xs
xsm
sm
md
lg

ฟังตลกร้ายเรื่อง “คอร์รัปชันไฟใต้”! แล้วจับตารัฐบาลใหม่ “ฤทธิ์เดช” ทหารกดทับพลเรือนไม่เหมือนเดิม?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากปฏิบัติการของขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การ “แบ่งแยกดินแดน” ซึ่งจะเป็นแค่ “ความฝัน” หรือกลายเป็น “ความจริง” ได้แค่ไหน เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่มีใครกล้าที่ยืนยัน
 
แต่จากปฏิบัติการสร้างความรุนแรงทั้งใช้อาวุธเข่นฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน รวมถึงก่อวินาศกรรมในหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ก็ได้สร้างทั้งความบอบช้ำให้แก่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินของราชการและประชาชนเป็นจำนวนมาก
 
ทว่า ที่ต้องนับว่าสูญเสียมากที่สุดคือ แผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนา คนในพื้นที่สูญเสียในด้านเศรษฐกิจ กระทบสังคมและวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกับไทยพุทธที่เป็น “คนกลุ่มน้อย” ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีเอาชีวิตรอด ครอบครัวแตกแยก วัดไร้พระ หมู่บ้านไร้ผู้คน แม้จะไม่ใช่สงคราม แต่ก็เหมือนกับสงคราม เพราะมีผู้เสียชีวิตเกือบ 10,000 คนแล้ว ขณะที่ผู้บาดเจ็บก็อีกหลายหมื่นคน อันเกิดขึ้นในห้วงเวลากว่า 15 ปี ที่ไฟใต้ระลอกใหม่โชยเปลว
 
นี่ยังไม่นับรวม “งบประมาณ” ที่เป็นตัวเลขกลมๆ อีกกว่า 300,000 ล้านบาท ที่ถูกใช้ไปเพื่อการดับไฟใต้ ส่วนตัวเลขเบี้ยวๆ ที่ถูกใช้เล่นกลหรือซุกซ่อนเอาไว้ในส่วนต่างๆ อีกเท่าไหร่ยังไม่มีความชัดเจน
 
อีกทั้งยังไม่รวมถึงงบประมาณที่ใช้ “ต้มคนทั้งชาติ” ไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการดับไฟใต้และคุ้มครองประชาชน เช่น เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 หรือที่เรียกกันว่า “ไม้ล้างป่าช้า” หรือ “เรือเหาะ” ราคาครึ่งพันล้านที่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นเศษซากวัสดุที่ใช้การไม่ได้ เป็นต้น 
 
ที่เจ็บปวดกว่าการผลาญงบของประชาชนคือ “ไม่มีคนผิด” จากการทำผิดซ้ำๆ ซากๆ ที่เกิดขึ้น อันที่จริงแล้วนี่ก็คือเรื่องของการ “คอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นใน “กองทัพ” ผิดกับบรรดา “นักการเมือง” ที่มีการผลาญงบประมาณภาษีของประชาชนแล้วต้องเดินพาเหรดเข้าคุกกันเป็นทิวแถว
 
นี่คือความแตกต่างที่แสดงให้เห็นว่า การคอร์รัปชันนั้นก็มีการ “ยกเว้น” หรือยังมี “บางหน่วยงาน” ที่สามารถคอร์รัปชันกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือจะว่าเป็นองค์กรที่อยู่ “เหนือกฎหมาย” ก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่
 
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาลำดับให้เห็น เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการแถลงผลงานการแก้ไขปัญหาไฟใต้ โดยมีความเชื่ออันเป็นเหมือนบทสรุปเช่นเดียวกับแม่ทัพภาคที่ 4 ทุกคนที่ผ่านๆ มาคือ
 .
“เราเดินมาถูกทางแล้ว”
 .
โดยมีตัวเลขว่าในปี 2561 เหตุร้ายลดลง 35.18% สถานการณ์ความรุนแรงในภาพรวมก็ลดลงและมีการพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการใช้กำลัง 775 ชุด “ชป.จรยุทธ์” เข้าปฏิบัติการในหมู่บ้านร่วมกับผู้นำ 4 เสาหลักเพื่อกำจัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เพื่อทำลายแหล่งพักพิงควบคู่กับการสร้างความเข้าใจกับประชาชน
 
ในด้านการแก้ปัญหายาเสพติด มีการนำโมเดล Camp มาใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจับกุมได้ถึง 4,709 คดี ได้ผู้ต้องหาถึง 5,256 คน ยึดทรัพย์ได้กว่า 56 ล้านบาท และกำลังดำเนินการต่อในเรื่อง “2 แชะอัตลักษณ์” หรือมาตรการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย เพื่อเป็นการทำลายเครือข่ายการสื่อสารโดยการใช้โทรศัพท์มือถือในการก่อวินาศกรรมของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
นั่นคือมุมมองของแม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบันที่นำเอาผลงานทั้งหมดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 มาแจกแจงให้ประชาชนได้ทราบว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งได้ใช้ความรู้และความสามารถอย่างเต็มที่ในการที่จะดับไฟใต้ โดยสามารถทำให้การก่อเหตุหรือการเกิดเหตุน้อยลงกว่าปี 2561 และในเรื่องของ “ยาเสพติด” ก็มีการจับกุมได้เป็นจำนวนมาก
 
ส่วนมุมมองของคนในพื้นที่จะเห็นด้วยกับ “แม่ทัพ” ที่เห็นว่า “เดินมาถูกทางแล้ว” หรือไม่ นั่นก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพราะความรู้สึกของชาวบ้านยังมองว่าถ้ายังมีเหตุ “ตายรายวัน” มี “ระเบิดแสวงเครื่องรายวัน” แล้ว “คนไทยพุทธ” ยังเป็นเหยื่อสถานการณ์และยังมีการทิ้งถิ่น วัดยังร้างพระ พระยังต้องบิณฑบาตด้วยการคุ้มกันของทหาร ขณะที่ยังต้องทำพิธีเวียนเทียนกลางวัน สวดศพกลางวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ายังห่างไกลจากสันติสุข
 
