xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาธิปไตยในกำกับ” กับ “ขบวนการประชาชน-พลเมือง” และการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคมนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 

คอลัมน์... “คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้”

โดย... รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ
 

 
“ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” หรือ “พีมูพ (p move)” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชน องค์กรเกษตรกรและคนจนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาประเทศ อันประกอบด้วย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด(คปบ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง(คปสม.) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย โครงการพัฒนาต่างของรัฐ การเรียกร้องสิทธิ การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
 
ภายใต้วิสัยทัศน์และความคาดหวังเชิงขบวนการ “เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม” โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ การส่งเสริม/สร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย การพัฒนาศักยภาพ การสร้างผู้นำ และความรู้ สร้างความเข้มแข็งในขบวนการ สร้างอำนาจประชาชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และการสร้างแนวร่วมและสื่อสารสาธารณะ และการเคลื่อนไหวสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ด้วย “กฎหมายคนจน”
 
ได้จัดสมัชชาประจำปีขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อสรุปบทเรียน ยุทธศาสตร์และการเคลื่อนไหวของขบวนการฯ ในอนาคต และได้ชักชวนข้าพเจ้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “ทิศทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลง” ซึ่งยากต่อการวิเคราะห์ยิ่งนัก เพราะแม้สถานการณ์เบื้องหน้าสุดกับการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ดูจะเป็นการลดแรงเสียดทานทางสังคม “สร้างความหวัง” สำหรับการเริ่มต้นครั้งใหม่ของสังคมไทย เพราะการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการประคับประคองและสร้างประชาธิปไตย ที่มีรากฐานมาจากเจตจำนง/ความต้องการของประชาชน และการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทางการเมือง สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพได้อย่างสร้างสรรค์ในฐานะพลเมืองของสังคมการเมืองนั้นๆ ได้ในระดับหนึ่ง
 
แต่ก็อาจสร้างความอัปลักษณ์ ชวนให้หดหู่อยู่ไม่น้อย เพราะมีความพยายามอย่างเต็มที่จากกลุ่มอำนาจนิยม ทั้งจากกองทัพ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ระบบราชการ ทุนอำนาจอุปถัมป์ที่ได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจผูกขาดในระบบการเมืองแบบปิด ที่จะใช้การเลือกตั้งเป็น “ตรายาง” รับรองความชอบธรรมและใช้เป็นเครื่องมือ “สืบอำนาจ” ต่อเนื่องไปหลังจากนี้ 
 
โดยที่การสืบอำนาจนั้นอาจไม่ผิวเผินเพียงการ “ต้องใจ หลงใหลในอำนาจ” เท่านั้น หากคือโลกทัศน์ อุดมการณ์อำนาจนิยม ที่ต้องการจรรโลง การเรียกคืนพื้นที่การเมืองให้กลับมาแข็งแกร่ง มั่นคง หลังง่อนแง่น สั่นคลอนเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2530-2540 ดังความพยายามในการออกแบบระบบการเมืองให้มีลักษณะ/รูปแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยในกำกับ” ของอำนาจนิยม ที่มีทั้ง
 
(1) การกำกับพื้นที่การเมือง ผ่าน “การควบคุม-สั่งการ” โดยใช้กลไกกองทัพ ระบบราชการ โครงสร้างเชิงสถาบัน รัฐธรรมนูญ ฯลฯ
 
(2) การกำกับควบคุมพื้นที่ทางสังคม ในชีวิตประจำวัน ด้วยด้วยกฎหมายทั่วไป ประกาศ คำสั่งที่ริดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในนามของความเสี่ยงภัย ในสังคมที่แยกย่อยและกระจัดกระจาย และ
 
(3) การกำกับความรู้สึก ให้ประชาชนเชื่อง-ซึมเซาอยู่ในระบบและโครงสร้างอันอยุติธรรม ด้วยกระบวนการประชารัฐนิยมเก่า-ใหม่ เช่น การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย “สภาพัฒนาตำบล” การจัดประชารัฐสงเคราะห์ เป็นต้น
 
ขณะที่ปัญหาสังคม ทั้งที่มีมาแต่เดิมจากการริเริ่มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายประชารัฐ การพัฒนาเมือง การเกิดขึ้นของโครงการน้อยใหญ่ในช่วงจังหวะชุลมุนหัวเลี้ยวหัวต่อ ปัญหาใหม่ๆ จากทิศทางการพัฒนา การใช้ทรัพยากรเป็นสินค้า อันเป็นรากฐานทั้งปวงของความไม่ยั่งยืน จะยังไม่ได้รับการเหลียวแลและแก้ไขต่อไปในสังคมไทย
 
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจากภาคประชาชน ประชาสังคมและพลเมือง ในการร่วมกันประคับประคองเส้นทางให้เข้าสู่ระบบการเมืองแบบเปิด มีแสงสว่างของประชาธิปไตย มีความหวัง ความฝันกับการสร้างสังคมการเมือง ชุมชนใหม่ที่เป็นของทุกคน จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งในสถานการณ์นี้
 
บทเรียนที่ผ่านมาตอกและย้ำเตือนว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่จะมั่งคงและยั่งยืน หากปราศจากการยินยอม เห็นพ้อง ขัดขืน-ฝืนอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆ การหยิบยื่นจากผู้มีอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจที่ปราศจากความชอบธรรม ในระยะยาวแล้วก็คือ การทำให้สังคมไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย สุ่มเสี่ยงอยู่ในชะตากรรมอันโหดร้าย-เจ็บปวดเฉกเช่นที่ผ่านๆ มา
 
