xs
xsm
sm
md
lg

2 ผัวเมียชาวสวนยางสุราษฎร์ฯ เดือดถูกเจ้าหน้าที่รัฐหักหลังจนต้องตกเป็นผู้ต้องหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุราษฎร์ธานี - 2 ผัวเมียชาวสวนยางสุราษฎร์ฯ เดือด ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม พร้อมนำคลิปลับเจรจาชดเชยค่าเสียหายกับเจ้าหน้าที่อุทยานแลกเปลี่ยนกับการไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ถูกเจ้าหน้าที่หักหลังบุกยึดพื้นที่อ้างจนตกเป็นผู้ต้องหา

วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายโสภณ ดีหนู อายุ 73 ปี พร้อมภรรยาได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านการชี้แจงของ นายมนตรี บัวแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ 4 สุราษฎร์ธานี ที่ได้ออกหนังสือ ที่ ทส.0914.5/6445 ในกรณี นายโสภณ ดีหนู เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น กลั่นแกล้งได้รับความเดือดร้อนหนักจนมีการนำเสนอข่าวออกไปทางสื่อ ที่ระบุว่า สุดทน 2 พ่อลูกที่สุราษฎร์ฯ ร้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งจนได้รับความเดือดร้อนหนัก
 
พร้อมได้ระบุว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิผ่อนผันตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 ปรากฏรายชื่อนายโสภณ ดีหนู จำนวน 2 แปลง โดยบันทึกการตรวจสอบฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2556 และ 19-20 ตุลาคม พ.ศ.2556 คณะเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการรังวัดแปลงที่ดินของนายโสภณ ดีหนู จำนวน 4 แปลง เพื่อยื่นพิสูจน์ฯ โดยอยู่ในระหว่างตรวจพิสูจน์สิทธิ จำนวน 2 แปลง คือ แปลงที่ 2 และแปลงที่ 3 ส่วนแปลงที่ 1 และแปลงที่ 4 ไม่มีร่องรอยการทำกินในปี 2545 เป็นการทำกินหลังจากปี 2545 จึงไม่อาจสู่กระบวนการพิสูจน์การทำกินได้

ส่วนรายละเอียดที่เจ้าหน้าที่อุทยานใต้ร่มเย็น ได้แจ้งความดำเนินคดีกับแปลงพิพาทตาม ปจว. คดีอาญาที่ 784/2558 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2558 เนื้อที่ 5-1-47 ไร่ ของกลางเป็นต้นทุเรียน จำนวน 170 ต้น อายุประมาณ 6 เดือน โดยตรวจยึดจับกุมตามพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายพื้นที่ไม่ใช่ป่า มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งนายโสภณ ดีหนู แต่อย่างใด และยังมิได้มีการดำเนินการใดๆในแปลงดังกล่าว

นายโสภณ กล่าวว่า จากกรณีครอบครัวได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งจับกุมยัดข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ในพื้นที่พิพาทเก่า ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ โดยมีการปลอมแปลงเอกสารในคดีอื่นมาดำเนินคดีกับครอบครัวของตนเอง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ตนได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อหน่วยงานทุกหน่วยงาน
 
จนในที่สุดเจ้าหน้าที่อุทยานจำนนด้วยหลักฐาน ยอมรับว่ามีการดำเนินการที่ผิดพลาดในแปลงที่ดินพิพาทดังกล่าว และได้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 300,000 บาท โดยมี นายวงศศิริ พรหมชนะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2557 เป็นประธานไกล่เกลี่ย โดยมีผู้อำนวยการบริหารสำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 นายมนตรี บัวแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่วนอุทยาน นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เจ้าหน้าที่สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เจ้าหน้าที่นิติกรสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 นายสมบูรณ์ ทองพัฒน์ ทนายความ และผู้สื่อข่าว ร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยข้อตกลงภายในที่ประชุมได้ระบุให้ครอบครัวผู้เสียหายดำเนินการปลูกพืชผลอาสินในพื้นที่แปลงพิพาทแทนของเก่าที่ถูกตัดโค่นต่อไป โดยมิให้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นในพื้นที่แปลงพิพาท และไม่ให้ทางผู้เสียหายดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่อุทยานประมาณ 20 คน ที่เข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราที่มีอายุกว่า 7 ปี จำนวนกว่า 500 ต้น และปลอมแปลงเอกสารทางราชการนำคดีอื่นมาดำเนินคดีกับนายโสภณ ดีหนู โดยเอกสารดังกล่าว นายวงศศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการสมัยนั้นเป็นผู้เก็บรักษาไว้

