xs
xsm
sm
md
lg

“มงคล” นำผู้บริหาร ธพว.ลุยเปิดตลาด 2 จังหวัดใต้ สุดปลื้มกับโครงการติดปีกธุรกิจยางด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - บิ๊กบอส ธพว.ลุยใต้ ปลื้มความสำเร็จโครงการ SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางด้วยนวัตกรรม ที่ได้ร่วมกับ ม.อ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจติดดาวด้านการแปรรูปยางจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ
 
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารเปิดตัวโครงการ SME- D Scaleup  Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีการอบรมรวม 3 แคมป์ (ก.ค.-ก.ย.) สิ้นสุดวันนี้ (23 ก.ย.) รวมระยะเวลา 5 เดือนนับจากเริ่มต้นโครงการมานั้น
 

 
จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศกว่า 100 กิจการ และผ่านการเข้าอบรม 51 กิจการ เช่น หมอนยางพารา ถุงมือยาง อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ พรมละหมาด รองเท้ายาง ขณะนี้โครงการเดินมาถึงครึ่งทางแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าวัตถุประสงค์ โดยจากผลการสำรวจผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของธุรกิจ โดยประมาณการปี 2561 ภาพรวมยอดขาย 977 ล้านบาท จากฐานปี 2560 เท่ากับ 880 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.02%  
 
“แต่ถ้าแยกเป็นขนาดของธุรกิจ รายเล็กจะขยายตัวยอดขายเพิ่มขึ้น 21.25% และรายใหญ่เพิ่ม 8.61% เกิดการจ้างงานสูงขึ้น 68.46% จากฐานปี 2560 เท่ากับ 574 คน ปี 2561 เพิ่มเป็น 967 คน สามารถสร้างแรงบันดาลใจเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรม หรือแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มประมาณ 17 รายการ เช่น หมอนอัจฉริยะ ยางขึ้นรูปสามมิติ เสื่อโยคะ เป็นต้น” นายมงคล กล่าวและว่า
 
โครงการ SME D Scaleup Rubber Innovation เกิดจากแนวคิดยางพาราผลิตผลทางการเกษตรหลักที่สำคัญ และนับเป็นรายได้หลักอันดับหนึ่งของประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาตกต่ำ การเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยนวัตกรรมนับเป็นความท้าทายที่จะขับเคลื่อนห่วงโซ่การใช้ยางพารา การสนับสนุนให้ SMEs และ Startup ที่ประกอบธุรกิจด้านยางพาราเกิดความเข้มแข็งด้วยนวัตกรรม จะทำให้สามารถปรับองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก
 
โครงการนี้ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายยางพาราที่เข้มแข็งจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ประกอบด้วย การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม ทราบถึงเทคโนโลยียางที่เกี่ยวข้อง ความสำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิธีการสร้างนวัตกรรม รวมถึงความตระหนักถึงทรัพย์สินทางปัญญา ช่องทางการตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้น จากวิทยากรชั้นแนวหน้า เนื้อหาครอบคลุมรอบด้าน ที่ทำให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ทุกมิติตอบโจทย์ความต้องการยุค 4.0
 

 
นอกจากนี้ กิจการที่เข้าหลักสูตรนี้ทั้ง 51 บริษัทจะได้รับการดูแล Coach จากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. อีก 3 เดือน คือ ต.ค-ธ.ค.2561 เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำตรงตอบสนองตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการแต่ละกิจการ ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของผู้เข้าอบรมอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับองค์ความรู้ เพื่อนำไปปรับใช้บ่มเพาะแนวคิดต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมแล้ว ธพว.ยังสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ย 1%  สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ดอกเบี้ย 3% และสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรดอกเบี้ย 4% ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อขยาย ปรับปรุง หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจด้วย
 
โดย ณ วันที่ 23 ก.ย.2561 อนุมัติสินเชื่อแล้ว 9 ราย วงเงิน 17.68 ล้านบาท และอยู่ในกระบวนการพิจารณาอีกวงเงินประมาณ 10-20 ล้านบาท รวมถึงการขยายผลการสนับสนุนเงินทุนไปสู่กลุ่มธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โครงการหรือกลุ่มอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ตามแนวทางการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาให้ความรู้ควบคู่เงินทุน” กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าว 
 
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมแคมป์ 3 โครงการ SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม มีกิจกรรม Pitching สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดธุรกิจ ผลการแข่งขันมีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ หจก.หาดใหญ่ รับเบอร์เทค ผลิตภัณฑ์ พรมละหมาดยางพาราเพื่อสุขภาพ รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้รับโล่เกียรติยศและเงินรางวัล 15,000 บาท ได้แก่ หจก.4U Nature(thailand) ผลิตภัณฑ์ Innovation Small Pillow กับ D&C Design and Concept ผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นจากยางพารา ส่วนรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 5,000 บาท ได้แก่ บริษัทไรส์ชิลเลอร์ จำกัด ผลิตภัณฑ์โต๊ะอาหารและเก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุ กับ Greensery ถุงเพาะชำจากยางพารา
 

 
“ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด ธพว.จะพาไปศึกษาดูงาน Smart Biz Expo งานแสดงสินค้าด้านนวัตกรรมและหลากหลายไอเดียธุรกิจจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 5-7 ธ.ค.2561 เพื่อสร้างโอกาสในการพบคู่ค้าและเครือข่ายการค้าต่างประเทศด้วย” นายมงคล กล่าว
 
ด้าน รศ.อาซีซัน แกสมาน ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ.กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ที่ทำให้งานวิจัยในวงการยางพารานวัตกรรมใหม่มีชีวิตชีวาเป็นพิเศษเกินคาดหมาย ผู้เข้าร่วมโครงการมาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ เกิดเครือข่ายของผู้ประกอบรุ่นใหม่ นักออกแบบดีไซน์แฟชั่น นักธุรกิจ หลายอาชีพ แต่นำเอายางพาราไปสร้างสรรค์และเติมนวัตกรรมใหม่ๆ
 
“ไม่น่าเชื่อว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านยางพารา เมื่อถูกออกแบบประยุกต์ใส่อาร์ต ใส่ดีไซน์ สามารถเกิดมิติใหม่ของสินค้าจากการเพิ่มมูลค่ายางพาราครั้งนี้ได้อย่างน่าทึ่งมาก” รศ.อาซีซัน กล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจาก นายมงคล เข้าร่วมงานโครงการ SME-D Scaleup Rubber Innovation ติดปีกธุรกิจยางแล้ว ยังได้นำคณะผู้บริหารทั้งระดับเขต และสาขาในภาคใต้เดินสายดูงานใน 2 จังหวัดด้วย คือ ช่วงเช้าได้เดินทางไปยังร้านคนจับปลาที่ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล มีนายบรรจง นะแส นายกกิตติมศักดิ์สมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้การต้อนรับ จากนั้นช่วงบ่ายเดินทางต่อไปพบเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าโอทอปที่เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา มี นายพงศวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานเครือข่ายโอทอปสงขลา ให้การต้อนรับ
 





กำลังโหลดความคิดเห็น