xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับ ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี จัดโครงการ “ศาสนิกสัมพันธ์” ที่สงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี ลงพื้นที่ จ.สงขลา จัดโครงการ “ศาสนิกสัมพันธ์” ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และชุมชน เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา

วันนี้ (3 พ.ย.) ที่บริเวณเขื่อนคลองสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี และแผนกพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวชุมชน ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา จัดกิจกรรมโครงการ “ศาสนิกสัมพันธ์” ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา โดยใช้พลังชุมชนเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรม ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมี นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการ และมีพระมหาวิเชียร วชิรธัมโม ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า นิสิตนักศึกษาจาก 2 มหาวิทยาลัยที่มาจากหลากหลายศาสตร์ เช่น รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีและการสื่อสาร อิสลามศึกษา ศึกษาศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาสังคม เป็นต้น
 

 
รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติจากประเทศจีน และกลุ่มประเทศแอฟริกา เข้ามาใช้ชีวิตเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ถึงแม้จะต่างความเชื่อ ต่างการปฏิบัติ ต่างศาสนา แต่ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นหนึ่ง และมีความตั้งใจที่จะช่วยกันพัฒนาเขตพื้นที่ ต.สำนักแต้ว ทั้ง 10 หมู่บ้าน ให้เป็นเขตการพักผ่อน และการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมที่จะเชื้อเชิญคนต่างถิ่นให้มาเยี่ยมเยือนพื้นที่

นายอาลี นักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศไลบีเรีย กล่าวว่า ตนเองรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้เจอความสวยงามของธรรมชาติ ความมีมิตรไมตรีของผู้คนในพื้นที่ รู้สึกประทับใจมากๆ

ขณะที่ นายทัศนพล ชื่นอิ่มทรัพย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดีในการเสริมสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกันของนักศึกษาทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ท่ามกลางพหุวัฒนธรรม แม้จะต่างศาสนากัน แต่ก็สามารถเชื่อมความรัก ความสามัคคี อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม
 

 
ด้าน นางสิโนรัตน์ รัตนศรี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสำนักแต้ว กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่รู้สึกตื่นเต้นที่มีนักศึกษามาจากต่างพื้นที่ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ มาจัดโครงการในครั้งนี้ จึงได้เตรียมการต้อนรับ พร้อมนำเสนอของดีของชุมชนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของคนในชุมชน

สำหรับ “ตำบลสำนักแต้ว” เป็นส่วนหนึ่งใน 4 ตำบล (ต.สำนักขาม ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.สะเดา) ของ อ.สะเดา จ.สงขลา ที่อยู่ในนโยบายการพัฒนาในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ อันมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ติดชายแดนเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการพัฒนาพื้นที่ เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยฐานของชุมชนจากการท่องเที่ยว และส่งเสริมความสามารถ ความเชื่อมั่นของชุมชนในการที่จะเตรียมตัวในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว การบริการจากฐานวัฒนธรรมความเป็นตัวตนของตนเอง และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องต่อสภาพภูมินิเวศ
 

 
จากการสร้างความมั่นใจของชุมชน โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างกระบวนการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จากการทำกิจกรรมกับนิสิต นักศึกษาจากทั้ง 2 สถาบัน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบริการนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน อันจะเป็นฐานที่จะนำเสนอเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามเป้าประสงค์ของการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวชุมชนในประเทศ ส่งเสริมศักยภาพชุมชนในด้านการบริการการท่องเที่ยวจากการต้อนรับ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต นักศึกษา และคณาจารย์จาก 2 สถาบัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีชุมชน หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการโฆษณาความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนจากคนรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การปล่อยปลาบริเวณเขื่อนห้วยคู หรืออ่างเก็บน้ำคลองสะเดา การแบ่งกลุ่มในการเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ชุมชนร่วมกัน การเรียนรู้ชุมชน และการจัดการ OTOP นวัตวิถี
 







กำลังโหลดความคิดเห็น