xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้า 4.3 สตางค์ต่อหน่วย...ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน  /  โดย...ประสาท มีแต้ม


 
 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศที่จะขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือค่าเอฟทีไฟฟ้าสำหรับงวด 4 เดือนแรกของปีหน้า คือปี 2562 จำนวน 4.3 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมกับได้เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 เดือนพฤศจิกายนนี้

เหตุผลที่ทาง กกพ.นำมาอ้างในการขึ้นราคาครั้งนี้มีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ที่น่าแปลกใจคือ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ หรือให้น้ำหนักว่าแต่ละปัจจัยมีส่วนร่วมในการขึ้นราคาครั้งนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูเป็นเรื่องปกติขององค์กรนี้ไปแล้ว เช่น น้ำมันดีเซลขึ้นราคา แต่ในความเป็นจริงแล้วเราใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าแค่ประมาณ 0.1% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น นั่นคือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแทบจะไม่มีผลต่อการขึ้นค่าเอฟทีแม้แต่นิดเดียว 

ในความเห็นของผม การคิดคำนวณค่าเอฟทีไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและหลายขั้นตอนมาก ทั้งๆ ที่ใช้ความรู้คณิตศาสตร์เบื้องต้น คือ บวก ลบ คูณ และหารเท่านั้น ถ้าในฐานะผู้บริโภคธรรมดาๆ ใครที่มีความอดทนที่จะตามไล่ตรวจสอบการคิดดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ผมว่าผู้นั้นสมควรจะได้รับรางวัลผู้บริโภคดีเด่นนะครับ

ในช่วง 4 เดือน โดยเฉลี่ยคนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 6 หมื่นล้านหน่วย ดังนั้น ทุกๆ 1 สตางค์ของการขึ้นค่าเอฟทีในแต่ละครั้งจะเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ถ้าขึ้นไป 4.3 สตางค์ต่อหน่วยก็คิดเป็นเงินรวม 2,580 ล้านบาท

ดังนั้น เรื่องการขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่องค์กรพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคจะมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยากจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ มีธรรมาภิบาล และมีประสิทธิภาพ องค์กรผู้บริโภคจึงต้องช่วยกันตรวจสอบ

บทความนี้จึงขอเสนอความคิดเห็นบางส่วน โดยเลือกเอาประเด็นที่สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ไม่ยากและไม่ซับซ้อนนัก ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ทำไมไม่คำนวณค่าเอฟทีย้อนหลัง เพราะการคำนวณล่วงหน้าทำให้คาดการณ์ได้ยาก

โดยปกติการคำนวณค่าเอฟทีไฟฟ้าเป็นการคำนวณล่วงหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการคาดการณ์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิงที่ขึ้นกับตลาดโลก ปริมาณการใช้ไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล (เช่น การสั่งให้ผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์มเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น)

กล่าวเฉพาะการขึ้นค่าเอฟทีในครั้งนี้ ได้มีการอ้างเหตุผลว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงปัจจุบัน (ก.ย. ถึง ธ.ค.61) เพราะอากาศร้อนขึ้น แต่เท่าที่ผมได้ตรวจสอบข้อมูลจริงย้อนหลังหลายปี พบว่า บางปีก็เพิ่มขึ้นจริง แต่บางปีก็ลดลง เมื่อมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีพจน์ (หรือ term) การแก้ไขเข้ามาอยู่ในสูตรการคำนวณ ทำไมเราไม่ใช้ข้อมูลจริงซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วมาคำนวณ ผมคิดว่าตัวสูตรการคำนวณน่าจะมีความซับซ้อนและน่าเบื่อน้อยลง

ผมคิดแบบง่ายๆ นะครับ ยังไม่ได้ลองไล่ตามสูตรทีละขั้นตอนให้จบสักที (เพราะขาดความอดทน) 

การเก็บค่าเอฟทีย้อนหลังก็ทำให้ทางการไฟฟ้าฯ ได้เงินช้าไปเพียง 4 เดือนเท่านั้น คิดเป็นเงินก็ประมาณ 3 พันล้านบาท ไม่น่าจะทำให้การไฟฟ้าฯ เดือดร้อนมากนัก แต่สูตรการคำนวณน่าจะมีความซับซ้อนและน่าเบื่อน้อยลงมาก

ผมเคยสอบถามเพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์ด้านพลังงาน เขาก็ยอมรับว่าสูตรการคำนวณค่าเอฟทีในปัจจุบันมีความน่าเบื่อมาก

