xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสุดทน! คนมักง่ายนำขยะนับร้อยตันทิ้งตลาดกลางผลไม้ ท้องถิ่นขาดงบหมดปัญญาจัดเก็บ วอนส่วนกลางช่วยเหลือด่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชุมพร - ชาวบ้านร้อง ตลาดกลางผลไม้ภาคใต้ ที่ชุมพร กลายเป็นเมืองขยะนับร้อยตัน กองเป็นภูเขา ถูกทิ้งเกลื่อนถนน บางจุดกินที่ไปครึ่งทาง ส่งกลิ่นเหม็น แมลงวัน หนอนยั้วเยี้ย ขณะที่ท้องถิ่นอ้างงบน้อยหมดปัญญาจัดเก็บ วอนส่วนกลางช่วยเหลือด่วน

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ ( 22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เขตเทศบาลตำบลวังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านมีคนลักลอบนำขยะจำนวนนับร้อยตันมากองทิ้งไว้ตามจุดสายต่างริมถนน บางแห่งถูกกองทิ้งไว้กินเลนไปถึง 1 ช่องทางจราจรเป็นแนวยาวนับร้อยเมตร ส่งกลิ่นเหม็นเน่าแมลงวันและหนอนยั้วเยี้ยส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ได้รับความเดือนร้อนซ้ำซากมานานหลายปีแล้ว

จากการลงพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลวังตะกอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาดรับซื้อขายส่งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ใหญ่สุดในภาคใต้ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงผลไม้ภาคใต้” โดยมีล้งรับซื้อทุเรียนและผลไม้ตามฤดูกาลของชาวจีนและคนไทยเข้ามาเปิดจุดรับซื้อเกือบ 300 แห่ง โดยเฉพาะผลไม้หลัก คือ ทุเรียน ที่ออกตามฤดูกาลและทุเรียนนอกฤดูกาล หรือ “ทุเรียนทะวาย” ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี รวมมากกว่า 4 แสน ตัน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นความจริงตามที่ชาวบ้านร้องเรียน เพราะถนนหลายสายทั้งในเขตชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงของพื้นที่เขตเทศบาลตำบลวังตะกอ มีขยะที่ถูกนำมาทิ้งไว้จำนวนมากส่วนใหญ่เป็นเปลือกทุเรียน ขยะเปียก และขยะในครัวเรือน กองพะเนินอยู่ตามจุดต่างๆจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ถนนคอนกรีตซอยหนองปลา 2 หมู่ 4 ตำบลวังตะกอ มีขยะถูกนำมาทิ้งทับถมสูงเป็นภูเขายาวเหยียดมีทั้งหนอนและแมลงวันไต่ตอมไปทั่ว ส่วนอีกจุดอยู่บริเวณทางโค้งถนนเอเชีย-ปากน้ำหลังสวน มีขยะนำมาทิ้งทั้งใหม่และเก่าทับถมเป็นกองพะเนินระยะทางยาวกว่า 100 เมตร จนเป็นที่อุดจาดตาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

ขณะที่ นางรัตนา ขาวสุวรรณ อายุ 50 ปี ชาวบ้านหนองปลาขับรถยนต์กระบะผ่านมายังจุดที่ผู้สื่อข่าวกำลังบันทึกภาพได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้วส่วนใหญ่เป็นคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาเช่าบ้านรับจ้างผู้ประกอบการแกะทุเรียนที่ตกไซด์ตกขนาดเพื่อนำเนื้อส่งไปแปรรูป ส่วนเปลือกจำนวนมากและขยะที่ใช้ในครัวเรือนนำมากองทิ้งตามถนนสายต่างๆ เพราะถังขยะมีน้อยและรถจัดเก็บขยะของเทศบาลก็มีเพียงคันเดียว พอกองสะสมมากๆนานๆก็จะเจ้าหน้าที่ก็นำรถเม็กโคมาตัดไปทิ้ง จึงอยากให้ทางผู้บริหารเทศบาลฯมีมาตรการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งเพิ่มรถจัดเก็บขยะ จุดที่ทิ้งขยะ ที่ชาวบ้านเหล่านี้สามารถนำไปทิ้งได้

