xs
xsm
sm
md
lg

“สมัชชาประชาชนภาคใต้” ยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมือง หวังสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาค ปชช.ใต้ (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “สมัชชาประชาชนภาคใต้” จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคประชาชนภาคใต้ นำเสนอต่อผู้แทนพรรคการเมืองที่อาสาเข้าไปบริหารประเทศ หวังนำไปประกอบจัดทำนโยบาย และเป็นแผนพัฒนาประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีสมัชชาประชาชนภาคใต้ “คนทุกข์ลุก-รุกสร้างสุข” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2562 สืบเนื่องจากสภาพปัญหาที่ทำให้ประชาชนภาคใต้ ทั้งเครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม กลุ่มประเด็นปัญหา กลุ่มศิลปิน กลุ่มนักวิชาการ และสื่อมวลชนกว่า 60 เครือข่าย ได้รวมตัวกันเป็น “สมัชชาประชาชนภาคใต้” เพื่อเป็นพื้นที่กลางไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขปัญหา เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาภาคใต้ และสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่สอดคล้องเหมาะสม ทั้งยังมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน โดยสมัชชาประชาชนภาคใต้ ดังนี้

การพัฒนาภาคใต้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐมุ่งเน้นสร้างการเติบโตของระบบทุนนิยมเสรีเป็นสำคัญ และได้ออกแบบเพื่อสนองการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและบริการภายใต้แผนพัฒนาต่างๆ เช่นแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และกำลังจะมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจเพิ่มเข้ามา อันรวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องการนำไปแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานศักยภาพที่มีอยู่ของพื้นที และยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนภาคใต้ และเชื่อว่า แนวทางเหล่านี้จะนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งผลิตอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการดำรงชีวิตของประชาชนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือความคิดต่าง และความไม่เข้าใจทั้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และกับภาครัฐ จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุนชน สิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมในสังคมที่จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

 
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนภาคใต้ที่ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม กลุ่มประเด็นปัญหา กลุ่มศิลปิน กลุ่มนักวิชาการ และสื่อมวลชนกว่า 60 เครือข่าย ได้รวมตัวกันเป็น สมัชชาประชาชนภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วน ได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขปัญหา เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาภาคใต้ และสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่สอดคล้องเหมาะสม และหวังที่จะสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคประชาชนอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต ซึ่งหมายถึง “อนาคตที่ประชาชนจะต้องกำหนดได้เอง”

เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้มีการจัดเวทีเปิดตัวสมัชชาประชาชนภาคใต้ไปแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นมีการระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายต่างๆ ที่ได้เข้าร่วม และสามารถประมวลเป็นข้อเสนอได้ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ รวมทั้งหมด 14 ประเด็นปัญหา ที่พวกเราต่างมีฉันทามติที่จะสร้างให้เป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะนำพาภาคใต้ไปสู่ “พื้นที่แห่งความสุขอย่างยั่งยืน” และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่แนวทางดังกล่าวนี้ร่วมกันบนพื้นที่กลางที่เรียกว่า “สมัชชาประชาชนภาคใต้” และในโอกาสอันสำคัญที่กำลังจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนี้ สมัชชาประชาชนภาคใต้จึงเห็นสมควรที่จะนำข้อเสนอซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคประชาชนภาคใต้นี้ นำเสนอต่อผู้แทนพรรคการเมืองที่อาสาเข้าไปบริหารประเทศ เพื่อนำไปประกอบจัดทำนโยบาย และเป็นแผนพัฒนาประเทศหลังจากที่พรรคการเมืองใดได้เข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ดังนี้
 

 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ประชาชนภาคใต้จะต้องมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ดังนี้

1.เร่งรัดให้มีการออกพระราชบัญญัติโฉนดชุมชนที่ประชาชนร่วมกันยกร่าง อันจะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน บนหลักสิทธิร่วมของชุมชน รวมทั้งให้มีกลไกเพื่อแก้ปัญหาที่ดินของรัฐแต่ละประเภท โดยมีตัวแทนผู้เดือดร้อนอยู่ในกลไกดังกล่าว
2.สนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3.สนับสนุนให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้มีที่อยู่อาศัย หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพที่ดี และ โดยภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกกระบวนการ
4.สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า โดยกำหนดเป็นกฎหมายว่าด้วย “รัฐสวัสดิการ” รวมถึงการส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนในการจัดสวัสดิการด้วยตนเอง
5.กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเลและชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธ์ที่กาลังถูกรุกรานจากการท่องเที่ยว และจากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม
6.เร่งรัดให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นได้รับการคืนสัญชาติไทยภายใน 5 ปี
7.การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ โดยการเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคม และเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความรุนแรง ทั้งนี้ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่โดยคำนึงถึงความมั่นคงในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง
8.การศึกษา คือสิ่งที่รัฐจะต้องลงทุน ซึ่งประชาชนจะต้องได้เรียนและเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม เท่าทันกันทุกระดับ และจะต้องส่งเสริมให้มีการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม บริบทชุมชน ทั้งนี้จะต้องเน้นการศึกษาที่ทำให้ผู้ศึกษาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น
9.เตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยที่มากกว่าการสงเคราะห์ หรือประชานิยม ที่มุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่แหละเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของครอบครัว สังคมโดยรวม และจะต้องให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมสำคัญในการออกแบบและจัดการ
10.ให้ปรับปรุง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยจัดให้มีกองทุนภัยพิบัติระดับตำบลโดยชุมชนมีส่วนร่วม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : สร้างความมั่นคงทางอาหาร

