xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการอิสระฯ ชู 2 ข้อเสนอแก้วิกฤตน้ำแล้งน้ำท่วมเมืองคอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ชูการวางท่อระบายน้ำใหม่ในเมืองและสร้างบ่อพักน้ำ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้ง-น้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช

วันนี้ (27 เม.ย.) นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า น่าแปลกใจที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝั่งตะวันตกเป็นภูเขา ฝั่งตะวันออกเป็นทะเลอ่าวไทย กลับมาเจอปัญหาน้ำแล้งในหน้าร้อน และน้ำท่วมในหน้าฝน คือ เมืองที่มีภูเขาอุดมสมบูรณ์ไม่น่าจะมีน้ำแล้ง และเมืองที่อยู่ติดทะเล ไม่น่าจะมีน้ำท่วม ว่าป๊ะ?!

ปัญหาน้ำแล้งของเมืองนคร น่าจะมีสาเหตุมาจาก ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แบบสมรม (ผสม) น้อยลง ประชาชนใช้พื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมาก นำมาสู่การกักเก็บน้ำได้น้อยลง ยกตัวอย่างที่ชุมชนคีรีวง ก่อนเกิดอุทกภัยใหญ่ ในปี 2531 คีรีวงมี “วังน้ำนับไม่ตรึก” ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เดินขึ้นสวนด้วยเท้าไปชั่วโมงครึ่ง หากมีน้ำป่า เดินลงมาถึงพื้นราบที่คีรีวงก่อนน้ำจะมาถึง นั่นหมายความว่า “วังน้ำนับไม่ตรึก” นั้นเป็นแหล่งพักน้ำอย่างดี หลังอุทกภัย วังน้ำนับร้อยหายไป คลองท่าดีตรงดิ่งเป็นแนวตรงจากภูเขา น้ำไหลปรื๊ด ไหลปรื๊ด ไม่มีอะไรพักน้ำ นอกจากฝายมีชีวิตที่ชาวบ้านไชยมนตรีสร้างไว้ 5 ฝาย

ส่วนปัญหาน้ำท่วมเกิดจาก เมืองนครสร้างขวางทางน้ำ ทั้งถนนและสิ่งปลูกสร้าง กอรปกับระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ดังกล่าวไปหลายครั้งแล้ว (ข่าวอ้างอิง; https://news.thaipbs.or.th/content/259754)

จึงมีข้อเสนอวิธีการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม เมืองนคร แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น คือ 1.แก้ปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุ คือ แก้ปัญหาระบบระบายน้ำในเมืองนคร โดยแก้ไขระบบท่อระบายน้ำใหม่ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของคลองเดิมที่มีกว่า 27 สาย ข้อที่ 2.แทนที่จะทิ้งน้ำลงสู่ทะเล ก็หาที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เช่น สร้างบ่อพักน้ำที่ตำบลบางจาก ตำบลท่าเรือ หรือจุดอื่นๆ ที่เหมาะสม หากทำ 2 ข้อนี้ ดีไม่ดีใช้งบไม่ถึง 9,580 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะทำคลองผันน้ำ (ที่ไม่ได้ศึกษา EIA) ประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปอีก จะได้เอางบไปช่วยที่อื่น

นอกจากนั้นต้องแก้ปัญหาที่รายละเอียดอื่นๆ โดยสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างจริงจัง เช่น 1.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำที่ต้นน้ำ ขอความร่วมมือให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตรบนภูเขาช่วยกันปลูกพืชอุ้มน้ำให้มากขึ้น โดยมีการเข้าไปส่งเสริมหรือสนับอย่างจริงจัง

ข้อที่ 2. เพิ่มจำนวนฝายมีชีวิตที่ใช้ช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม (ชะลอน้ำ พักน้ำ/กระจายน้ำไว้ในดิน/ระบบนิเวศ) ซึ่งนครศรีธรรมราชเป็นต้นแบบของประเทศ ข้อที่ 3. รณรงค์ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นให้เขียวทั้งจังหวัด ทำนครศรีธรรมราชให้เป็นสีเขียว เป็นต้น

การแก้ปัญหาน้ำแล้ง จะส่งผลเกี่ยวข้องต่อเรื่องภาวะโลกร้อน หากมองให้ดีจะต้องทำทั้งระบบ เช่น รณรงค์ส่งเสริมให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใช้น้ำมันดีเซลล์จากน้ำมันปาล์ม คือทุกเรื่องล้วนเกี่ยวพัน เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น