xs
xsm
sm
md
lg

อัด “นิด้า” จัดเวทีสานเสวนา “ยุทธศาสตร์ไฟฟ้าใต้” ซุกวาระ! “โรงไฟฟ้าถ่านหิน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชาวบ้านต่างยกมือหลังตัวแทนถามว่า ใครไม่ได้รับเชิญให้มาร่วมงานสานเสวนา ขอให้ยกมือขึ้น
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นิด้าจัดเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้ ครั้งที่ 1 จ.สงขลา เชิญตัวแทนภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน 60 คน เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่-ตัวแทนชาวบ้านโวย ไม่เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้าร่วม อ้างดูภาพรวมแต่ซุกวาระสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฝ่ายหนุนถ่านหินอ้างความมั่นคงทางพลังงาน เครือข่ายเสนอไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ชี้เอางบสร้างโรงไฟฟ้ามาทำได้ 1 ล้านหลัง รับซื้อไฟฟ้าจากชาวบ้าน สร้างเป็นรัฐสวัสดิการ

วันนี้(23 เม.ย.) ที่ ร.ร.บีพี สมิหลา บีช จ.สงขลา มีการจัดงานสานเสวนา ครั้งที่ 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ ตามที่กระทรวงพลังงานมอบให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ อันสืบเนื่องจากเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 ระหว่างนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงานกับตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ โดยมีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้นำชุมชนเข้าร่วม แต่ไม่ได้เชิญเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและกระบี่ และประชาชนในพื้นที่ทราบว่ามีการจัดงานดังกล่าว จึงเดินทางมาร่วมงาน ทำให้คณะผู้จัดงานต้องจัดเก้าอี้เสริม เนื่องจากที่เตรียมไว้แต่แรกนั้นไม่เพียงพอ โดยตัวแทนเครือข่ายหลายคนได้กล่าวในที่ประชุมถึงการที่ไม่ได้เชิญเครือข่ายและประชาชนมาร่วมงาน ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการจัดงานในวันนี้มาจากการทำเอ็มโอยูร่วมกันของรัฐบาลและตัวแทนเครือข่าย อีกทั้งในเอกสารประกอบการเสวนาระบุถึงเป้าหมายของโครงการว่า เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ภาคใต้ว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากมีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งเปรียบเทียบความเหมาะสมกับสถานที่ตั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา
นายมุสตารซีดีน วาบา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพหรือเปอร์มาตามาส
นายมุสตารซีดีน วาบา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพหรือเปอร์มาตามาส กล่าวว่า เราเริ่มที่จะคัดค้านถ่านหินปลายปี 58 จนปี 59 เราไปขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อมูลว่ามีความผิดไปจากความเป็นจริงในภาคใต้อย่างไร เราเดินเท้าไปพบนายกฯที่สงขลา และไปนั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง จนถูกให้ออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาลไปอยู่หน้ายูเอ็น สุดท้ายเกิดเอ็มโอยูดังกล่าว ปรากฏว่า 1 ปีที่รอคอย เหมือนกับว่าที่พวกเราไปนั่งตรงนั้น กลับไม่ได้รับเชิญให้มาวันนี้ ก็ไม่เป็นไร ทั้งที่เอ็มโอยูเกิดจากเรา แต่วันนี้เรากลับจะมาเริ่มกันใหม่ ยังเจอถ่านหิน

ด้านตัวแทนเครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า การเสนอให้มี SEA ก็เพื่อให้หาทางออกความขัดแย้ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนทบทวนศักยภาพของพื้นที่ใหม่ แต่วันนี้จะกลับเกิดความขัดแย้งตามมา เพราะหนึ่งเชิญจำกัดคน ทำไมต้อง 60 คน ทำไมไม่มีการเชิญเครือข่ายหรือชาวบ้านในพื้นที่ คนเทพา 77,000 กว่าคน ใครได้รับเชิญบ้างไหม ถามคนในห้องนี้ ไม่มีใครได้รับเชิญ ไม่ชอบธรรมกับประชาชน คุณจะเชิญคนสำคัญ ไม่ว่า อบต. หรือคนกินเงินเดิน ประชาชนไม่ใช่บุคคลสำคัญอย่างนั้นหรือ ยังไม่รวมคนสงขลาหรือจังหวัดอื่นในภาคใต้ ทั้งภาคใต้ไม่ควรมีแค่ 4 เวที ต้องกลับไปคิดทบทวนใหม่ให้คนใต้ได้คิดมากที่สุด ไม่ใช่รีบส่งรายงานให้รัฐบาล ควรคิดให้มากกว่านี้ ทางเลือกของภาคใต้ คือ ต้องการโซล่าเซลล์ น่าจะคุยกันได้
ศ.ดร.จำลอง โพธิ์บุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน นิด้า
ศ.ดร.จำลอง โพธิ์บุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน นิด้า ชี้แจงว่า จริง ๆ แล้ว ต้องการให้มามากที่สุด แต่ในรอบแรกอยากคุยภาพใหญ่ ๆ ก่อน หลักการเชิญคือ 1.กลุ่มประชาชนหรือผู้นำชุมชน 2.อาชีพทั้งหลาย รวมทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และ 3.นักวิชาการ พยายามเชิญหลายคน หากจัดใหญ่ จะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันอย่างทั่วถึง ไม่มีเจตนาจะกันใครทั้งนั้น หากจัดแบบเชิญคนเยอะ อาจจะไม่ได้พูดอะไร เป็นข้อจำกัดทางการศึกษา