ภาคประชาชนและประชาสังคมที่ช่วงหลายปีมานี้ แม้มีขีดจำกัดอันมากมายจากภายในขบวน โครงสร้าง ระบบ กลไกทางการเมืองที่ไม่เอื้อมากนัก แต่ก็ยัง “รุกยัน” เข้าไปในพื้นที่การเมือง-สังคม สร้างสถานะ การปฏิบัติการ และการเคลื่อนไหวที่สามารถสร้างความโดดเด่นและน่าสนใจในหลายประการ
 
1) สร้างระบบปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “การเมืองของประชาชนที่ไม่เป็นการเมือง” แต่เกี่ยวข้องชีวิต การดำรงชีพที่จำเป็นของมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก ไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของประชาชน พลเมือง ผู้ตื่นตัวกับแสวงหาการดำรงชีวิตที่เหมาะสม การปกป้องทรัพยากร ดิน ฟ้า ป่า ทะเล ภูเขา ที่เป็นของสาธารณะ ใน-ระหว่างพื้นที่ การข้ามพื้นที่-ภูมิภาค ทำให้ปัญหาเฉพาะหน้าได้รับการแก้ไขควบคู่ไปกับการตอกย้ำ ขยายผลให้เห็นถึงเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ให้เงียบหรือทำให้หายไปในวาทกรรม/คำขวัญอำนาจนิยม
 
2) วิวัฒนาการคลื่อนไหว และการ “ปฏิบัติการที่ผสมผสาน หลากหลาย” ในแง่ประเด็น/ข้อเรียกร้อง การแสดงออก ได้กลายเป็น “พลัง” ที่รุกเข้าไปใน “ศูนย์กลางอำนาจ” เกิดการ “คัดง้าง” / “เปลี่ยนการตัดสินใจ” ในเชิงนโยบายบางระดับ ประเด็น-พื้นที่ ของประชาชนและภาคประชาสังคมโดยรวม ดังพีมูพที่ยกระดับเป็น “ขบวนการ” ด้วยอุดมการณ์และสำนึก “ชุมชนคนทุกข์” ที่อุดมไปด้วยพลเมืองชุมชนและปัญญาชนชุมชน
 
และในภาคใต้ ที่หลายกรณีทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่โน้มไปสู่การการสร้าง/เสนอ “คุณค่า/หลักการ/อุดมการณ์” ที่สอดคล้องกับกระแส ความคาดหวังของผู้คนใกล้-ไกล เช่น การเสนอให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(SEA) ของเครือข่ายป้องสองฝั่งทะเลสงขลา-สตูล-กระบี่ การก่อกระแสความคิดสาธารณะ การปกป้องมาตุภูมิของเครือข่ายดิน น้ำ ป่า ปกป้องมาตุภูมิพัทลุง-นครศรีธรรมราช ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกคืนการกำหนดอนาคตของพลเมือง เช่นเดียวกัน
 
3) คุณูปการสำคัญของการปฏิบัติการ การเคลื่อนไหวยังส่งผลให้ในแง่การสร้างประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 ระดับคือ การสร้างประชาธิปไตยชุมชนและท้องถิ่น ดังที่กล่าวมาในข้างต้น กับประชาธิปไตยในระดับชาติที่สัมพันธ์กับนโยบาย โครงสร้างทางการเมือง ระบอบประชาธิปไตย และอำนาจอำนาจอธิบไตย แม้ไม่เด่นชัดนักก็ตาม  
 
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ภาคประชาชน พลเมือง ยังมีภาระกิจสำคัญที่ต้องแบกรับ การรุกต่อ สู้กับประชาธิปไตยในกำกับ การสร้างประชาธิปไตย ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม กับการรณรงค์แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนในเบื้องหน้า สิ่งสำคัญที่สุดคือ
 
(1) การจัดรูปขบวน สร้างยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่รองรับความต้องการได้หลากหลาย ร้อยหลอมรวมความต้องการ มีปฏิบัติการหลายระดับ
 
(2) การชูธงอุดมการณ์ “ขบวนการสังคม-ชุมชนใหม่”  ด้วยชุดคำ ภาษาที่ใหม่ๆ ที่มีนัยของการกระจายอำนาจ การตัดสินใจ การกำหนดอนาคตใหม่ของสังคม-ชุมชน ให้สังคมเห็นคล้อย ได้ผลประโยชน์จากปฏิบัติการนี้
 
(3) การแสวงหาพันธมิตรใหม่ (ที่ไม่ใช่ชนชั้นกลาง แต่เป็น “ชนชั้นล่างระดับบน” ที่เติบโตขึ้นมาในสังคมผู้ประกอบการ??) ร่วมรณงค์ผลักดันการเปลี่ยนแปลงแปลงกฎ กติกาทางการเมือง กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม
 
และ (4) การสร้างช่องทางการสื่อสารสาธารณะ ที่เชิญชวนผู้คนหลายหลากรสนิยมในโลกออนไลน์ ช่น นักสื่อสารชุมชน โมโจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม
      
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้...ไม่มีใคร????
      
นอกจาก...“(ขบวนการ) ประชาชน-พลเมือง”!!!!
 



กำลังโหลดความคิดเห็น