xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านอ่วม! นักวิจัย สกว.ฟันธง รับผลกระทบปลด “ใบเหลืองอียู” ซุกปัญหาใต้พรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก waymagazine.org
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นักวิจัยโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการยุติธรรม” เผยเหตุผลที่ไม่ควรดีใจ หลังประมงไทยได้รับปลดใบเหลืองจากอียู ชี้ประมงพื้นบ้านอ่วม รับผลกระทบจากกฎหมายเหมารวมเอาใจอียู โดยไม่เอาหลักประมงขนาดเล็กของยูเอ็นมาพิจารณาร่วมด้วย ย้ำปัญหายังถูกซุกไว้ใต้พรม

วันนี้ (7 พ.ค.) เว็บไซต์ waymagazine.org ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายไพสิฐ พาณิชย์กุล รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปและกฎหมาย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการที่สหภาพยุโรป (อียู) ปลดล็อกใบเหลือง เพิกถอนประเทศไทยจากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือนทำการประมงผิดกฎหมาย โดยพาดหัวว่า “ไพสิฐ พาณิชย์กุล : เหตุผลที่เราไม่ควรดีใจ หลังประมงไทยได้รับการปลดใบเหลือง IUU” โดยบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ระบุว่า หนังสือพิม์และสำนักข่าวออนไลน์ต่างพาดหัว ประมงไทยเฮ แต่สำหรับนายไพสิฐ ที่ลงพื้นที่กว่า 4 ปี ศึกษาปัญหาร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐในช่วงปรับปรุงกฎหมายประมงเพื่อปลดใบเหลือง ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการยุติธรรม สนับสนุนโดย สกว. กลับตั้งคำถามถึงเสียงเฮดังกล่าว

นายไพสิฐ บอกว่า เป็นเรื่องที่หัวเราะทั้งน้ำตา การถูกปลดใบเหลืองมีผลบวกต่อภาพลักษณ์ประเทศ แต่สิ่งที่เราต้องสูญเสียไปคือ วิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐออกกฎหมาย ทำให้หลายคนสูญเสียอาชีพ หลายครอบครัวแตกแยก หลายชุมชนแตกสลาย นี่เป็นเรื่องที่เราต้องเสียน้ำตาให้ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ การเฮนั้น เป็นการเฮในลักษณะที่รัฐออกมาตรการต่างๆ ออกมา จนทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เราได้ลุกขึ้นมาจัดการจนนานาชาติยอมรับ แต่ปัญหาที่เราซุกไว้ใต้พรม ซุกไว้ในบ้านตัวเอง ใครจะเข้ามาแก้ปัญหาต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการทิ้งเป็นประเด็นสะท้อนกับเสียงเฮนี้ว่า จริงหรือไม่ ที่เราควรจะเฮแบบมั่นใจว่า เราฟื้นฟูระบบประมงที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน
(แฟ้มภาพ)
นายไพสิฐ กล่าวว่า มาตรการทางกฎหมายที่ออกมาในช่วงรัฐบาลทหารสอดคล้องต่อมาตรการกดดันของไอยูยู แต่ส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านจำนวนมาก เช่น การกำหนดให้แรงงานที่ออกเรือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในขณะการทำประมงพื้นบ้านเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ลูกๆ ออกเรือไปกับคนรุ่นพ่อแม่ การกำหนดอายุของแรงงานประมงทำให้กรอบทางกฎหมายสวนทางกับวัฒนธรรมของชาวประมงชายฝั่ง เด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกเรือไม่ได้ ดังนั้น ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดวิธีการจับปลา การอ่านทิศทางลม การอ่านกระแสน้ำ การดูทิศทางน้ำ ก็ไม่ได้ส่งต่อไปยังลูกหลานชาวประมง ในประเทศที่อยู่ในพื้นที่ที่มีชายฝั่ง ภูมิปัญญานี้เป็นภูมิปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้

“รัฐใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องการดูแลทรัพยากรทางทะเลของไอยูยูในการออก พ.ร.ก.ประมง แต่ยูเอ็นก็มีหลักเรื่องการทำประมงขนาดเล็ก ซึ่งมีกติกาอีกแบบ เราไม่ได้เอากติกาของประมงขนาดเล็กมาเขียนใน พ.ร.ก.นี้ด้วย ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านถูกปฏิบัติเหมือนกลุ่มประมงพาณิชย์ ประมงพาณิชย์มีทุนมีศักยภาพ ขณะที่ประมงพื้นบ้านไม่มี และประมงพื้นบ้านก็มีความแตกต่างในวิธีการ” นายไพสิฐ กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น