ศ.ดร.จำลอง กล่าวว่า และในการเสวนาวันนี้ ยังไม่มีการกำหนดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน แต่จัดเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาหารือและแลกเปลี่ยนกันว่าจะมีด้านไหนบ้าง และเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีด้วย ดูภาพใหญ่ก่อน แล้วค่อยไปดูในทางเลือก ที่จะพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแบบไหนให้เหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้ โดยจะมีข้อมูลทางวิชาการจากนักวิชาการทั้งจากนิด้าและมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา รวมทั้งจากสถาบันต่าง ๆ ที่มาช่วยกัน เพื่อสะท้อนความต้องการ ความจำเป็น สิ่งที่ต้องการเห็นจริง ๆ ของภาคใต้ ไม่ได้มีธงว่าจะเป็นอย่างไร ไม่มีจริง ๆ อยากให้ทุกคนสบายใจ

“โครงการนี้จะจัดกัน 3 รอบ เพื่อคุยในภาพรวม โดยมีใน 4 จังหวัด คือวันนี้ที่สงขลา อีก 3 ครั้งที่ จ.กระบี่ วันที่ 26 เม.ย. จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 29 เม.ย. และที่ จ.ชุมพร วันที่ 7 พ.ย. จากนั้นครั้งที่ 2 ใน 4-10 จังหวัด ระหว่างวันที่ 16-24 พ.ค. โดยจะเอาข้อมูลจากรอบแรก สุ่มทางเลือกต่าง ๆ หาข้อมูลประกอบข้อดีข้อเสีย มาให้รับฟังกัน และครั้งที่ 3 ใน 4-10 จังหวัด ระหว่างวันที่ 3-14 มิ.ย. จะมาคุยกันว่า กรณีจะสร้างขนาดใหญ่ จะอยู่พื้นที่ไหน หรือกรณีไม่สร้างขนาดใหญ่ จะพัฒนาทางเลือกอะไรขึ้นมา จะมีปริมาณไฟฟ้าเพียงพออย่างมีคุณภาพหรือไม่” ศ.ดร.จำลอง กล่าว

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายได้เสนอให้ปรับปรุงเป้าหมายของโครงการที่ระบุว่า “เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ภาคใต้ว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากมีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งเปรียบเทียบความเหมาะสมกับสถานที่ตั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา” ให้เหลือเพียงว่า “เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ภาคใต้” เพราะหากยังคงเอาไว้ก็เท่ากับว่า จะเป็นการพูดคุยเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่ง ศ.ดร.จำลอง กล่าวว่า ข้อความในเป้าหมายโครงการ ก็คิดอยู่ว่าจะใส่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ แต่เรื่องจากเป็นโจทย์ที่รัฐบาลให้มา ในขณะที่เราอยากทำในภาพใหญ่ จึงใส่ไว้ เพื่อเปิดเผยและแสดงความจริงใจของเรา จริง ๆ ตัดออกก็ได้ไม่เป็นไร

ด้าน ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้ ถือว่าใช้ระยะเวลาสั้นมาก ทั้ง ๆ ที่ SEA เป็นการศึกษาที่ใหญ่กว่า EHIA มาก แต่กลับมาทำการศึกษาในระยะเวลาสั้นกว่า EHIA เริ่มจัดเวทีแรกวันนี้ แล้วไปสิ้นสุดเวทีสุดท้าย 14 มิ.ย. สั้นมาก จะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพได้อย่างไร

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายต่างเสนอว่า หากต้องการคุยกันในภาพรวมแล้ว ก็ไม่ควรแบ่งกลุ่มย่อย เพราะกลุ่มย่อยก็จะแยกคุยกันคนละเรื่อง จะให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย และปรับวาระการเสวนา จากเดิมแบ่งกลุ่มย่อยทั้งวัน เป็นการพูดกันในภาพรวมยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ในภาคเช้า และแบ่งกลุ่มย่อยในภาคบ่าย

