xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องร่วมผลักดัน “พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์” ให้เป็นจริง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้  /  โดย... ไมตรี จงไกรจักร ที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเลอันดามัน มูลนิธิชุมชนไท
 

   
“ชาวเลอันดามัน” ซึ่งประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ตามขอบแดนประเทศไทยฝั่งอันดามันทั้ง ๕ จังหวัดภาคใต้ โดยในหอจดหมายเหตุต่างๆ บันทึกไว้ว่า การกำหนดขอบเขตประเทศไทยในอันดามัน ชาวเลมีส่วนสำคัญ เช่น เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา โดยมีเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นเมืองหลวงของอูรักลาโว้ย เป็นต้น
 
ชาวเลอันดามันกลายเป็นผู้ไร้สิทธิในที่ดิน ไร้ถิ่นหาปลา และชายหาดที่เคยนอน ประกอบพิธีกรรม จอดเรือ ซ่อมเรือ หาหอย หาปลา ชายหาดเหล่านั้นกลับไม่เหลือให้ชาวเลอีกต่อไป ซึ่งเกิดจากนโยบายและกฎหมายที่กลุ่มบุคคลผู้กุมอำนาจรัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น เช่น นโยบายการท่องเที่ยวและกฎหมายที่ดิน ซึ่งชาวเลไม่เคยรู้และไม่เข้าใจว่า พื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยมาแต่โบราณต้องไปแจ้งการครอบครองกับรัฐ เพื่ออกเอกสารสิทธิที่ดิน 
 
แต่ชาวเลไม่เคยคิด ไม่เคยรู้ หรือไม่เคยเชื่อเลยว่ากฎหมายได้กำหนดให้แผ่นกระดาษถูกใช้เป็นหลักฐานการได้สิทธิครอบครองที่ดินของพวกเขาได้ และสามารถทับอยู่บนกระดูกบรรพบุรุษที่ฝังอยู่ใต้ถุนบ้านหรือข้างบ้านตัวเองได้ หรือแม้แต่ทะเลที่เคยหาปลา ชายหาดที่เคยนอน ยังกลับถูกทำให้กลายไปเป็นทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวแต่เพียงฝ่ายเดียว จนชาวเลไม่มีแม้พื้นที่หากินอย่างอิสระอีกต่อไป
 
ชาวเลลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ออกมาส่งเสียงบอกเล่าเรื่องราวชีวิต รวมถึงความต้องการที่จะเป็นมนุษย์กลุ่มสุดท้ายในอันดามัน ซึ่งจะยังคงต้องการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มตัวเอง ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม การหากินที่อยู่คู่กับทรัพยากรทางทะเล โดยไม่เคยทำลายล้างทรัพยากรเหล่านั้นเลย
 


 
จากงานวิจัยของหลายสถาบัน และการบันทึกพื้นที่ที่ชาวเลเคยหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ในอดีตของชาวเลโดยกระทรวงทรัพย์ ปรากฏว่า ปัจจุบันพื้นที่หากินเหล่านั้นชาวเลไม่สามารถเข้าไปหาปลากินได้อีกเลย
 
ชาวเลอันดามันลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดเขตคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ก่อนที่ชาวเลกลุ่มสุดท้ายในอันดามันกว่า 14,000 คนเท่านั้นจะสูญสิ้นไป จนรัฐบาลยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และให้กำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเลให้เกิดขึ้นใน 3 ปี
 
แต่หลังมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติน้อยมาก แถมยังส่งผลให้วิถีชีวิตชาวเลยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น หลังมีมติคณะรัฐมนตรี ชาวเลยังคงถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาการดำน้ำจับสัตว์น้ำในเขตพื้นที่เกาะแก่งต่างๆ ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์ทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางกรณีเพียงขับเรือผ่านขอบเขตเหล่านั้น บางกรณีชาวเลเข้าไปจอดเรือขึ้นฝั่ง บางกรณีชาวเลเข้าไปจอดเรือเพื่อรักษาตัวโรคน้ำหนีบ แต่ทุกกรณีก็กลับกลายเป็นผู้ต้องหาบุกรุกเขตอนุรักษ์ทั้งสิ้น
 
ชาวเลไม่เคยหยุดการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตตนเองเลย จนสามารถผลักดันให้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 70 ได้บรรจุข้อความไว้ว่า การพัฒนาต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
 

 
แต่คงไม่มีอะไรสามารถรับรองได้ เพราะประเทศไทยให้ความสำคัญต่อกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศต่างๆ อย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งแม้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือถึงขั้นจะมีบรรจุให้มีในรัฐธรรมนูญก็ตาม ชาวเลจึงยังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไกลๆ แบบไกลสุดลิบตาเท่านั้น ปัญหาต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แบบแทบจะไม่มีกฎหมายรับรองใดๆ
 
“ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร” ซึ่งเป็นเหมือนหน่วยงานหลักในการติดตามและขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงปี 2553 จึงได้จัดเวทีทบทวนมติคณะรัฐมนตรีขึ้น เพื่อการทบทวนความคืบหน้าและสถานการณ์​กลุ่มชาติพันธุ์​ ชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง-ชาวเล หลังมติ ครม.ได้ประกาศเมื่อ พ.ศ.2553 ให้มีการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิต 10 เรื่องให้ครอบคลุมทุกมิติของการแก้ปัญหาและพัฒนา ซึ่งมีความแตกต่างกันในระดับปฏิบัติ และก็เป็นผลที่มีส่วนสำเร็จบ้างแค่ช่วงแรก
 
แต่ตั้งแต่ พ.ศ.2557 สถานการณ์​เจ้าหน้าที่ไม่นำมติ ครม.ชาวเล หรือมติคณะกรรมการตามมติ ครม.ชาวเลไปปฏิบัติให้เกิดผลรูปธรรมทุกเรื่อง
 
กรณีที่ยังมีปัญหาพิพาท กลับให้ความสำคัญต่อกฎหมายและนโยบายที่เป็นต้นเหตุ แม้จะยังมีเจ้าหน้าที่จริงใจหรือจริงจังบ้าง แต่กฎหมายไม่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ หรือหากเจ้าหน้าที่เข้าช่วยก็ทำได้ไม่เต็มที่ แต่ก็มีหลายเรื่องที่เป็นการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กร และบางช่วงหน่วยงานที่เข้าใจก็ขยับไปได้ แต่ไม่เคยไปได้แบบสุดๆ
 

 
ดังนั้น จึงเกิดเป็นเป้าหมายการเตรียมประกาศเขตพื้นที่นำร่อง และเตรียมยกร่างเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่ม​ชาติพันธุ์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือของทุกภาคส่วนในการยกระดับในการคุ้มครองพื้นที่และวัฒนธรรมให้เกิดความยั่งยืนให้แก่กลุ่ม​ชาติพันธุ์​- ชนเผ่าพื้นเมือง
 .
พื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ อนุรักษ์​ชาติพันธุ์​ ทำไมต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ?!
 .
ผู้นำฝ่ายความมั่นคงในไทยไม่เคยอยากยอมรับว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ทำให้การปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์​และชน​เผ่า​พื้นเมือง ​ได้กลับตรงกันข้ามกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีการละเมิดสิทธิและคุกคามพื้นที่ดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์​และชนเผ่า​พื้นเมือง​ด้วยการเขียนกฎหมาย ออกนโยบายมากำหนดควบคุมอย่างไม่เอื้อ และไม่สอดคล้องต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตที่มีสืบต่อกันมานับร้อยปี
 .
ทำไมต้องอนุรักษ์​คุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์?!
 .
ความจริงแล้ววัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรม​ที่ถูกยกให้เป็นพิเศษกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีอยู่ แต่เพราะเป็นวัฒนธรรม​ที่กำลังเปราะบาง ต้องยกขึ้นมาคุ้มครองเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ แล้วเกิดการส่งเสริมให้เข้มแข็ง ให้มีสิทธิดำรงอยู่กับพื้นที่อย่างสอดคล้องและยั่งยืน
 


แล้วเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดนั้น สังคมควรต้องทำอย่างไร?!
 .
สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ตั้งคณะทำงานที่มีศักยภาพและมีส่วนที่เกี่ยวของขึ้นมารับผิดชอบ เริ่มจากคนที่คุยกันรู้เรื่อง ทำแผนพูดคุย แบ่งบทบาทและจัดให้มีลงพื้นที่เชื่อมร้อยอย่างต่อเนื่อง จากนั้นขยายสู่วงกว้างทุกมิติตามเวลาที่ได้กำหนด ในระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์​
 
โดยมี 3 ภารกิจที่เครือข่ายและภาคีต้องเรียนรู้ ส่งเสริม อนุรักษ์​ คุ้มครองชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์​-ชน​เผ่า​พื้นเมืองในสำคัญๆ ดังนี้ 1.ที่อยู่อาศัย (พื้นที่ชุมชนอาจมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย) 2.ที่ทำกินทั้งบนบกและในทะเล (รวมถึงพื้นที่ธรรมชาติพึ่งพาหากิน) 3.ที่ทาง​จิตวิญญาณ​ อันประกอบด้วย พื้นที่สถิตบรรพบุรุษ สุสาน พื้นที่พิธีกรรมและประเพณี
 
ชาวเลกลุ่มสุดท้ายยังคงต้องลุกขึ้นสร้างสุขให้ชุมชน เครือข่าย ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เพื่อบอกกล่าวให้สังคมเข้าใจในวิถีชีวิต และร่วมผลักดันให้เกิดการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่คู่กับทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด เพราะรัฐมีเพียงนโยบายการพัฒนาที่เอื้อให้แก่ทุน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความหลากหลายของสังคมไทย
 
ในส่วนของสังคมก็จำเป็นต้องร่วมกันส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วทำให้มีกฎหมายที่คุ้มครองมนุษย์ขึ้นมาบ้างในประเทศไทย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น