพลิกศพซ้ำโดยแพทย์นิติเวชที่เป็นอิสระได้ (2) บันทึกข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับสาเหตุการตาย (3) แนะนำขั้นตอน กระบวนการไต่สวนการตายของศาล ให้ญาติแต่งตั้งทนายความเพื่อเข้าร่วมการไต่สวนการตาย

(4) หากมีพยานหลักฐานว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ญาติแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิด หรือแต่งตั้งทนายความฟ้องต่อศาลเองได้ และ (5) ควรแนะนำญาติให้แต่งตั้งทนายความฟ้องหน่วยราชการต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานนั้นได้ด้วย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น