xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนา 2 อำเภอในนครฯ เดือดร้อนหนักขาดน้ำ ร้องชลประทานช่วยแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - ชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือนใน 2 อำเภอของ จ.นครศรีฯ เดือดร้อนหนัก น้ำไม่พอทำนาข้าว ร้องกรมชลประทานให้แบ่งสันปันส่วนน้ำอย่างทั่วถึง หวั่นนาข้าวเกิดความเสียหายนับพันไร่ ขู่หากไม่ได้รับการแก้ไขจะออกมาเคลื่อนไหวแน่

วันนี้ (23 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.เชียรเขา อ.เฉลิมพระเกียรติ และ ต.เชียรใหญ่ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของลำคลองสายหลัก ที่เกษตรกรใช้น้ำในการทำนาข้าว ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนเรื่องน้ำไม่พอทำนาในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 7, 11 และหมู่ 12 ของ ต.เชียรเขา อ.เฉลิมพระเกียรติ และ 3 หมู่บ้านคือ หมู่ 1, 9 และหมู่ 10 ของ ต.เชียรใหญ่ อ.เชียรใหญ่ เนื่องจากพื้นที่นาข้าวจำนวนนับ 1,000 ไร่ ที่กำลังตั้งท้องออกรวงขาดน้ำอย่างหนัก
 

 
นายประสิทธิ์ ทองอุ่น อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52 หมู่ 12 ต.เชียรเขา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรนาข้าว ระบุว่า ชาวบ้านหลาย 100 ครัวเรือนใน 2 ตำบล ของ 2 อำเภอ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาข้าว ซึ่งต้องการใช้น้ำสูบลงนาข้าวต่อเนื่อง แต่เกิดปัญหาเรื่องน้ำสืบเนื่องมาจาก 2 คลองสายหลักที่น้ำเริ่มลดน้อยลง ปัญหาคือ ด้านฝั่งตะวันตกมีการสูบน้ำเข้านากันอย่างสะดวก แต่ด้านฝั่งตะวันออกนั้นสูบน้ำจากคลองไม่ได้

“ทำให้กังวลกันว่า หากไม่สูบน้ำเข้านาที่กำลังตั้งท้องออกรวง นาข้าวอาจจะเสียหายจำนวนนับ 1,000 ไร่ ซึ่งต้องการเรียกร้องให้กรมชลประทาน มาให้การช่วยเหลือแบ่งสันปันส่วนเรื่องน้ำให้แก่ชาวบ้านอย่างเท่าเทียมกัน หลายคนสงสัยว่าทำไมชาวนาที่อยู่ฝั่งตะวันตกสูบน้ำเข้านาได้ตลอดเวลา ในขณะที่ฝั่งตะวันออกไม่ยอมปล่อยน้ำเข้าคลองซอยเพื่อให้ชาวนาได้สูบเหมือนๆ กัน ซึ่งเท่าที่เห็นน้ำในคลองซอยฝั่งตะวันออกเหือดแห้งอย่างเห็นได้ชัด”
 

 
นายประสิทธิ์ ระบุอีกว่า ถ้าชาวนาสูบน้ำพร้อมๆ กัน น้ำในคลองซอยอาจจะแห้งเร็ว ความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนานับ 100 กว่าครัวเรือน เนื้อที่นานับ 1,000 ไร่ ตอนนี้ต้องการน้ำเป็นอย่างมาก จึงขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน ลงเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือชาวนา เพื่อผลักดันน้ำจากคลองสายหลักไปเข้าคลองซอย เพื่อกระจายน้ำให้เกษตรกรได้ใช้อย่างเพียงพอ

“พื้นที่เกษตรกรนาข้าวได้ประสบปัญหาเรื่องน้ำซ้ำซากทุกปี ซึ่งเมื่อปีก่อนก็เคยร้องเรียนกรมชลประทานแล้ว และเขาได้มาดำเนินการให้ แต่พอมาปีนี้กลับประสบปัญหาเหมือนเดิมอีก ในขณะที่ชาวนาที่คนละฝั่งคลองกลับได้รับการดูแล แต่อีกฝั่งกลับไม่ดูแล หรือดูแลไม่เท่าเทียมกัน ดำเนินการแบบสองมาตรฐาน ซึ่งหากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้ เกษตรกรชาวนาจาก 2 อำเภอที่เดือดร้อน อาจจะรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวแน่” นายประสิทธิ์ ระบุในท้ายที่สุด
 



กำลังโหลดความคิดเห็น