xs
xsm
sm
md
lg

จะหยุดความรุนแรง “สงครามแย่งชิงน้ำ” ใน 5 พื้นที่ของภาคใต้ได้อย่างไร?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... “คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้”
โดย… ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
 

 
ปัจจุบันทั้งประเทศมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากที่สุดร้อยละ 75 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด ในปี 2557 มีการใช้น้ำเพื่อการบริโภคและการท่องเที่ยวจำนวน 6,490 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอนาคตปี 2570 คาดการ์ว่า การใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น 8,260 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากการขยายตัวของภาคบริการ สำหรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมปี 2557 มีความต้องการใช้น้ำ 4,206 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคตปี 2570 จะมีความต้องการใช้น้ำ 7,515 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในฤดูแล้งกว่า 27,090 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาพรวมความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร การเข้าถึงแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ มีจำนวน 102,140 ล้านลูกบาศก์เมตร 1
 
ฉะนั้น โจทย์ของรัฐบาลคือ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนให้เพียงพอตามตัวเลขที่ปรากฏ
 
ปี 2537 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า จำนวน 132 ล้านไร่ การจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำและสายน้ำจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาข้อมูลป่าและสายน้ำสำคัญในภาคใต้ พบว่า ภาคใต้มีเนื้อที่ป่าไม้รวมทั้งหมด 18,694.39 ตารางกิโลเมตร (26.44% ของพื้นที่ภาคใต้)2
 
ทิวเขาในภาคใต้มีความยาวทั้งสิ้น 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำสายสำคัญ เช่น เทือกเขานครศรีธรรมราช ทิวเขาภูเก็ต ทิวเขาสันกาลาคีรี ภูมิประเทศของภาคใต้เต็มไปขุนเขาน้อยใหญ่ เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำที่สำคัญ เช่น แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำท่าทอง แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำกลาย แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำโก-ลก
 
ปัญหาสำคัญของการจัดการน้ำคือ วิธีการจัดการน้ำที่มีความแตกต่างกันระหว่าง 2 แนวคิด ได้แก่ “การจัดการน้ำโดยใช้โครงสร้างแข็ง”  เช่น การทำเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูกั้นน้ำ กับ “การจัดการน้ำโดยการยึดหลักภูมินิเวศ” ด้วยการไม่ใช้โครงสร้างแข็ง และใช้การก่อสร้างที่สอดรับต่อภูมินิเวศ เช่น การสร้างฝายมีชีวิต
 
ความขัดแย้งเช่นนี้ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน เนื่องจากวิธีคิดแบบแรกนั้นจะต้องมีการทำลายป่า การไล่รื้อที่อยู่เดิมของชุมชน รวมทั้งการทำลายสายน้ำเดิม ซึ่งส่งผลต่อนิเวศและอาชีพของประชาชนตามสายน้ำนั้น การแย่งชิงน้ำในภาคใต้ำจึงปะทุขึ้นในขณะนี้
 
การแย่งชิงน้ำ หมายถึงการจัดการน้ำเพื่อให้อยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากเดิมน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ ใน สงครามการแย่งน้ำ นั้นการที่จะทำให้น้ำอยู่ในการจัดการของใครนั้น ผู้นั้นจะต้องสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง กระบวนการสร้างความชอบธรรมเหล่านั้นคือ การสร้างความหมายของน้ำและการจัดการน้ำเสียใหม่ เพื่อให้กลุ่มตนมีความชอบธรรม
 
รัฐจึงสร้างความหมายของการจัดการน้ำด้วยโครงสร้างแข็ง รองรับด้วยแผนงาน โครงการ และงบประมาณของรัฐ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรม
 

 
เช่นนั้นแล้ว “โครงการสร้างเขื่อน” จึงเต็มประเทศนี้ เพราะว่าเขื่อนจะทำหน้าที่เอาน้ำ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะมาอยู่ในมือรัฐ และรัฐสามารถเอาน้ำที่ได้จัดการไว้แล้วไปทำอะไรก็ได้ การต่อสู้ในกระบวนการจัดการน้ำจึงอยู่ตั้งแต่การผลิตความรู้ ความหมาย สร้างกลไก แผนงาน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการนำน้ำมาจัดการ ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาน้ำจึงอยู่ในมือรัฐ
 
อย่างไรก็ตาม ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เมื่อความเดือดร้อนปรากฏแก่ประชาชนมากขึ้น การลุกขึ้นมาจัดการน้ำของภาคประชาชน จึงปรากฏชัดมากขึ้น ด้วยการสร้างความหมายใหม่ของน้ำ ความหมายของประชาชนที่สร้างขึ้นในการจัดการน้ำได้เปลี่ยนมุมมองที่คนโดยทั่วไปมีต่อการจัดการน้ำ ซึ่งเดิมถูกสร้างความหมายโดยรัฐตลอดมา
 