สำหรับการเสวนาในภาพรวม ได้หารือเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และการใช้โซล่าเซลล์ เช่น สนับสนุนให้ใช้โซล่าเซลล์เพราะไม่ต้องซื้อแสงอาทิตย์ เหมือนถ่านหินที่ต้องไปซื้อ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ขึ้นลงทุกวัน พร้อมยกตัวอย่างบ้านที่สิงคโปร์และบรูไนที่ใช้โซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งคำถามถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์เมื่อหมดอายุแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์พวกนี้จะไปที่ไหน และก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยระบุว่า การใช้โซล่าเซลล์ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างกรณีไฟฟ้าดับที่ อ.เบตง จ.ยะลา ที่ทำให้ทั้งเมืองเป็นอัมพาต ต้องไปซื้อน้ำมันจากมาเลเซียมาใช้ในเครื่องปั่นไฟ เพราะปั้ม ปตท.ในพื้นที่ก็ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อจ่ายน้ำมัน

นายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ว่า ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ไฟส่องสว่างของ อบต.ที่ติดตั้งไม่กี่วันก็กระพริบแล้ว ซึ่งนายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการ กอ.อพช.ภาคใต้ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไฟที่ใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ที่ติดไม่กี่วันแล้วกระพริบ ก็ต้องกลับไปดูว่าการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้ งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่จะใข้จัดทำโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น หากเอามาทำโซล่าเซลล์หลังละ 1 แสนบาท จะทำได้ 1 ล้านหลังคาเรือน เมื่อครบ 7 ปีก็ยกให้ประชาชน หรือถ้าไม่ยกให้ จะทำเป็นโครงการกู้ยืมก็ได้ จะเป็นเรื่องที่ดียิ่งกว่าแจกเงิน 500 บาทให้ทุกเดือน ทำแบบมีประสิทธิภาพทุกหลัง ไม่ใช่เสาไฟฟ้า 3 วันแว่บ ๆ

“ทุกวันนี้ ที่ จ.สงขลา มีโรงไฟฟ้า 2 โรงเกินความต้องการไป 3 เท่า แล้วจะมาสร้างอีกที่เทพา รวมแล้วจะเป็นพลังงานไฟฟ้า 3 พันกว่าล้านเมกะวัตต์ ถามว่า ทำไมต้องมาสร้างอีกที่สงขลา เราไม่เอา เราจึงเสนอโซล่าเซลล์ ไม่ใช่ประมูลโหล่ยโท่ยมาให้ เอาแบบที่มีประสิทธิภาพ กระจายให้ทุกคน จะเป็นรัฐสวัสดิการที่ดี ประชาชนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องแสงมาก มีการพัฒนาไปมากสำหรับเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ เป็นการพึ่งตัวเองในอนาคต” นายเอกชัย กล่าว

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ถ้าทุกคนไม่มีข้อมูลกลางที่เป็นข้อเท็จจริงเหมือนกัน แล้วจินตนาการ เป็นเรื่องที่น่ากลัว ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาคุยกัน ไม่ใช่มองคนละมุม ให้ทุกคนเห็นข้อมูลทั้งหมดเหมือนกัน เพื่อพัฒนาไปในทางที่ควรจะไป เช่น เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ บอกกันว่า ภาคใต้ทำไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ฝน 8 แดด 4 หากไปดูข้อมูลให้ดี จะเป็นแค่ที่ จ.ระนองเท่านั้น

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า แบตเตอรี่ของโซล่าเซลล์เป็นของแข็ง ไม่ระเหยไม่ไปไหน และนำไปรีไซเคิลได้ แต่ถ่านหิน เมื่อเผาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า จะลอยออกไปได้ เป็นต้นเหตุของความเสื่อมโทรมร่างกายของเรา ซึ่งเวทีครั้งนี้มีความหมายอย่างมาก เพราะต้องคิดร่วมกันว่าภาคใต้จะไปในทิศทางไหน เพราะหากไปผิดทิศจะกลับมานับหนึ่งยาก ทั้งเรื่องความแตกแยกในชุมชน เรื่องมลพิษ ซึ่งทิศทางที่เราอยากให้เป็น เป้าหมายของเราไม่ใช่โรงไฟฟ้า โรงงาน หรือเงินตราอย่างเดียว แต่เราควรมีความสุข มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพที่ดี แล้วทิศทางแบบไหนที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายเหล่านี้
 
หากมีโรงไฟฟ้ามาที่เทพา จะไม่มาแค่โรงไฟฟ้าแน่ โรงงานคงตามมา ซึ่งโรงงานเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนเรา บางคนต้องเปลี่ยนจากทำประมงไปยืนอยู่ในโรงงานหน้ากระป๋อง เคยจับปลาในทะเลก็จับปลาใส่กระป๋อง เครียดก็ไปหาหมอ ขอใบรับรองแพทย์จะไปลางาน คุณภาพชีวิตที่ดี ต้องออกแบบสังคมให้ห่างไกลจากมลพิษ ต้องช่วยกันออกแบบ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น