ด้าน นายอาทิตย์ พลคณา อายุ 35 ปี ชาวบ้านอีกคนกล่าวว่า กองขยะที่มีคนเอามาทิ้งข้างที่ตนพักอาศัยกองสะสมมานานต่อเนื่องหลายปีแล้ว คนที่นำขยะมาทิ้งจะนำใส่รถยนต์กระบะมาช่วงเวลา 2 ทุ่ม ตอนนี้พวกตนและผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กองขยะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมาช่วยเหลือด้วย

นางสาวมานิตา แซ่โค้ว อายุ 30 ปี กล่าวว่าตนอาศัยอยู่ในซอยหนองปลา 2 เดือดร้อนมานานมากแล้วเพราะรถที่นำขยะมาทิ้งที่ตนแห็นจะเป็นรถกระบะและรถรั้ว ตนบอกประจำว่าอย่าเอามาทิ้งพวกเขาก็ไม่สนใจ ยังนำมาทิ้งสุมกองไว้ทุกวัน ตนมีบ้านอยู่ใกล้กองขยะต้องทนนอนดมกลิ่นเหม็นมานานมมกแล้ว ขณะที่ทางเทศบาลฯก็ไม่ได้มาเก็บนานเกือบ 1 ปีแล้ว พวกตกก็ไม่รู้จะทำเช่นไร

นายอนันต์ แดงมณี ประธานศูนย์ อปพร.เทศบาลตำบลวังตะกอ กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางเทศบาลฯได้ออกประกาศแจ้งเตือนและนำป้ายมาติดประกาศไว้ตามจุดต่างๆแต่คนทิ้งก็ไม่สนใจกลับนำมาทิ้งไว้มากกว่าเดิม ตนจึงได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องว่าจะต้องตั้งสายตรวจ อปพร.ออกลาดตระเวนและซุ่มตรวจทั้งกลางวันและกลางคืนตามถนนสายต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบ หากพบใครนำขยะมาทิ้งในที่สาธารณะก็จะจับกุมดำเนินคดีทุกรายต่อไป

ด้าน นายภาคิน มากภัคดี ปลัดเทศบาลตำบลวังตะกอ กล่าวว่าเขตพื้นที่เทศบาลตำบลวังตะกอ อ.หลังสวน มีทั้งหมด 127 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางตลาดรับซื้อผลไม้ใหญ่สุดของภาคใต้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีทั้งแรงงานต่างถิ่นและผู้ประกอบการเข้ามาอยู่จำนนวนมาก ส่วนผลผลิตผลไม้ต่างๆโดยเฉพาะทุเรียนก็นำมาจากหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ขณะที่รถจัดเก็บขยะก็มีเพียงคันเดียว พนักงาน 5-6 คน ที่ทิ้งขยะก็ไม่มี พอจะหาที่สร้างก็ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่นั้นๆ ปัจจุบันต้องขนขยะไปทิ้งที่โรงกำจัดขยะของเทศบาลเมืองชุมพร ได้เพียงวันละ 1 เที่ยว เพราะต้องวิ่งไปกลับเที่ยวละ 180 กิโลเมตร

นายภาคิน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีมานานแล้วแต่จะมีมากในช่วงฤดูกาลผลไม้ออกมากๆในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ทางเทศบาลฯก็แก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ด้วยงบประมาณมีเพียง 5-6 ล้านต่อปี ไมเพียงพอต่อการบริหารจัดการเนื่องจากต้องใช้จ่ายในหลายๆด้าน ที่ผ่านมาได้รายงานปัญหาให้กับทางจังหวัดทราบมาตลอด นอกจากนั้นเคยขอสนับของบประมาณไปที่จังหวัดและกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้การช่วยเหลือเรื่องเงียบหายไป จึงต้องรับปัญหาในลักษณะนี้เรื่อยไป


กำลังโหลดความคิดเห็น