xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนปาล์มตรังวิกฤตหนักราคาตกต่ำกว่าทุนนาน 2 ปี จี้รัฐหันมาสนใจแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - สมาชิกกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่ใน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เดือดร้อนหนัก เหตุจากราคาที่ตกต่ำยิ่งกว่าราคาต้นทุนมานานถึง 2 ปี จนไม่มีเงินที่จะใส่ปุ๋ยในรอบหน้าแล้ว จี้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาเสียที

วันนี้ (29 เม.ย.) ที่สำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด จ.ตรัง ได้เรียกสมาชิกกลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ในอำเภอห้วยยอด มาประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 6 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด เพื่อถกถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางการพัฒนาพื้นที่กลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ในอำเภอห้วยยอด โดยมี นายมานะ กุญชรินทร์ เกษตรอำเภอห้วยยอด เป็นประธาน

นายฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 6 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด กล่าวว่า กลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ในอำเภอห้วยยอด ซึ่งเดิมมีสมาชิกรวมจำนวน 53 ราย 58 แปลง เนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ แต่ขณะนี้กลับมีสมาชิกลดลงเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ จนทำให้ทุกรายอยู่ในภาวะไม่คุ้มทุน แม้กลุ่มแปลงใหญ่จะมีการบริหารจัดการสวนเพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้ดีเข้าขั้นมาตรฐานการปลูก และการผลิตปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล แต่ขณะนี้สมาชิกก็กำลังได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำอย่างมากเช่นเดียวกัน
 

 
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กำหนดต้นทุนการผลิตปาล์ม อยู่ที่ กก.ละ 3 บาทเศษ ซึ่งหากรวมค่าขนส่งหรือรวมกำไรของเกษตรกรแล้ว จะมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ กก.ละ 4 บาท แต่ราคาขายได้หลุดต่ำลงมาจาก กก.ละ 4 บาท ร่วม 2 ปีแล้ว และชาวสวนทั้งหมดก็ทนขาดทุนมาแล้ว 2 ปีเช่นกัน จนขณะนี้ราคาปาล์มเหลือไม่ถึง กก.ละ 2 บาท ทำให้เป็นอุปสรรคในการรวมกลุ่มประเภทพืชปาล์มน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาล เพราะสมาชิกทุกรายขาดทุนย่อยยับ ถึงขั้นไม่มีเงินซื้อปุ๋ยเพื่อนำมาบำรุงต้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสินค้าการเกษตร สร้างความแข็งแกร่งจากเกษตรกรรากหญ้า และหยุดเรื่องการตกแต่งตัวเลข GDP ระดับประเทศ

เช่นเดียวกับ นางพะยอม วารินทร์สะอาด อายุ 52 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ในอำเภอห้วยยอด กล่าวว่า ขณะนี้พวกตนเกิดความเดือดร้อนอย่างมากจากปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเข้ามาแก้ไข และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เพราะขณะนี้ไม่มีเงินที่จะไปใส่ปุ๋ยแล้ว ทั้งที่ปกติปาล์มแปลงใหญ่จะต้องใส่ปุ๋ยตามแผนบริหารจัดการสวนปีละ 3-4 ครั้ง แต่กลับใส่ได้เพียงปีละ 2 ครั้ง และล่าสุดไม่มีเงินจะใส่ปุ๋ยในรอบที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้กระทบต่อการเติบโตและคุณภาพผลผลิตของปาล์มตามมาในที่สุด
 



กำลังโหลดความคิดเห็น