xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนส่งมอบโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์ หลังพบติดปัญหาต้องสอบเด็กตามหลักสิทธิเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
สตูล - เลื่อนส่งมอบชาวโรฮิงญา พบติดปัญหาต้องสอบเด็ก ในประเด็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามหลักสิทธิเด็ก ด้านกรรมการอิสลามจี้ทางการไทยช่วยดูแลชนกลุ่มน้อย และให้สิทธิความเป็นมนุษย์

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล เจ้าหน้าที่ยังคงรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่พักของชาวโรฮิงญา จำนวน 45 คน และจุดสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 20 คน

หลังจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 ได้ตรวจพบเรือประมงไม่พบสัญชาติ จอดติดโขดหินบริเวณริมอ่าวตะโละปะเหรียญ เกาะราวี ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมทั้งควบคุมตัวคนไทย 1 คน ชาวพม่าอีก 5 คน ดำเนินคดี หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น

โดยกลุ่มชาวโรฮิงญา ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อยู่ที่กองร้อย ตชด.436 และ ตม.สตูล เป็นการชั่วคราว จากกรณีดังกล่าวได้ครบกำหนดศาลสั่งคุ้มครองในวันนี้ แต่การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากล่ามในการแปลภาษามีเพียงคนเดียว ทำให้ต้องเลื่อนวันส่งตัวชาวโรฮิงญาไปเป็นวันพรุ่งนี้ เพื่อเดินทางไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ บ้านศรีสุราษฏฎร์ จ.สุราษฎร์ธานี และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
 

 
ส่วนเรือที่คนไทยใช้ในการลำเลียงชาวโรฮิงญามานั้น ขณะนี้ยังจอดเกยหาดหินเกาะราวี เนื่องจากอยู่ในสภาพเสียหาย ไม่สามารถลากเข้าฝั่งได้ สำหรับแนวทางการสืบสวนยังพบว่า เรือลำดังกล่าวเป็นเรือที่เคยอยู่ในพื้นที่ จ.สตูล ชื่อเดิม “ธีระคาโก้” และถูกชาวพม่าซื้อไปอยู่ที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2561 โดยลบชื่อเก่าออก และเปลี่ยนมาเป็น “KF 1298” ตรวจสอบบนลำเรือพบเครื่องทำน้ำจืด ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และยังพบข้าวสารอีก จำนวน 5 กระสอบ เชื่อว่าใช้ในการเลี้ยงคนบนเรือจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าเรือถูกแปรสภาพ ใต้ท้องเรือเป็นที่บรรจุคนเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ซึ่งการข่าวยังพบว่าคนไทยที่ถูกจับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของ “โกมิก” จ.ระนอง ที่ต้องคดีค้ามนุษย์ในปี 2558

สำหรับแนวทางการสอบสวนที่ล่าช้า เนื่องจากเป็นการสอบปากคำเด็กชาวโรฮิงญา เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายในการร่วมสอบปากคำ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิเด็ก พร้อมทั้งล่ามแปลภาษามีเพียงคนเดียว ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องทำกันชนิดหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ยังไม่ทันตามกำหนด ซึ่งเชื่อว่าพรุ่งนี้เช้าจะส่งทั้งหมดไปตามจุดพักพิงได้

นายอรุณ อุมาจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสตูล ยอมรับว่า ปัญหานี้มีมายาวนาน และยากที่จะแก้หากหลายฝ่ายไม่ช่วยกัน ทางการไทยก็ช่วยเหลือเต็มที่อยู่แบบนี้ จนบางครั้งอาจกลายเป็นแพะเสียเอง ก็ได้แต่ฝากให้เจ้าหน้าที่ไทยดูแล และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยทางคณะกรรมการอิสลามเองก็จะร่วมปรึกษาหารือ ในเวลาคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยบรรจุเข้าไปอยู่ในวาระเร่งด่วน เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยที่จะมีการประชุมอาเซียนในเร็ววันนี้ ซึ่งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต้องหารือพูดคุยกันในการแก้ปัญหา เพราะพม่าเองดูๆ แล้วน่าจะไม่ยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
 




กำลังโหลดความคิดเห็น