1.ต้องยุติ เพื่อทบทวน และยกเลิกโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบสภาวะอากาศ พื้นที่แหล่งผลิตอาหาร และวิถีชีวิตชุมชน เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการสร้างเขื่อน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการระเบียงเศรษฐกิจ เป็นต้น
2.ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนให้มีการอนุรักษ์ พื้นฟู และเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน อันถือเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและยาตามธรรมชาติ โดยให้มีการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
3.ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์
4.สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับชาวสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้และนาข้าว
5.คุ้มครองสิทธิด้านเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์ไม้พื้นเมือง สนับสนุนให้มีการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น ให้มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองพันธุกรรมท้องถิ่นเพื่อและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารและยาของชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก บนฐานศักยภาพท้องถิ่น

1.ประกาศการเกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงการพัฒนาพันธุกรรม ส่งเสริมปัจจัยการผลิต การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน จัดหาตลาด ทั้งนี้ต้องให้เกษตรรายย่อยสามารถเข้าถึงการอุดหนุนจากรัฐอย่างทั่วถึง
2.พัฒนาระบบวิสาหกิจชุมชน จัดกลไกการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อส่งเสริมและยกระดับวิสาหกิจของชุมชนอย่างเป็นระบบในทุกด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการจัดการผลิต ด้านการบริการ และอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น
3.แก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในมาตราที่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และวิถีการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน รวมถึงการรับรองการจดทะเบียนเรือชาวประมงพื้นบ้านทุกประเภท และทุกพื้นที่
4.ยกเลิกเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะเรืออวนลาก เรือปั่นไฟ และต้องประกาศการปิดอ่าวในฤดูปลาวางไข่ทุกพื้นที่
5.จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้าน เพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจด้านการประมง และเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
6.สนับสนุนแนวคิดธนาคารต้นไม้ ที่ว่า “ต้นไม้ที่ประชาชนปลูกถือเป็นสิทธิและทรัพย์สินที่สามารถกำหนดเป็นมูลค่า ซึ่งรัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรเพื่อการจัดการในลักษณะกองทุนธนาคารต้นไม้ ซึ่งต้องรับรองและจ่ายเงินให้คนปลูกต้นไม้ตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไป ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในที่ดินที่ครอบครองการทำประโยชน์ด้วย
7.ให้มีการแก้ไขปัญหาชาวสวนยาง และสวนปาล์ม โดยการประกันรายได้ในอัตราที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และจะต้องส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากยาง และปาล์มอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ภายในในประเทศ ทั้งนี้จะต้องจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง สวนปาล์มแบบมีส่วนร่วม
8.เสริมสร้างความมั่งคงชาวสวนยาง สวนปาล์ม โดยการจัดสรรที่ดินที่ทำกินในกรณีของเกษตรกรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาสวนยาง สวนปาล์มแบบยั่งยืน ซึ่งจะช่วยแก้วิกฤตด้านราคาได้อีกทางหนึ่ง
9.ในระหว่างการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินกรณีของเกษตรกรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้ดำเนินการแก้ระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 โดยไม่ยึดกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินเป็นข้อกำหนดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและภาคประชาสังคม

1.ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง อันจะเป็นการสร้างฐานรากของการเมืองในระบบประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
2.ฟื้นฟูกลไกของภาคประชาชนที่ถูกเทรกแซง ถูกลดบทบาท หรือถูกยกเลิกไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต้องออกแบบเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมขบวนการของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง และจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคประชาชนในการกำหนดแผนการพัฒนาในระดับชุมชน จนถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ไม่แค่เพียงการเข้าร่วม หากแต่จะต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ
3.จัดให้มีกองทุนภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่สนับสนุนขบวนการองค์กรชุมชนเพื่อการจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ในทุกมิติ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ การจัดการผลผลิต การท่องเที่ยวชุมชน การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้หญิง และการพัฒนาระบบสุขภาวะ การจัดการภัยพิบัติของชุมชน และอื่นๆ อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
 

 
สมัชชาประชาชนภาคใต้ มีความเห็นว่า ปัจจัยที่จะทำให้ข้อเสนอดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จได้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเมืองในระบบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายการเมืองจะต้องส่งเสริมให้การเมืองภาคพลเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีการบริหารประเทศแบบการกระจายอำนาจที่เป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ และจะต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงในทุกระดับขั้นตอน ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะนำข้อเสนอนี้ไปสู่การปฏิบัติหลังจากมีการเลือกตั้งแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวนี้ได้มีการนำไปสู่การปฏิบัติ และดำเนินการในโอกาสต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม สมัชชาประชาชนภาคใต้จึงขอเสนอมาตรการขับเคลื่อนข้อเสนอดังนี้

1.หลังการเลือกตั้งไม่เกิน 3 เดือน สมัชชาประชาชนภาคใต้จะจัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง และจะขอเชิญตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมเพื่อถามถึงแนวนโยบาย และแนวทางการนำข้อเสนอดังกล่าวสู่การปฏิบัติในช่วงเวลาการบริหารประเทศ
2.จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อน และติดตามข้อเสนอร่วมกันระหว่างตัวแทนของสมัชชาประชาชนภาคใต้ กับผู้แทนของรัฐบาล ทั้งนี้จะมีการ่วมกันออกแบบอีกครั้งตามความเหมาะสม เพื่อสร้างปฏิบัติการที่เป็นจริง
3.สมัชชาประชาชนภาคใต้จะจัดให้มีการประชุมคณะทำงานสมัชชาฯทุกปี เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้คะแนนการทำงานของฝ่ายการเมือง อีกทั้งเพื่อทบทวนและสร้างข้อเสนอใหม่ที่เป็นปัจจุบันในแต่ละปีให้รัฐบาลไปจนกว่าจะหมดสมัยการบริหารประเทศ
 







กำลังโหลดความคิดเห็น