การสร้างความหมายใหม่ของภาคประชาชน ได้นำมาซึ่งการออกแบบการจัดการน้ำภายใต้ความหมายของ การเคารพนิเวศ ปรากฏการณ์ “ฝายมีชีวิต” เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของการอธิบายความหมายใหม่ของน้ำ ภายใต้วาทกรรมใหญ่ที่รัฐควบคุมไว้ สำคัญที่สุดคือ ภายใต้รูปธรรมใหม่นี้ น้ำจะกลับมาสู่ประโยชน์ของสาธารณะมากขึ้น เพราะในอนาคตหากรัฐผูกขาดน้ำ ประชาชนมีแนวโน้มที่จะซื้อน้ำมาใช้ในภาคการเกษตรและการบริโภค
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลิตความรู้ ความหมายของการจัดการน้ำมาต่อสู้เพื่อแย่งชิงการสร้างรูปธรรมการจัดการน้ำของพื้นที่ แต่ด้วยรูปแบบทางนโยบายและการใช้อำนาจรัฐ ทำให้สิ่งที่รัฐออกแบบการจัดการน้ำ กลายเป็นมีอิทธิพลเหนือการจัดการน้ำของชุมชน เพราะรัฐใช้กฎหมายในการบังคับให้ชุมชนยินยอมให้เกิดการจัดการน้ำอย่างที่รัฐต้องการ
 
ฉะนั้น ความขัดแย้งจึงถูกยกระดับจากความขัดแย้งด้านการสร้างความหมายและรูปธรรม มาสู่ ความขัดแย้งที่เกิดการปะทะกัน ระหว่างรัฐและประชาชน หรือระหว่างประชาชนผู้สนับสนุนแนวทางทั้ง 2 ฝ่าย
 
การปะทะเหล่านี้มีหลายระดับ ทั้งการโต้เถียง ไปจนถึงการใช้กำลัง การใช้อำนาจบังคับ แต่การดำเนินการเช่นนี้จะก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น รัฐกำลังออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน เพื่อไล่รื้อให้ชุมชนในบริเวณที่กำหนดในโครงการออกจากพื้นที่ อนาคตในภาคใต้จึงจะเกิดความขัดแย้งเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 

 
ในปัจจุบัน ความขัดแย้งใน 5 พื้นที่หลักของภาคใต้ กำลังกลายเป็นปมสำคัญที่จะก่อเกิดความขัดแย้งในขั้นรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐกำหนดให้มีการก่อสร้างเขื่อน ประตูกั้นน้ำ และการขุดลอกคลอง เช่น ในพื้นที่ การสร้างเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช การสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง การสร้างเขื่อนคลองสังข์อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช การสร้างประตูกั้นน้ำปากประ  อ.ควนขนุน จ.พัทลุง การขุดคลองผันน้ำ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่เหล่านี้กำลังกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่สำคัญ
 
ทั้งนี้ ชุมชนพบว่า กรมชลประทานได้สร้าง วัตถุประสงค์อันเป็นเท็จ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดการก่อสร้างโครงการ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกโครงการ เช่น บอกว่าเขื่อนวังหีบ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองทุ่งสง แต่ในความเป็นจริงคลองวังหีบไม่ได้ผ่านเมืองทุ่งสง หรือการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว เพื่อนำน้ำมาสนับสนุนการเกษตร ปรากฏว่าในพื้นที่ไม่ได้ขาดน้ำทั้งการเกษตรและการบริโภค หรือการสร้างประตูกั้นน้ำปากประ เพื่อป้องกันน้ำเค็ม ซึ่งในความเป็นจริงในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีการรุกล้ำของน้ำเค็มเพียงครั้งเดียว
 
การที่เกิดการเบี่ยงเบนเป้าหมายการก่อสร้าง ทำให้ชุมชนรับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล
 
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของรายงานก็พบว่า ล้วนเป็น ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง ทำให้ชุมชนรู้สึกว่า โครงการของรัฐที่มีนั้นเต็มไปด้วยความไม่จริงใจ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชน รัฐเพียงต้องการให้เกิดการก่อสร้าง และยังนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการอ้างเพื่อที่จะก่อสร้างโครงการ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงออกซึ่งการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความกดดันร่วมกันหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และเสริมพลังแก่กันและกันในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ เนื่องจากชุมชนไม่สามารถที่จะสูญเสียที่ดินทำกิน วิถีวัฒนธรรมเดิมได้ ในขณะที่รัฐก็มุ่งมั่นเต็มที่ในการดำเนินโครงการ
 
ฉะนั้นในอนาคตภาพความขัดแย้งจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น “พลังสาธารณะ” จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกำกับให้ความขัดแย้งไม่ก่อเกิดความรุนแรง
 
“พลังสาธารณะ” คือพลังของการกำกับอำนาจรัฐ ทั้งนี้ เพราะน้ำเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ให้ความรู้ ความถูกต้องที่มีต่อนิเวศและสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบการจัดการน้ำของสังคมไทย
 

 
บรรณานุกรม 
 

1 แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2558-2568

2 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย http://chm-thai.onep.go.th/index.aspx

 



กำลังโหลดความคิดเห็น