xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตลกนะ! เวทีประชาคมข่าวกรองไทยยัน “ส่วนหัวความมั่นคง” ยอมรับแล้ว “BRN” มีอยู่จริง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
สรุปสถานการณ์ความไม่สงบ หรือความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งใน “มิติความมั่นคง” ยังมีเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นประปราย ส่วนหนึ่งคนที่ถูกกระทำมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวและล้างแค้น แต่ก็มีอยู่ 2-3 เหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือ เหตุยิงตำรวจในพื้นที่ จ.ปัตตานี เหตุยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ จ.นราธิวาส และเหตุยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็น “ไทยพุทธ” ที่ อ.เทพา จ.สงขลา
 
อันแสดงให้เห็นว่า ใน “ปีกทหาร” ของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ยังคงก่อความรุนแรง โดยมีเป้าหมายมุ่งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อหล่อเลี้ยงกระแสความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่จังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติการทางทหารได้
 
ในขณะที่ใน “ปีกการเมือง” ข่าวเชิงลึกแต่ไม่ลับจากหน่วยข่าวในพื้นที่ยังยืนยันถึงการทำงานทางการเมืองในหมู่บ้านจัดตั้งของบีอาร์เอ็นฯ อย่างเข้มข้น ทั้งงาน “ไอโอ” ที่ฉกฉวยเอาเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาใช้ เช่น เรื่อง ผบ.ร้อยทหารพรานในบางอำเภอของ จ.ปัตตานี ใช้กำลังพล และรถราชการไปในเรื่องส่วนตัว เรื่องชู้สาวระหว่างเด็กนักเรียนกับอาสาสมัครทหารพราน เป็นต้น
 
รวมถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม มีสิ่งที่ถูกหยิบยกมาผลิตซ้ำคือ เรื่องของ “เหตุการณ์ตากใบ” ที่มี “มุสลิมตายหมู่” จากการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความรอบคอบ เหตุเกิดเมื่อปี 2547 ซึ่งแม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 14 ปีแล้ว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยังขายได้ทั้งในพื้นที่ และต่างประเทศ
 
แต่ก็ถือว่าเหตุการณ์กรณี ผบ.ร้อยทหารพรานกับเรื่องของขนไม้สร้างบ้าน และเหตุการณ์กรณีอาสาสมัครทหารพรานมีเรื่องชู้สาวกับเด็กนักเรียนนั้น ถือเป็น “ฟืนเปียก” ที่จุดไม่ติดไปแล้ว เนื่องจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ใช้ความรวดเร็วในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น จนทำให้แนวร่วมต้องกลับไปหาประเด็นหรือหาเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อทำไอโอ และเพื่องาน “บ่มเพาะ” และการ “สร้างมวลชน” ต่อไป
 
ในรอบเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อลดความรุนแรงของไฟใต้ของ พล.ท.พรศักดิ์ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายๆ เรื่อง เช่น การเอาจริงกับการ “แก้ปัญหายาเสพติด” ในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการจัดการกับ “ผู้ค้ารายย่อย” หรือ “คนเดินยา” ในพื้นที่ ซึ่งเปรียบเหมือน “ร้านสะดวกซื้อ” ที่เปิดขายกันได้ 24 ชั่วโมง เพื่อลดจำนวน “คนติดยา” ในพื้นที่
 
โดยกำหนดห้วงเวลาไว้ 3 เดือน หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ให้จับต้องได้ เช่น ยาเสพติดในพื้นที่ต้องลดลง ผลงานของการจับกุมต้องเด่นชัดแบบรายวัน และจำนวนผู้ติดยาต้องถูกนำมาบำบัดไม่น้อยกว่า 10,000 คน
 
อีกนโยบายที่มีการสั่งการให้ทำจริงคือ การตรวจสอบ “โรงเรียนเอกชานสอนศาสนาอิสลาม” กว่า 3,000 โรงในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการทุจริตมาเป็นเวลาช้านาน ทั้งการทุจริตเงินรายหัวนักเรียน การทุจริตค่าอาหาร ค่าแบบเรียน และที่น่าอับอายมากคือ การหักเงินเดือนครูผู้สอนและเงินค่าเสี่ยงภัยครึ่งหนึ่ง เพื่อนำมาจ้าง “อุสตาส” และอื่นๆ ซึ่งมีหลักฐานว่าใช้ในการ “บ่มเพาะ” นักเรียนบางส่วนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็นฯ
 
