xs
xsm
sm
md
lg

ที่ “ลุงตู่” ปฏิเสธต่อหน้า “เสือเฒ่า” เมื่อตอนมาเยือนเรื่องไม่มีการแบ่งแยกดินแดน..นั่นคือการ “พูดปด”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะของ “หุ้นส่วน” ที่มีอยู่ 1 หุ้นเท่าเทียมกับทุกคนที่ถือบัตรประชาชนไทย และเป็นหน้าที่ในฐานะที่มีอาชีพ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่ได้ทำมาตั้งแต่จบการศึกษา
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ คือ ความรุนแรงยังมีอยู่ และเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นผู้กระทำ กล่าวคือ การยิง “อส.ทพ.” หรืออาสาสมัครทหารพรานที่ตลาดตันหยง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทำให้ตาย 1 เจ็บ 1 และการยิง “อส.” หรืออาสาสมัครชุดคุ้มครองตำบลที่บ้าน 9 ศพ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ส่วนการก่อเหตุในรูปแบบต่างๆ และการยิงชาวบ้านหลายรายยังไม่ทราบชัดว่า เป็นเรื่องของ “ความมั่นคง” หรือเรื่อง “ส่วนตัว” 
 
การที่เจ้าหน้าที่รัฐยังตกเป็นเป้าหมายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจรใต้ หรือแนวร่วมยังเคลื่อนไหวในพื้นที่ ติดตามการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อพื้นที่ไหนมีช่องว่าง เผยช่องโหว่ และเกิดจุดอ่อนขึ้น แนวร่วมในพื้นที่ก็จะปฏิบัติการทันทีที่ “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม”
 
ซึ่งเป็นเรื่องของผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ในการใช้ “ยุทธวิธี” ปฏิบัติ เพื่ออย่าให้กำลังพลต้องตกเป็น “เหยื่อ”ของแนวร่วม เพราะหากประมาท เชื่อมั่นว่าไม่เป็นไร ไม่มีอะไร ทุกชีวิตจบสิ้นทุกราย รวมทั้งผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ต้อง “รอบรู้” ต้อง “เข้าใจ” ว่าในพื้นที่แบบไหน ควรจะมีการปฏิบัติอย่างไร เช่น ตลาดที่มีแต่มุสลิมเข้าไปจับจ่ายใช้สอย หมู่บ้านที่เป็นมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ จำเป็นหรือไม่ในการต้องส่งกำลังไปรักษาความปลอดภัย เพราะพวกเขาไม่ทำร้ายกันเองอยู่แล้ว ยกเว้นส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องมีความพร้อมในการ “รับมือ” กับการซุ่มโจมตี หรือการลอบทำร้าย
 
บ่อยครั้งที่โจรใต้ หรือแนวร่วมวาง “กับดัก” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปติดกับ หรือไปเดินตามเกมที่เขาวางไว้ เช่น การที่โจรใต้ยิงปืนใส่จุดตรวจ บ้านพัก หรือฐานปฏิบัติการเพียงไม่กี่นัด และหลังจากนั้นก็เกิด “ความโกลาหล” เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติการเข้มข้นตลอดทั้งคืน โดยเป็นการ “เหนื่อยเปล่า เสียเวลาเปล่า จับมือใครดมไม่ได้ แม้แต่รายเดียว” เพราะโจรมันก่อเหตุเพื่อให้เป็นไปตามแผนในการสร้าง “เงื่อนไขสงคราม”
 
และรุ่งเช้าเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจค้น ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถาม ซึ่งเป็น “ความโกลาหล” ตลอดทั้งวัน เพื่อค้นหาโจรหรือแนวร่วมผู้ก่อเหตุ และแน่นอนโจรหรือแนวร่วมผู้ก่อเหตุไม่อยู่ให้จับกุม ส่วนคนที่ถูกควบคุมมาเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย และอาจจะเป็น “ตัวเล็ก ตัวน้อย” ในขบวนการ แต่ไม่ใช่โจรที่ก่อเหตุตัวจริง
 
เช่นเดียวกับเมื่อทหารพรานตาย 1 เจ็บ 1 เราก็ไปควบคุมตัว “ครูสอนศาสนา” มา 2 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีบัญชีรายชื่ออยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อเราสูญเสีย เราก็ไปควบคุมตัวมาซักถาม ซึ่งในความเข้าใจและความรู้สึกของชาวบ้านนั้น คนที่ยิงทหารพรานเป็นคนละเรื่องกับการจับ “อุสตาซ” หรือครูสอนศาสนา เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเขาไม่ใช่คนยิงทหารพราน เจ้าหน้าที่ทำไมไม่จับคนยิงทหารพราน แต่กลับไปจับครูสอนศาสนาทำไม
 
เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าอุสตาซที่ถูกควบคุมตัวเป็น “เครือข่าย” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะฝ่ายความมั่นคง ไม่เคยกล้าที่จะเปิดเผยความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ถึง “โครงสร้าง” ของขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” ว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร มีกลุ่มคนกลุ่มไหนบ้างที่ถักทอเป็นเครือข่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมีหน้าที่ มีความเคลื่อนไหวเพื่อผสานกันอย่างไร
 
ดังนั้น แค่โจรหรือแนวร่วมวางแผนยิงใส่ฐานปฏิบัติการเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่นัด เราก็ตกหลุมพรางเดินตามแผนที่ “แกนนำ”  ขบวนการแบ่งแยกดินแดนวางไว้ ส่งกำลังออกปฏิบัติการโกลาหลทั้งคืนทั้งวัน สุดท้ายกลายเป็นการเสียมวลชนไปโดยที่ไม่รู้และไม่ตั้งใจ
 
