xs
xsm
sm
md
lg

สพป.ยะลา เขต 3 เดินหน้าตรวจสอบเฝ้าระวังการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - สพป.ยะลา เขต 3 เดินหน้าจัดทีมงานลงตรวจสอบเฝ้าระวังการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันเชิงประจักษ์ในสถานศึกษาพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

วันนี้ (10 ก.ค.) นายโกมุท รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 เดินหน้าลงตรวจเยี่ยมติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย สพฐ. 9 ประเด็น และตรวจสอบโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 5 โรง ประกอบด้วย ร.ร.บ้านใหม่ (วันครู 2503) ร.ร.บ้านปะเด็ง ร.ร.บ้านอัยเยอร์เวง ร.ร.บ้านธารมะลิ และ ร.ร.บ้านวังใหม่ (ประชาอุทิศ 2519) พร้อมจัดทีมงานลงตรวจสอบเฝ้าระวังการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันเชิงประจักษ์สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด เน้นคุณภาพอาหารต้องครบ 5 หมู่ตามโปรแกรม Thai School Lunch ปริมาณอาหารต้องเพียงพอต่อจำนวนนักเรียน กระบวนการจัดหาวัตถุดิบต้องมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด อุปกรณ์ประกอบอาหารต้องสะอาด จัดเก็บในที่เหมาะสม และเอกสารหลักฐานการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีความถูกต้องเป็นปัจจุบัน
 

 
นายโกมุท รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 กล่าวว่า ตามที่ สพฐ. มีนโยบายจุดเน้นในการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิภาพ และลงตรวจสอบทุกโรงเรียนนั้น ในส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเดินหน้าแบ่งทีมงานออกเป็น 4 ชุด เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังโรงเรียนตามโซนศูนย์เครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้ง 6 ศูนย์ จำนวน 32 โรงเรียนในอำเภอเบตง และธารโต ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เน้นตรวจสอบเชิงประจักษ์ ร่องรอยเอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย จัดซื้อจัดจ้าง สอบถามผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้โรงเรียนและนักเรียน

จากการสอบถาม พบว่า โรงเรียนดำเนินการเป็นไปตามหลักทุพโภชนาการ ยึดเมนูตามโปรแกรม Thai School Lunch เป็นหลัก มีการจัดทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างเป็นปัจจุบัน และฝากเน้นย้ำความสะอาดด้านสถานที่ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร เช่น น้ำอุปโภคบริโภค ที่ล้างจาน ที่คว่ำจาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ได้ติดตามนโยบาย สพฐ. 9 ประเด็น รับฟังการนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายของโรงเรียนบ้านปะเด็ง พบว่า โรงเรียนสามารถรักษามาตรฐานการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในระดับเป็นที่พอใจมาก มีการพัฒนานวัตกรรมและนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ PADENG MODEL
 

 
ส่วนโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง พบว่า มีการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active learning โดยการสอนบูรณาการสะเต็มศึกษา ส่งเสริมการมีงานทำ มีอาชีพสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่สำคัญความก้าวหน้าในการพัฒนาบันได 4 ขั้น MODEL แก้ไขการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นด้วยการแจกลูกให้ผูกจำ อ่านคำ ย้ำวิถี คัดลายมือซ้ำอีกที เขียนคำบอกทุกชั่วโมง รวมถึงโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่พัฒนาถังขยะพูดได้เมื่อนักเรียนทิ้งขยะลงถังจะมีเสียงพูดว่า ขอบคุณค่ะ/ขอบคุณครับ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เรียน ตลอดจนจักรยานรดน้ำต้นไม้ ภายใต้กิจกรรมเกษตรในโรงเรียนสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน

อย่างไรก็ตาม ฝากโรงเรียนได้พิจารณาการจัดทำ MOU กับหน่วยงานการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพของผู้เรียน สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของรัชกาลที่ ๑๐ การจัดทำฐานข้อมูล Big Data ของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และให้ผู้บริหารสถานศึกษาปรับวิธีการทำงานใหม่ด้วยการสังเกตการสอนในห้องเรียน ลงเยี่ยมชั้นเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นต่อไป
 



กำลังโหลดความคิดเห็น