xs
xsm
sm
md
lg

“หมอหนิ่ง” ชี้กรณีมาเรียมจะเป็นกรณีศึกษาและส่งผลดีต่อการดูแล “ยามีล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ ชี้กรณี “มาเรียม” เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานทางวิชาการและการอนุบาลสัตว์กำพร้า พร้อมส่งต่อไปถึงการดูแล “ยามีล” และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต

วันนี้ (18 ส.ค.) “หมอหนิ่ง” หรือ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการอนุบาลมาเรียมในระบบเปิดตามธรรมชาติ และการจากไปของมาเรียม ว่า จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อทางวิชาการและการแพทย์ด้านสัตว์น้ำ รวมทั้งทำให้เห็นแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยเหลือลูกสัตว์กำพร้า หรือลูกสัตว์ทะเลหายากกำพร้าว่าควรจะเป็นยังไง ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะว่าบางทีธรรมชาติก็ไม่ได้สวยงามและดีอย่างที่เราคิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีมลพิษ หรือขยะต่างๆ เกิดขึ้น ดังนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ควรจะจัดการยังไง และในทางสัตวแพทย์เองก็ได้เรียนรู้ถึงการให้ยา และการดูแลรักษาโรคของพะยูน รวมทั้งวิธีการเจาะเลือดหรือวิธีการป้อนอาหารอะไรต่างๆ จากมาเรียม ตลอดจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเรื่องปัญหาขยะไม่ให้มีในทะเล เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ และจะส่งต่อไปถึงการดูแลยามีล พะยูนน้อยวัย 4 เดือน ที่ จ.ภูเก็ต ในช่วงหลังจากนี้ด้วย

สำหรับยามีล ขณะนี้อยู่ในสภาพที่แตกต่างจากมาเรียมมาก เพราะยามีล อยู่ในพื้นที่ที่ปกป้องอยู่แล้ว และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ดูแลอยู่แล้ว ล่าสุด ได้มีการเสริมแพทย์รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากทางกรมอุทยานฯ กองทัพเรือ และคณะสัตวแพทย์จุฬาฯ เข้าไปช่วยกันอย่างเต็มที่ ซึ่งกำลังมีแนวทางปรับยามีล ให้ไปอยู่ในพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อให้พะยูนน้อยสบายขึ้น และหวังว่าคงจะไม่มีปัญหา

นอกจากนั้น จะเข้มงวดในส่วนของทีมสัตวแพทย์ และอาสาสมัครที่จะมาช่วยดูแลยามีลมากขึ้น เช่น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อนที่จะเข้าไป หรือไม่เปิดให้คนนอกเข้าไป เพราะเกรงเชื้อโรคต่างๆ ส่วนเรื่องที่จะนำยามีล ไปเลี้ยงตามแนวทางตามธรรมชาติตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้เดิมนั้น คงจะต้องรอให้ยามีลเลิกนมก่อน เพราะว่าในธรรมชาติไม่มีนมให้กิน

จากนั้นขั้นตอนต่อไปก็อาจต้องลองเอายามีล ไปปล่อยดูก่อนในธรรมชาติ ซึ่งถ้าพะยูนน้อยสามารถดูแลตัวเองได้ ก็ให้อยู่ในธรรมชาติไปเลย แต่ถ้าเขายังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็จะต้องเอากลับมาอยู่ในอะควาเรียมเหมือนในต่างประเทศ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น