โดยข้อเท็จจริง การแผลงผลงานคือ การนำตัวเลขของการก่อเหตุที่ลดลง และตัวเลขของการจับกุมคนร้ายที่เพิ่มขึ้นมาโชว์ แต่การก่อเหตุที่น้อยลงก็ไม่ได้หมายความว่าบีอาร์เอ็นฯ อาจจะมีกำลังถดถอย และสถานการณ์จะดีขึ้นอันเนื่องจากการทำงานหนักของแม่ทัพภาคที่ 4 รวมถึงมาตรการลาดตระเวนเพื่อจำกัดเสรีภาพของแนวร่วมของกำลังพลในพื้นที่ ซึ่งนั่นยังไม่น่าจะใช่สิ่งบอกเหตุว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว”
 
เพราะแนวร่วมขบวนการในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อการร้ายอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดความสูญเสียและสร้างพื้นที่ก่อเหตุ ดังจะเห็นได้จากการ “ฆ่ากองกำลังท้องถิ่น” เพื่อ “เก็บอาวุธ” ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงการตอบโต้เอาคืนเจ้าหน้าที่ด้วยการ “ฆ่าไทยพุทธ” ยังเป็นวิธีการที่ทำได้และได้ผลในการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐให้ลดปฏิบัติการต่อเป้าหมายในการตรวจค้นและจับกุม
 
ที่สำคัญแม้ว่าจะมีการจับกุมแนวร่วมได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีคนหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่ถูก “บ่มเพาะ” ให้เข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยที่ไม่ได้หวั่นเกรงว่าจะถูกจับกุมหรือถูกวิสามัญแต่อย่างใด ขณะที่ปอเนาะ ตาฎีกา โรงเรียนสอนศาสนาอีกจำนวนหนึ่งก็ยังเป็นแหล่ง “เพาะพันธุ์” ในการสร้างนักปฏิวัติ นักรบ เพื่องาน “การเมือง” และ “การทหาร” ของขบวรการบีอาร์เอ็นฯ
 
สิ่งที่ทำอยู่และเป็นผลงานที่ชัดเจนคือ การตรวจค้นและจับกุมตามหมายจับ วิสามัญผู้ที่ต่อสู้ หรือมีบางส่วนวิ่งหนีการจับกุมไปได้ แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือ การทำลาย “โครงสร้าง” ในพื้นที่ที่มีอยู่ 6-7 ด้านที่เป็นโครงข่ายสำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อันถือเป็น “เส้นเลือดหลัก” ในการหล่อเลี้ยงขบวนการ เช่น เส้นทางการเงิน กองกำลังเยาวชน กองกำลังสตรี และอื่นๆ ยังไม่สามารถที่จะ “เข้าถึง” และ “ทำลาย” ให้หมดไปได้
 
เพราะตราบใดที่โครงสร้างในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นฯ ยังอยู่ครบ โดยเฉพาะเครือข่ายการบ่มเพาะคนหนุ่มสาวเข้าสู่ขบวนการ สถานที่เพาะพันธุ์ยังไม่ถูกทำลาย ยังสามารถเพิ่มแนวร่วมในพื้นที่ให้ไปประสานกับ “แกนนำ” ของบีอาร์เอ็นฯ ในประเทศมาเลเซีย เพื่อรับคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ต่อเนื่อง การจะบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นย่อมไม่ใช่ความจริง
 
อย่าลืมว่าที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยสงบมานานกว่า 15 ปี เป็นเพราะส่วนบัญชาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนล้วนอยู่ในประเทศมาเลเซีย ถ้าแกนนำหรือส่วนบัญชาการยังมีที่มั่นที่มั่นคงและแข็งแรง โครงสร้างยังมีความเข้มแข็ง ที่สำคัญยังมีประเทศที่เป็นที่มั่นในการให้การสนับสนุนอย่างที่เป็นอยู่ สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมไม่มีวันที่สงบ
 
ความจริงแล้วแทบทุกฝ่ายเห็นใจแม่ทัพภาคที่ 4 และกำลังพลในพื้นที่ที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยกันต่อไป ทั้งในเรื่องของพิษภัยจากไฟใต้และภัยแทรกซ้อน เพราะที่ทำกันทุกวันนี้คือการแก้ปัญหาที่ “ปลายเหตุ” ทั้งสิ้น
 
และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 หรือนับแต่นี้ไป การทำหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 ก็อาจจะไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะ “หมดยุค คสช.” ที่กองทัพเป็นผู้ใช้อำนาจแต่เพียงผู้เดียว โดยกลับมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนให้ ส.ส.ได้ใช้เป็นเวทีในการแก้ปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะกับปัญหาไฟใต้ การที่จะทำอะไรแบบ “ตามอำเภอใจ” จึงยากขึ้น
 .
ประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรต่างๆ ที่เคยถูก ม.44 ใช้ “กำปั้นเหล็ก” อุดปากไว้กว่า 5 ปี ก็จะกลับมามีเสียงดังขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทั้งรัฐบาลและกองทัพจะต้อง “สำเหนียก” ให้เป็น
 .
บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมานั่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่มีอำนาจ “ชี้เป็นชี้ตาย” เหมือนเคยเป็นหัวหน้า คสช. และแม้แต่ ศอ.บต.ที่ถูกทหารกดทับมานานก็อาจจะกลับมา “มีฤทธิ์เดช” ที่ทำให้อำนาจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เหมือนเดิม
  


กำลังโหลดความคิดเห็น