xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรสงขลาเร่งจัดทำข้อมูล และวางแผนแนวทางบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ปี 2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เร่งจัดทำข้อมูล และวางแผนแนวทางบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2562

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญของประเทศไทย ในปี 2561 มีพื้นที่ให้ผลผลิต 1,021,635 ไร่ ผลผลิตรวม 519,385 ตัน แยกเป็นทุเรียน มีพื้นที่ให้ผลผลิต 466,555 ไร่ ผลผลิตรวม 304,267 ตัน มังคุด มีพื้นที่ให้ผลผลิต 244,918 ไร่ ผลผลิตรวม 100,364 ตัน เงาะ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 94,087 ไร่ ผลผลิตรวม 71,884 ตัน และลองกอง มีพื้นที่ให้ผลผลิต 216,075 ไร่ ผลผลิตรวม 42,870 ตัน

ซึ่งสถานการณ์การผลิตไม้ผลในแต่ละปีแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ ปีที่มีผลผลิตออกมากทำให้ราคาตกต่ำ ในการบริหารจัดการผลไม้ให้มีประสิทธิภาพ ต้องจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต โดยการสำรวจ และจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างละเอียด และข้อมูลการตลาด เพื่อนำมาวิเคราะห์ และวางแผนการบริหารจัดการผลไม้ปี 2562
 

 
น.ส.ศิริกุล ศรีแสงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2562 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 เพื่อร่วมกันจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต วิเคราะห์สถานการณ์การออกดอกของผลไม้ และการกระจายผลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2562

โดยมีผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผล จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 และ 9 ผู้แทนสถาบันเกษตรกรภาคใต้ตอนบน และตอนล่าง ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร และนครศรีธรรมราช ผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รวมผู้เข้าประชุม จำนวน 39 คน
 

 
สำหรับการสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2562 ปัจจุบัน พบว่าผลไม้ในภาคใต้มีมีพื้นที่ให้ผลผลิต 1,000,516 ไร่ ผลผลิตรวม 743,265 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 223,880 ตัน แยกเป็น ทุเรียน มีพื้นที่ให้ผลผลิต 501,845 ไร่ ผลผลิตรวม 445,220 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 140,954 ตัน มังคุด มีพื้นที่ให้ผลผลิต 239,977 ไร่ ผลผลิตรวม 156,118 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 55,754 ตัน เงาะ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 83,546 ไร่ ผลผลิตรวม 69,371 ตัน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 2,513 ตัน และลองกอง มีพื้นที่ให้ผลผลิต 175,148 ไร่ ผลผลิตรวม 72,556 ตัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 29,686 ตัน โดยภาคใต้ผลผลิตทุเรียนจะออกมาช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ผลผลิตมังคุดจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 ผลผลิตเงาะจะออกมากช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 ผลผลิตลองกองจะออกมากช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562
 

 
นายสุพิท จิตรภักดี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ใช้แนวทางที่คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้เห็นชอบ คือ การบริหารจัดการเชิงคุณภาพทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเก็บเกี่ยว เน้นการจัดการ และพัฒนาด้านคุณภาพเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และมีคุณภาพดี ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลไม้ที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการตลาด และการเพิ่มมูลค่าผลผลิต และระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ตกเกรด ในส่วนของการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ดำเนินการในระยะก่อนเก็บเกี่ยว

โดยการสำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การเลือกซื้อผลไม้ที่มีการรับรองคุณภาพ และระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดภายในประเทศ ได้แก่ จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ตลาดกลาง ผ่านช่องทางสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน พาณิชย์จังหวัด Modern trade และการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆ และมีผลผลิตบางส่วนจำหน่ายในต่างประเทศ และแปรรูป โดยมีคณะกรรมการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นผู้วางแผนบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ
 



กำลังโหลดความคิดเห็น