ทั้งที่การที่จะควบคุมตัวอุสตาซ หรือบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวหลังการยิงทหาร หรือวางระเบิดก็ได้ เพราะคนเหล่านี้เป็นเครือข่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่เคลื่อนไหวเพื่อการแบ่งแยกดินแดนอยู่ตลอดเวลา
 
และอีกปรากฏการณ์หนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย นั่นคือการ “พ่นสี” บนถนนบ้าง บนสะพานบ้าง และป้ายบอกชื่อหมู่บ้านบ้าง แล้วทำเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวเพราะไม่ใช่เหตุรุนแรง และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รีบทำ “ความสะอาด” เพื่อไม่ต้องการให้ชาวบ้านได้รับรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯ ยังคงมี “ธง” ในการต่อสู้เพื่อคำว่า “เอกราช” หรือ “เมอเดก้า”  ซึ่งแม้ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็น “ยุทธศาสตร์” ที่ยังใช้เพื่อการขับเคลื่อนขบวนการ
 
ดังนั้น ณ ขณะนี้สิ่งสำคัญของการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นของหน่วยงานความมั่นคง จึงยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของบีอาร์เอ็นฯ ในเรื่องของการแบ่งแยกดินแดนเป็นสำคัญ เพราะปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ คือการ “ตายจริง เจ็บจริง สูญเสียจริง” ในขณะที่ปัญหาอื่นๆ นั้นเป็นเพียงส่วนประกอบของความรุนแรงเท่านั้น
 
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะปฏิเสธว่า ไม่มีเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ในการหารือกับ ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียที่เดินทางมาเยือนไทย แต่นั่นเป็นเพียง “วาทกรรม” ของผู้นำประเทศเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริงบิ๊กตู่ก็รู้ว่าตนเอง “พูดปด” เพราะหากไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไฉนต้องมีการ “ตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุข” โดยให้ ตันสรี นุร์ อดีต ผบช.สันติบาล และ ผบช.ตำรวจมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เล่า
 
ดังนั้น การที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ใช้นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อาจจะเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียว” ได้ “นก 2 ตัว” ก็เป็นได้ เพราะเมื่อ กอ.รมน. ชูธงเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด การส่งกำลังเข้าไปเคลื่อนไหวในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ย่อมมีความชอบธรรมและมีความสะดวกในการปฏิบัติการในหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นผลให้แนวร่วมที่แฝงตัว “ปฏิบัติงานการเมือง” ในหมู่บ้านต่างๆ ย่อมเคลื่อนไหวไม่สะดวกเหมือนเดิม
 
แต่ในขณะเดียวกัน การใช้กำลังพลเข้าปฏิบัติการในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ถ้าปล่อยให้กำลังพลตั้งอยู่ในความประมาทเมื่อไหร่ ย่อมเกิดความสูญเสียในทันทีเช่นกัน เพราะโจรใต้หรือแนวร่วมของบีอาร์เอ็นฯ ในแต่ละพื้นที่ยังมีความพร้อมในการปฏิบัติการเช่นกัน
 
รวมทั้งการแบ่งกำลังจากการลาดตระเวน การป้องกันเหตุบนถนนสายต่างๆ เพื่อใช้ในภารกิจการแก้ปัญหายาเสพติด อาจจะมี “ช่องว่าง” เกิดขึ้นบนถนนสายหลัก และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งโจรใต้หรือแนวร่วมที่ยังคง “เกาะติด” การเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ และพร้อมที่จะปฏิบัติการต่อเจ้าหน้าที่รัฐในทันที
 
และสุดท้ายเรื่องการปราบยาเสพติด อย่าได้มองในด้านบวกเพียงอย่างเดียว ต้องมองในด้านลบให้เห็นเช่นกัน เช่น การดื่มน้ำกระท่อม การเคี้ยวใบกระท่อม กลายเป็น “วัฒนธรรม” ของคนในพื้นที่ไปแล้ว บ้านเรือนของคนในชนบทต่างมี “หม้อต้มน้ำกระท่อม” เพื่อใช้ดื่มชีวิตประจำวันทั้งเยาวชนและคนทั่วไป การปราบปรามยาเสพติดจำนวนกระท่อมอย่างเข้มงวด หรือการใช้หลัก “นิติศาสตร์” อย่างเต็มที่ อาจจะไป “เข้าทาง” ของบีอาร์เอ็นฯ ก็เป็นได้
 
สุดท้ายต้องระวังอย่าให้นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดกลายเป็นการหา “ผลประโยชน์ของกำลังพล” ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านๆ มาเป็นที่รู้กันในหมู่ของผู้เสพผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน เมื่อถูกจับกุมจากตำรวจ สิ่งที่ผู้เสพ ผู้ค้าทุกคนล้วนรู้ดีคือ สำหรับกระท่อมถ้า “ไม่ไปโรงพัก” ต้องจ่าย 5,000 บาท ถ้าเป็นยาบ้าเม็ดละ 50,000 ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงต้องป้องกันให้ได้ นอกจากให้ตำรวจเลิกวิธีการนี้แล้ว ต้องไม่ให้กำลังของทหารเป็นโรคติดต่อจากวัฒนธรรมของตำรวจด้วย การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จึงจะได้ผล
 
กล่าวโดยสรุปคือ บีอาร์เอ็นฯ และการแบ่งแยกดินแดนคือ “ปัญหาหลัก” ส่วนเรื่องของยาเสพติดยังเป็น “ปัญหารอง” แต่ถ้าแก้ไขได้ทั้ง 2 ปัญหา “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะได้ทั้งในเรื่อง “การทหาร” และ “การเมือง” ไปพร้อมๆ กัน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น