xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดินลงตรวจสอบการดูดทรายในตรัง ก่อนสั่งแก้ไขให้เสร็จใน 120 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ ลงตรวจสอบการดูดทรายในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าบางแห่งมีการกระทำผิดกฎหมาย ก่อนสั่งแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

วันนี้ (25 มิ.ย.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการดูดทรายในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการดูดทรายทำให้ตลิ่งทรุดพังเสียหาย รวมทั้งถนนทรุดเสียหายจากการขนทราย และคอสะพานชำรุด ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว มีบ่อทรายทั้งหมด 6 บ่อ ประกอบด้วย หมู่ที่ 5 ต.โพรงจระเข้ จำนวน 1 บ่อ หมู่ที่ 1, 6, 8 ต.ในควน จำนวน 3 บ่อ และหมู่ 5 ต.หนองบ่อ จำนวน 2 บ่อ ซึ่งทั้งหมดดำเนินการในที่ดินกรรมสิทธิ์ และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีทำเลที่ตั้งทั้งหมดอยู่ติดกับคลองลำพิกุล แม่น้ำสายสำคัญของ อ.ย่านตาขาว และ อ.นาโยง ซึ่งขนาดความกว้างและความตื้นของคลองลำพิกุลมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จากการประกอบกิจการดังกล่าว จากการรับฟังข้อเท็จจริงและร่วมตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า ผู้ประกอบการบางรายรวมทั้งของนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ มีการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงงาน และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขุด ตัก ลอก หรือดูดทราย หรือดินในที่ดินกรรมสิทธิ์สำหรับใช้ในการก่อสร้าง
 

 
เช่น ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันเริ่มการประกอบกิจการ มีการเลิกประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีการแจ้งเจ้าพนักงานให้ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนจะเลิกประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงมีระยะห่างจากขอบบ่อกับคลองลำพิกุล ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องไม่น้อยกว่า 15 เมตร จึงทำให้บางบ่อส่งผลต่อทิศทางการไหลเวียนของน้ำ หรือไม่จัดทำเครื่องหมายเพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น จึงมีการสั่งให้ระงับการกระทำ และเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย พร้อมสั่งการให้ดำเนินการแก้ไข

โดยก่อนหน้านี้ ทางคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงมาตรวจสอบการดูดทรายในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นทางคณะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น ซึ่งที่ประชุมรับทราบถึงการดำเนินการที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรมในเรื่องของการดูดทราย จึงมีการเสนอแนวทางว่าควรใช้หลักการปฏิบัติบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจบ่อทรายต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดอีก
 

 
รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับเงื่อนไข และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาอนุญาตว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร โดยให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้สำนักงานที่ดิน ร่วมกับเจ้าของผู้ประกอบการดูดทราย ยื่นทำการสอบรังวัดแนวเขตกรรมสิทธิ์ รวมทั้งแนวเขตของคลองลำพิกุล เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยให้ผู้ประกอบการทำป้ายปักแสดงแนวเขตให้ชัดเจน รวมทั้งทำคันดินกั้นระหว่างพื้นที่กรรมสิทธิ์กับลำคอลง หรือที่ดินสาธารณะ ป้องกันความเสียหายที่เกิดกับทรัพยากร

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากการตรวจสอบคอสะพาน รวมทั้งถนนในพื้นที่ ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว ที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าคอสะพานทรุดเนื่องจากผลกระทบการดูดทรายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2560 ส่วนถนนทางหลวงไม่ได้รับผลกระทบอย่างใด แต่พบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ และเกิดความเสียหายต่อทรัพยากร จึงสั่งการให้ทางจังหวัดเร่งดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขบริเวณสะพานให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาโครงสร้างทรุดจากน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีก และยังสั่งให้คณะกรรมการแต่ละอำเภอและทางจังหวัดไปตรวจสอบบ่อดูดทรายอย่างละเอียดว่า ยังมีการลักลอบทำบ่อทรายเถื่อนหรือไม่
 

 
พร้อมกับให้อุตสาหกรรมไปตรวจสอบทางวิศวกรรมในแต่ละพื้นที่กำหนดปริมาณการดูดทรายให้เหมาะสมกัต่อพื้นที่ ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบเก็บข้อมูลรายเดือน เพื่อป้องกันการดูดทรายโดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติ สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรโดยรวม เพราะที่ผ่านมา ทำความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรที่พังทลาย รวมทั้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่ สำนักงานที่ดิน ในการตรวจสอบรังวัดทำแนวเขตพื้นที่ให้ชัดเจนก่อนการเสนอขอออกใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมา ยื่นเพียงแค่เอกสารหลักฐานทางที่ดินก็มีการออกใบอนุญาตให้แล้ว จึงเกิดปัญหาการดูดทรายรุกลำไปในแม่น้ำ ลำคลอง จนสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จะให้เวลาแก่ผู้ประกอบการบางรายที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับจังหวัดตรัง เมื่อปี 2561 เคยเกิดข่าวสารทางสื่อมวลชนอย่างครึกโครมมาแล้ว เรื่องปัญหาการลักลอบดูดทรายในที่ดินสาธารณะลำคลองต่างๆ รวมทั้งปัญหาการดูดทรายในที่ดินกรรมสิทธิ์ แต่ดูดล้ำลงไปในลำคลอง รวมทั้งมีบ่อทรายเถื่อนดำเนินการกิจการโดยไม่ได้ขออนุญาต สาเหตุเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการกับเจ้าของกิจการ จึงทำให้ทางจังหวัดต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง จึงทำให้ในขณะนี้ปัญหาการลักลอบดูดทรายเถื่อนแทบจะหมดไป พบแต่การฝ่าฝืนกฎหมายหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงงาน และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ในบางเรื่องแทน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น