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 ได้ออกหนังสือชี้แจงผลการตรวจสอบ ไม่นำปัญหาการขัดแย้งและความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจเถื่อนดำเนินการตัดโค่นต้นยางพาราของตนจนได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท มาชี้แจง ดังนั้น การออกหนังสือชี้แจงต่อทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จึงมีข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ตรงความเป็นจริง ทั้งที่ที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตัดโค่นพืชผลอาสินของตน โดยพื้นที่ทำกินของตนเองโดยไม่ได้มีคดีความ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานได้ไปนำคดีของผู้อื่นที่ศาลตัดสินไปแล้วมากล่าวหาให้เป็นคดีความกับตนเอง ตนและครอบครัวได้ต่อสู้ร้องเรียน พร้อมนำหลักฐานต่างๆ ที่เป็นความจริงแสดงต่อทุกหน่วยงาน และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบจนพบข้อมูลความจริงว่าเป็นการดำเนินการผิดพลาดของเจ้าหน้าที่อุทยาน

ต่อมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นได้ยอมจำนนต่อหลักฐานที่เจ้าหน้าที่มีความผิดทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง แต่หลายฝ่ายได้ขอให้มีการประนีประนอมโดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและขอไม่ให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานผิดพลาด ตนก็ยินยอมเพราะไม่อยากสร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่กว่า 20 ครัวเรือน แต่มีข้อขอร้องอย่ามาทำลายหรือกลั่นแกล้งกันอีก ขอเพียงทำกินในที่ดินเดิมที่อาศัยทำกินมานานกว่า 30 ปี ซึ่งมีหลักฐานจากผู้เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบรอบวงปีของต้นไม้ที่เป็นผลอาสินที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานตัดโค่นไปเป็นหลักฐานที่สำคัญ ที่พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิตามมติ 30 มิ.ย.41 แต่พอตนและครอบครัวเข้าไปปลูกต้นทุเรียนกว่า 100 ต้น ในพื้นที่พิพาทหลังจากเจรจายอมความกันแล้ว
 
แต่กลับถูกนายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นหักหลังสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการจับกุมตรวจยึดพื้นที่และนำไปแจ้งความลงประจำวันต่อพนักงานสอบสวน สภ.เวียงสระ โดยระบุว่า ไม่พบผู้กระทำความผิดและไม่ทราบว่าพื้นที่เป็นของผู้ใด ทั้งที่จริงแล้วพื้นที่แปลงดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นของผู้ใด ใครเป็นผู้ครอบครองพื้นที่แปลงดังกล่าว

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 นายมนตรี บัวแก้ว ผอ.ส่วนอุทยาน พร้อมทั้ง นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานฯ ได้ลงตรวจสอบพื้นที่แปลงดังกล่าวมาตั้งแต่เกิดการพิพาทระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯปี 2556 มาแล้วทั้งสิ้น แต่กลับไปลงประจำวันว่าไม่ทราบใครเป็นเจ้าของแปลง และเรื่องมาแดงเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานนำป้ายมาติดเพื่อจะใช้มาตรา 22 ตัดโค่นทำลาย ตนจึงเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ท้ายสุดทางสำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 4 แจงแค่ประเด็นการตรวจยึดพื้นที่ในปี 2558 จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ดังนั้น ตนจึงคาดเดาว่าเหตุดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจรัฐมาดำเนินการที่มิชอบเข้าข่าย พ.ร.บ.มาตรา 157 ตนจึงขอเรียกร้องให้ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอให้ลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ความจริงและคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวของตนโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นได้นำพื้นที่บางแปลงไปติดเกี่ยวพันกับคดี จึงทำให้ครอบครัวตนหมดสิทธิในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินในพื้นที่ทับซ้อนการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น หากพบข้อมูลที่อันเป็นเท็จขอให้ดำเนินการทางวินัยและอาญาต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อเจ้าหน้าที่อื่นต่อไป ในส่วนการตรวจสอบหากพบว่าตนเป็นผู้กระทำความผิด ยินดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไป

ในส่วนข้อตกลงที่ทำขึ้นในระหว่างตนกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เมื่อสมัย นายวงศศิริ พรหมชนะ เมื่อต้นปี 2557 เป็นประธานไกล่เกลี่ยนั้น เมื่อทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ละเมิดข้อตกลง จึงถือว่าเป็นการผิดสัญญาขึ้นก่อน ดังนั้น ข้อตกลงนั้นเป็นอันตกไป ทางตนจะขอดำเนินการทางคดีอาญาและทางแพ่งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ดำเนินการปลอมแปลงเอกสารทางราชการมายัดคดีในแปลงพิพาท และผู้ลงนามร่วมดำเนินการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่แปลงพิพาทต่อไป พร้อมกันนี้ ได้นำภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงส่วนหนึ่งในวันเจรจายอมความชดใช้ค่าเสียหายระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานในห้องนายวงศศิริ พรมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาเป็นหลักฐานว่ามีการเจรจาตกลงชดใช้กัน 300,000 บาทจริง มาเป็นพยานต่อสื่ออีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น