สอง เหตุผลสำคัญอยู่ที่ปัจจัยใดกันแน่

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทาง กกพ.ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญหรือน้ำหนักของปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้า แต่จากข้อมูลของ กฟผ. (ซึ่งก็ยังเป็นแค่ประมาณการ) พบว่า

ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (ซึ่งเป็นสัญญาที่ทาง กฟผ.ได้ทำกับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ในรูปแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ทั้งนี้ เพื่อความพร้อมที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทันทีเมื่อได้รับคำสั่งให้ตอบสนองความต้องการ) เพิ่มขึ้น 4.71 สตางค์ต่อหน่วย ในขณะที่ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ซื้อจากเอกชน (รวมค่าเชื้อเพลิง ค่าเงินเดือนและอื่นๆ) จะเพิ่มขึ้นเพียง 1.19 สตางค์ต่อหน่วย (ดูภาพประกอบ)

 
ถ้าคิดเป็นความสำคัญ หรือน้ำหนักของปัญหา เราจะเห็นว่าน้ำหนักเรื่องค่าความพร้อมจ่าย (ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า) คิดเป็นประมาณ 4 เท่าของค่าพลังงานไฟฟ้า (ซึ่งเกี่ยวข้องค่าเชื้อเพลิงและเงินเดือนพนักงาน) โดยค่าความพร้อมจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 จะมากกว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ถึง 1,849 ล้านบาท 

ในปี 2560 และปี 2561 ค่าความพร้อมจ่ายที่ผมรวบรวมได้จากเว็บไซต์ของ กฟผ. เท่ากับ 92,410.55 และ 105,467.02 ล้านบาทตามลำดับ นั่นเป็นเพราะว่าเรามีจำนวนโรงไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้นแทบจะทุกเดือน

จากข้อมูลเดือนตุลาคม 2561 กำลังการผลิตรวมในระบบของ กฟผ.มีจำนวน 43,075.13 เมกะวัตต์ 
ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.เพียง 36.6% เท่านั้น ผมจำได้ว่าเมื่อไม่กี่เดือนก่อน สัดส่วนของ กฟผ.อยู่ที่ประมาณ 38% กำลังการผลิตรวมประมาณ 42,000 เมกะวัตต์
 

 
และในต้นปี 2562 โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะเปิดใช้อย่างเต็มระบบเฉพาะที่ป้อนให้ประเทศไทย จำนวน 1,200 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าปีละ 6,929 ล้านหน่วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1 (NNP) ขนาด 289 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย (XPXN) ซึ่งเพิ่งแตกไปไม่นานอีก 370 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2562 จะเริ่มทยอยเปิดใช้งาน

ในขณะที่ความต้องการสูงสุดของปี 2561 เท่ากับ 28,338.10 เมกะวัตต์เท่านั้น

สาม ข้อมูลเสริมปี 2560 ที่ขัดแย้งการขึ้นค่าเอฟที

เนื่องจากสูตรการคำนวณค่าเอฟทีมีความซับซ้อน ผมจึงตรวจสอบกับข้อมูลราคาขายไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พบว่า ในขณะที่ปี 2560 ราคาขายดังกล่าวลดลง 2 ถึง 5 สตางค์ต่อหน่วย แต่ค่าเอฟทีกลับเพิ่มขึ้น จากราคากลางปี (พ.ค.ถึง ส.ค.59) ที่ ลบ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย เป็น ลบ 15.90 สตางค์ต่อหน่วย ในกลางปี 60 หรือเพิ่มขึ้น 8.87 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งๆ ที่ราคาขายของ กฟผ.ลดลง (ดูหลักฐานในภาพประกอบ)

มันสวนทางกันอย่างมากเลยครับ ทั้งๆ ที่ กฟน.และ กฟภ.มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันกว่า 99% ของไฟฟ้าทั้งระบบ

 
ข้อมูลที่สวนทางกันดังกล่าวต้องสะท้อนถึงความผิดพลาดในการคำนวณค่าเอฟทีอย่างแน่นอน แต่ผมไม่ทราบว่ามันผิดพลาดตรงไหน 

เรื่องนี้องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องทำความจริงให้ปรากฏ

สี่ ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ 

นอกจากเรื่องใหญ่ๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ผมได้พบสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะผิดพลาด แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ดังรูปครับ
 

 
เรื่องพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไฟฟ้า นักวิชาการหลายคนได้สรุปว่าโลกได้เข้ามาสู่ยุคที่เรียกว่า Clean Disruptive Technology มานานร่วม 4-5 ปี และกำลังแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เราจะมัวคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วอนาคตได้มาถึงเรียบร้อยแล้วครับ เราจำเป็นต้องคิดใหม่ทั้งหมดครับ
 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น