ล่าสุด มีการประชุม “ประชาคมข่าวกรอง” เพื่อให้เป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งมีข่าวจาก “วงใน” ว่า “ส่วนหัว” ของงานความมั่นคงใน “ส่วนกลาง” ยอมรับแล้วว่า ไฟใต้ที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 14 ปี เป็นผลมาจาก “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ”
 
การที่จะยุติความรุนแรงในพื้นที่ต้องมีการยุติบทบาทของบีอาร์เอ็นฯ แต่เนื่องจากบีอาร์เอ็นฯ เป็นองค์กรลับ ดังนั้น การต่อกรกับบีอาร์เอ็นฯ จึงต้อง “รู้จัก” บีอาร์เอ็นฯ ในทุกแง่มุม และต้องมี “ยุทธศาสตร์” ในการจัดการกับบีอาร์เอ็นฯ ในโครงสร้าง และต้องมี “ยุทธวิธี” ในการจัดการกับแนวร่วมในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะดำเนินการอย่างไร
 
แต่จากการติดตามดูบริบทของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ทั้งเรื่องแก้ปัญหายาเสพติด เรื่องจัดการกับการทุจริตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เรื่องการประชุมประชาคมข่าวกรอง เรื่องประชุมกลุ่มภาคประชาสังคม และอื่นๆ เชื่อว่าทั้งหมดมุ่งเน้นในการจัดการกับบีอาร์เอ็นฯ ในแบบ “ทางอ้อม” โดยที่ไม่พยายามพูดถึงบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นนโยบายของ “ส่วนกลาง” ที่มีความเห็นของหลายหน่วยงาน เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และอื่นๆ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องปฏิบัติตาม แต่เชื่อว่าโดยเนื้อแท้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รู้ดีว่า “ศัตรู” หมายเลข 1 คือ บีอาร์เอ็นฯ
 
ประเด็นหนึ่งที่มีผู้สนใจถามกันมากคือ ผ่านไปแล้ว 1 เดือนหลังจากที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ 2 ผู้นำหารือกันไว้คือ เรื่องการขับเคลื่อน “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ที่ผ่านไปแล้ว 6 ปีใน 2 รัฐบาลคือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เวทีพูดคุยยัง “มองไม่เห็นอนาคต”
 
โดยประเด็นสำคัญคือ ผู้นำปีกทหารของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นผู้นำหมายเลข 1 ที่มีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการนั้น เขายังไม่ยอมเดินเข้าสู่โต๊ะของการพูดคุย
 
มีบริบทที่น่าสนใจหลังจากที่ ดร.มหาธีร์ เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยจาก “ดาโต๊ะซัมซามิน” ซึ่งเป็นคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัก ให้มาเป็น “ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์” ซึ่งเป็นอดีต ผบช.สันติบาล และอดีต ผบช.ตำรวจมาเลเซีย ซึ่งเป็นคนสนิทของ ดร.มหาธีร์ เองนั้น
 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การออกมาแสดงท่าทีของ “กลุ่มมาราปาตานี” ซึ่งเป็นที่รวมตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่ม โดยเวลานี้ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งให้เป็น “กลุ่มมาราปาตานี พลัส” ซึ่งก็ต้องจับตาว่าเปลี่ยนเพราะมีการเพิ่มเข้ามาของกลุ่มใหม่ หรือบุคคลอันเป็นที่จับตาหรือไม่
 
อีกทั้งมีประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มมาราปาตานีขอยืดเวลาการพูดคุยออกไปอีก 15 เดือน เพื่อให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งมีประเด็นข้อปลีกย่อยต่างๆ ในการ “ตำหนิ” ถึงความไม่จริงใจของรัฐไทยในการพูดคุยที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มมาราปาตานีถือว่าเป็นการ “สร้างภาพ” มากกว่าความจริงใจ และกลุ่มมาราปาตานีปฏิเสธว่าไม่มีส่วนร่วมกับการกำหนด “เซฟตี้โซน” โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยเพียงฝ่ายเดียว
 
ในขณะที่มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นข่าวใน “เชิงลึก” แต่ “ไม่ลับ” ว่า ตัวแทนระดับสูงของบีอาร์เอ็นฯ มีแผนในการ “เตะถ่วง” เวทีการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ด้วยการเข้าพบกับผู้นำระดับรองของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อให้สนับสนุนให้บีอาร์เอ็นฯ อยู่ในประเทศมาเลเซียเพื่อต่อสู้กับรัฐไทยในการแบ่งแยกดินแดนได้ต่อไป โดยภายใน 2 ปีของรัฐบาล ดร.มหาธีร์ นั้น บีอาร์เอ็นฯ จะใช้ยุทธวิธีที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ต้องเข้าสู่เวทีการพูดคุยในฟากกลุ่มมาราปาตานี แม้ว่าอาจจะถูก “บีบ” จาก ดร.มหาธีร์ และตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ ก็ตาม
 
ที่สำคัญมีการกำหนดชัดเจนว่า มีบุคคล 2 คนที่ไม่ต้องการพบปะกับ ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ นั่นคือ “ดุลเลาะ แวมะนอ” ผู้นำหมายเลข 1 ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ และ “อุสตาสเซ็ง” หรือ “กามารูดิง” ซึ่งถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณที่สำคัญของบีอาร์เอ็นฯ เช่นกัน
 
ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า หากฝ่ายมาเลเซียบีบคั้นให้บีอาร์เอ็นฯ ปีกทหารเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย กลยุทธ์หนึ่งที่บีอาร์เอ็นฯ ต้องนำออกมาใช้คือ การให้ “ดูลเลาะ” และ “กามารูดิง” เดินทางไปอาศัยอยู่ยังประเทศที่ 3 เป็นการชั่วคราว
 
เมื่อกลับมาดูในส่วนคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐไทย ซึ่งมีหัวหน้าคณะคนใหม่คือ “บิ๊กเมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษรัฐบาลและอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการ “จัดทัพ” คณะพูดคุยใหม่ที่ยังไม่มีการเผยโฉมหน้ากับสื่อว่าประกอบด้วยใครบ้าง แต่มีสิ่งที่เห็นชัดเจนแล้วคือ มี “เงาร่าง” ของ “อิสการ์ดา ธำรงทรัพย์” คนสนิทของ “อดีตแม่ทัพเมา” ร่วมอยู่ด้วยนั่นเอง
 
นั่นเท่าที่รับรู้กันว่าคือ ตัวแทนของอดีตแม่ทัพเมามีการเดินสายไปพบปะพูดคุยกับบุคคลต่างๆ และเตรียมนโยบายในการพูดคุยครั้งใหม่ไว้แล้ว รอเพียงความพร้อมของผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียที่จะไฟเขียวเท่านั้น
 
โดยข้อเท็จจริงถ้าดูตาหน้าเสื่อแล้ว ฝ่ายรัฐไทยจะต้องทำงานใน “เชิงรุก” ในเรื่องการเร่งเปิดเวทีการพูดคุยให้เห็นเนื้อเห็นหนังโดยเร็ว โดยเฉพาะในยุคที่ ดร.มหาธีร์ ยังนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ดร.มหาธีร์ มีความตั้งใจในการที่จะยุติขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย ด้วยเหตุผลทั้ง “ทางการเมือง” และ “ทางเศรษฐกิจ”
 
ดังนั้น หัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐไทยจึงต้องแย่งชิงช่วงเวลา 2 ปีนี้ให้เป็นประโยชน์กับการพูดคุยให้มากที่สุด ไม่ใช่รอให้ผู้อำนวยการความสะดวกเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและเวลาให้เท่านั้น
 
อีกทั้งต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า การพูดคุยครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นรัฐไทยต้องการพูดคุยกับใครบ้าง ถ้าไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็นฯ ที่สามารถตัดสินใจได้ก็ไม่ต้องพูดคุยกันต่อไป เพราะเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าการพูดคุยยังคงเป็นแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเพียง “เกมการเมือง” และเป็นเรื่องของ “การสร้างภาพ” ให้เห็นว่า นี่คือการดับไฟใต้ด้วยสันติวิธีเท่านั้น
 
ที่น่ากังวลใจคือ การพูดคุยครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการพูดคุยในห้วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในโหมดของ “การเลือกตั้ง” ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาล และ คสช.ต้องใช้เวลาทั้งหมดในการให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง มากกว่าเรื่องของการพูดคุยอย่างแน่นอน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมหมายถึงอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองด้วย
 
ดังนั้น เรื่องการพูดคุยจึงอาจจะเป็นเรื่องย่อยที่เป็นภาระของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ซึ่งจะมีความสำเร็จหรือล้มเหลวเกิดขึ้นนั้น ย่อมไม่มีความสำคัญมากกว่าการก้าวสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ “บิ๊กตู่” อีกครั้งอย่างแน่นอน
 
เมื่อวิเคราะห์จากบริบทของทุกภาคส่วนแล้ว จึงเชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดน้อยถอยลง หรือเบาบางลงขนาดไหน ไม่ได้อยู่ที่บริบทของการพูดคุยสันติสุขครั้งใหม่ แต่อยู่ที่ “นโยบายดับไฟใต้” ของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นสำคัญ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น